จับตาโอกาสและผลกระทบบริษัทไทย หลังยุโรป เริ่มใช้ “ภาษีคาร์บอน” เดือนนี้

Sustainability

ESG Strategy

กองบรรณาธิการ

Author

กองบรรณาธิการ

Tag

จับตาโอกาสและผลกระทบบริษัทไทย หลังยุโรป เริ่มใช้ “ภาษีคาร์บอน” เดือนนี้

Date Time: 2 ต.ค. 2566 17:22 น.

Video

เปิดทริกวางแผนการเงิน เพื่อชีวิตที่มีประสิทธิภาพ

Summary

  • Thairath Money ชวนทำความรู้จักมาตรการจัดเก็บภาษีคาร์บอน ประเทศไทยพร้อมแค่ไหน หลังสหภาพยุโรปเริ่มบังคับใช้เมื่อวันที่ 1 ต.ค. ที่ผ่านมา โดยบริษัทในประเทศ จะต้องรายงานปริมาณการปล่อยคาร์บอนทั้งทางตรงและทางอ้อม (Embedded Emission) ของสินค้านำเข้าใน 7 กลุ่มอุตสาหกรรม

ประเทศไทยจะสามารถเปลี่ยนผ่านไปสู่ “สังคมคาร์บอนต่ำ” ได้อย่างราบรื่นอย่างไร?

ยังเป็นเรื่องท้าทาย หลังการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) เป็นความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อมระดับโลกที่ทุกภาคส่วนกำลังเผชิญและมีแนวโน้มรุนแรงมากขึ้น และนี่เองทำให้นานาประเทศทำข้อตกลงร่วมกันเพื่อบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emission)

โดยสหภาพยุโรป (EU) ซึ่งเป็นผู้นำนโยบาย Climate Change ที่สร้างบรรทัดฐานเกี่ยวกับมาตรการด้านสิ่งแวดล้อม ได้ริเริ่มมาตรการจัดเก็บภาษีคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดน (CBAM) ที่จะสร้างแรงกระเพื่อมในวงกว้างต่อภาพรวมการค้าโลก รวมถึงการค้าของไทยที่มีสหภาพยุโรปเป็นคู่ค้าสำคัญด้วย

ข้อมูลจากกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ พบว่า ในปี 2565 ไทยส่งออกสินค้าตามรายการ CBAM ไปยัง EU มูลค่า 14,712 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 1.49% ของการส่งออกทั้งหมดของไทยไปยังสหภาพยุโรป ซึ่งเกิดผลกระทบต่ออุตสาหกรรมเหล็กและเหล็กกล้าถึง 75% ของมูลค่าตลาดทั้งหมด

นอกจากนี้ ยังจุดประกายให้ประเทศอื่นๆ ทั่วโลก หันมาพัฒนาและบังคับใช้มาตรการจัดเก็บภาษีคาร์บอนข้ามพรมแดนของตัวเอง เพื่อรักษาศักยภาพการแข่งขันด้านราคาสินค้าบนเวทีโลก เช่น จีน ญี่ปุ่น สิงคโปร์ เกาหลีใต้ ที่มีการจัดเก็บภาษีคาร์บอนแล้ว

คาร์บอนเครดิต คืออะไร    

“คาร์บอนเครดิต” คือ ปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ลดหรือกักเก็บได้จากการดำเนินโครงการลดก๊าซเรือนกระจก ทั้งในประเทศและต่างประเทศ มีหน่วยเป็นคาร์บอนไดออกไซด์ และสามารถนำคาร์บอนเครดิตไปแลกเปลี่ยนหรือซื้อ-ขายเพื่อนำไปรายงานปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ลดได้จากการดำเนินธุรกิจ รวมถึงนำไปชดเชยก๊าซเรือนกระจกที่ปล่อยออกมาจากกิจกรรมต่างๆ ขององค์กร หรือผลิตภัณฑ์ ที่เรียกว่า กิจกรรมชดเชยคาร์บอน (Carbon Offsetting)

ทำความรู้จัก CBAM มาตรการที่จุดประกายให้ทั่วโลก หันมาเก็บภาษีคาร์บอน

CBAM คือ มาตรการปรับราคาคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดนของสหภาพยุโรป ซึ่งเป็นการกำหนดราคาสินค้านำเข้าบางประเภท เพื่อป้องกันการนำเข้าสินค้าที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงเข้ามาใน EU ผ่านการควบคุมสินค้า 7 กลุ่มอุตสาหกรรมแรก ได้แก่ ซีเมนต์ เหล็กและเหล็กกล้า อะลูมิเนียม ปุ๋ย ไฟฟ้า และไฮโดรเจน และเป็นการปกป้องศักยภาพการแข่งขันด้านราคาของสินค้าในประเทศ โดยมาตรการดังกล่าวจะเริ่มเข้าสู่ช่วงเปลี่ยนผ่านตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2566 เป็นต้นไป โดยจะยังไม่มีการเก็บค่าธรรมเนียม 

แต่บริษัทผู้นำเข้าสินค้าในประเทศยุโรป จะต้องรายงานปริมาณการนำเข้า รวมถึงปริมาณการปล่อยคาร์บอนทั้งทางตรงและทางอ้อม (Embedded Emission) ของสินค้า และจะมีผลบังคับใช้เต็มรูปแบบในเดือนมกราคม 2569


“ไทย” พร้อมแค่ไหนกับมาตรการเก็บภาษีคาร์บอน

สำหรับความพร้อมของประเทศไทยในการรับมือการจัดภาษีคาร์บอนของ EU  เจมส์ แอนดริว มอร์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เวฟ เอ็นเตอร์เทนเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ WAVE ให้ความเห็นว่า ปัจจุบันองค์กรต่างๆ หรือผู้ประกอบการรายย่อย ยังไม่ค่อยตระหนักถึงความสำคัญเรื่องคาร์บอนเครดิตเท่าไรนัก เนื่องจากมองว่าเป็นเรื่องไกลตัว มีผลกระทบเฉพาะองค์กรขนาดใหญ่ที่ส่งออกสินค้าไปยังประเทศกลุ่มอียูเท่านั้น

แต่ระบบซัพพลายเชนทั่วโลกเชื่อมต่อกัน ดังนั้นเมื่อมาตรการเก็บภาษีคาร์บอน CBAM ของอียูเริ่มบังคับใช้ ผู้ประกอบการรายย่อยในไทยที่เป็นซัพพลายเออร์ให้กับองค์กรขนาดใหญ่ ที่ส่งออกสินค้าไปยังสหภาพยุโรป ก็จะต้องถูกกดดันให้รายงานคาร์บอนฟุตปรินต์ หรือปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกด้วยเช่นกัน ซึ่งเป็นการส่งต่อต้นทุนสินค้าตั้งแต่ต้นน้ำยันปลายน้ำ ส่งผลต่อความสามารถการแข่งขันด้านราคาบนเวทีโลก

ศักยภาพตลาดคาร์บอนเครดิตในไทย

ราคาคาร์บอนเครดิตในประเทศไทย มีแนวโน้มเติบโตอย่างก้าวกระโดด จากราคาต่ำสุดในปี 2561 ซึ่งอยู่ที่ 21 บาท เป็น 200 บาท ในปี 2566

มูลค่าเติบโตขึ้น 952% ทำให้มีราคาเฉลี่ยต่อตันอยู่ที่ 83 บาท อีกทั้งประเทศไทยมีปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอยู่ที่ประมาณ 437 ล้านตันคาร์บอนต่อปี และมีการซื้อคาร์บอนเครดิตเพื่อชดเชยเพียง 0.3% ของปริมาณการปล่อยทั้งหมด ขณะที่ในฝั่งสหภาพยุโรป มีการซื้อขายเครดิตสูงถึง 36% ของปริมาณการปล่อยทั้งหมด 

หมายความว่าประเทศไทยมีความต้องการซื้อน้อยกว่าซัพพลายที่มี ซึ่งเป็นโอกาสให้ประเทศไทยนำคาร์บอนเครดิตส่วนเกินไปซื้อขายกับต่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศที่พัฒนาแล้ว หรือประเทศพันธมิตรอย่างจีนที่เป็นแหล่งปล่อยก๊าซเรือนกระจกรายใหญ่ของโลก ซึ่งมีความต้องการคาร์บอนเครดิตสูง


ตลาดคาร์บอนเครดิต โอกาสใหม่เพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตร

สำหรับประเทศไทย อุตสาหกรรมที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจก หรือคาร์บอนฟุตปรินต์ มากเป็นอันดับแรกคือ ภาคพลังงาน ตามมาด้วยภาคเกษตรกรรมเป็นอันดับสอง โดย 60% ของคาร์บอนฟุตปรินต์ ส่วนใหญ่มาจากการปลูกข้าว ด้วยวิธีการทำนาเปียก ข้าวจึงถูกแช่น้ำนานจนเน่าเสีย ทำให้เกิดก๊าซมีเทนในดิน ซึ่งปล่อยคาร์บอนจำนวนมาก 

WAVE BCG จึงได้ร่วมพัฒนาโครงการนำร่องปลูกข้าวแบบนาเปียกสลับแห้งบนพื้นที่ 20 ไร่ ร่วมกับองค์กรภาครัฐ เพื่อสนับสนุนให้ชาวนาเปลี่ยนวิธีปลูกข้าว โดยวิธีนี้สามารถลดคาร์บอนได้ครึ่งหนึ่งของการปลูกข้าวแบบปกติ ลดต้นทุนการใช้น้ำ อีกทั้งยังให้ผลผลิตที่ดีกว่า ซึ่งโครงการจะมีการแบ่งรายได้จากการขายคาร์บอนเครดิตให้กับชาวนา และสามารถขายข้าวในรูปแบบ Low carbon rice ที่จะช่วยเพิ่มมูลค่าให้กับข้าวไทย เมื่อส่งออกไปขายต่างประเทศ เช่นเดียวกับอินเดียที่เป็นผู้ส่งออกข้าว Low carbon รายใหญ่ในปัจจุบัน


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
กองบรรณาธิการไทยรัฐออนไลน์