มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ ผนึกเอกชน สร้างป่าชุมชนลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก

Sustainability

ESG Strategy

กองบรรณาธิการ

Author

กองบรรณาธิการ

Tag

มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ ผนึกเอกชน สร้างป่าชุมชนลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก

Date Time: 28 ส.ค. 2566 05:30 น.

Summary

  • มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้ร่วมมือภาครัฐ ชุมชน และ 14 เอกชนชั้นนำ ร่วมมือขยายผล “โครงการจัดการคาร์บอนเครดิตในป่าเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน” ใน 77 ป่าชุมชน ตั้งเป้าหมายเพิ่มรายได้ให้ชุมชน 500 ล้านบาท และกักเก็บคาร์บอน 500,000 ตันเทียบเท่าภายใน 10 ปี

Latest

85% ของเสื้อผ้าต้องจบที่กองขยะ แบรนด์ระดับโลก เปิดบริการซื้อขายสินค้ามือสอง หวังลดปัญหาสิ่งแวดล้อม

เมื่อสองสัปดาห์ที่ผ่านมา มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้ร่วมมือภาครัฐ ชุมชน และ 14 เอกชนชั้นนำ ร่วมมือขยายผล “โครงการจัดการคาร์บอนเครดิตในป่าเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน” ใน 77 ป่าชุมชน ตั้งเป้าหมายเพิ่มรายได้ให้ชุมชน 500 ล้านบาท และกักเก็บคาร์บอน 500,000 ตันเทียบเท่าภายใน 10 ปี

พร้อมวางเป้าหมายในปี 2567 จะมีภาคเอกชนเข้ามาร่วมมือผ่านโครงการจัดการคาร์บอนเครดิตในป่าเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนมากขึ้น เพื่อขยายงานครอบคลุมพื้นที่อีก 150,000 ไร่ นำไปสู่เป้าหมายผลิตคาร์บอนเครดิต 1 ล้านตันภายในปี 2570 ภายใต้ความมุ่งหวังสร้างป่าที่สมบูรณ์ควบคู่ไปกับการสร้างรายได้อย่างยั่งยืนให้ชุมชน เป็นการช่วยแก้ปัญหาเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมไปได้พร้อมๆกัน

ม.ล.ดิศปนัดดา ดิศกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ในพระบรมราชูปถัมภ์ ระบุว่า มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯสืบสานพระราชปณิธาน “ปลูกป่า ปลูกคน” มาเกือบ 40 ปี ในการฟื้นฟูป่าอนุรักษ์ที่โครงการพัฒนาดอยตุง (พื้นที่ทรงงาน) อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดเชียงราย มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯตระหนักดีว่าปัญหาการบุกรุกทำลายป่าเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นด้วยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์จากความจำเป็นเรื่องปากท้อง

หากได้บริหารจัดการทรัพยากรอย่างถูกต้องให้คนอยู่กับป่าอย่างสมดุล ป่าจะสามารถเป็นแหล่งสร้างรายได้ให้ชุมชนและประเทศได้ด้วย จึงนำประสบการณ์มาขยายผลเพื่อร่วมส่งเสริมคุณภาพชีวิตของชุมชนในป่า พร้อมกับร่วมแก้ปัญหาสภาพแวดล้อมของไทย

โดยได้รับความสนับสนุนจากกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ภาคเอกชน และชุมชนในการจัดการคาร์บอนเครดิตในป่ามาตั้งแต่ปี 2563 และมีงบประมาณสนับสนุนจากภาคเอกชนนำไปใช้ในการพัฒนาระบบประเมินคาร์บอนเครดิต และจัดตั้งกองทุนสองประเภท คือ กองทุนดูแลป่า และกองทุนเพื่อการพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืนเพื่อเป็นรายได้แก่ชุมชน

“ทีมเศรษฐกิจ หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ” ตระหนักดีถึงความสำคัญในการดูแลรักษาป่า การร่วมมือกันแก้ปัญหาสภาพแวดล้อมของประเทศ จึงได้รวบรวมการดำเนินงานโครงการจัดการคาร์บอนเครดิตในป่าเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนของมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ และ 14 หน่วยงานรัฐและเอกชนมานำเสนอ ดังต่อไปนี้

รูปธรรมของการรักษาป่า

ภาพรวมของการดำเนินงานของมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ ช่วงพัฒนาระบบ (2563-2565) ร่วมมือกับภาครัฐ ภาคเอกชน และชุมชนริเริ่ม “โครงการจัดการคาร์บอนเครดิตในป่าเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน” ขึ้นทะเบียนเป็นโครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจตามมาตรฐานของประเทศไทย (Thailand Voluntary Emission Reduction Program) ภาคป่าไม้ ขององค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) (อบก.) โดยเชื่อว่าคาร์บอนเครดิตเป็นกลไกที่ตอบโจทย์ให้ชุมชนดูแลป่าและดูแลตัวเองได้พร้อมๆ กัน ช่วยลดการสูญเสียพื้นที่ป่า ลดอัตราการเกิดไฟป่าให้ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศ ลดปัญหาฝุ่นควัน pm 2.5 จากไฟป่า รวมทั้งมีส่วนช่วยบรรเทาปัญหาคนว่างงาน และหนี้ครัวเรือนที่เพิ่มขึ้น

ขณะเดียวกันก็สามารถช่วยภาคเอกชนในการชดเชยการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการดำเนินธุรกิจได้ด้วย มีพื้นที่ปฏิบัติการใน 52 ป่าชุมชน ครอบคลุมพื้นที่ 51,354 ไร่ใน 7 จังหวัด และมีชุมชนเข้าร่วม 12,361 ครัวเรือน จนปัจจุบันเกิดความชำนาญจนนำมาสู่การขยายพื้นที่อย่างจริงจัง

ภาพดอยตุงในอดีตก่อนมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯเข้าไปพัฒนา
ภาพดอยตุงในอดีตก่อนมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯเข้าไปพัฒนา

สำหรับปี 2566 ได้รับความสนับสนุนจากประชาชนใน 77 ป่าชุมชน ครอบคลุมพื้นที่ 143,496 ไร่ ในจังหวัดเชียงราย เชียงใหม่ อำนาจเจริญ และยโสธร โดยจะเป็นพื้นที่ขึ้นทะเบียนคาร์บอนเครดิตได้ประมาณ 100,000 ไร่ มีผู้เข้าร่วม 12,721 ครัวเรือน มีภาคเอกชนชั้นนำมาร่วมสนับสนุนการพัฒนา 14 ราย

การขยายงานในครั้งนี้เมื่อรวมกับระยะพัฒนาระบบ ทำให้โครงการฯมีความร่วมมือในป่าชุมชนรวม 129 แห่งใน 9 จังหวัด ครอบคลุมพื้นที่ 194,850 ไร่ ป้อนคาร์บอนได้ 500,000 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า และสร้างประโยชน์แก่ชุมชนในป่า 25,082 ครัวเรือน การดำเนินงานในแต่ละป่าชุมชนครอบคลุมระยะเวลาสิบปี และคาดว่าจะทำให้เกิดประโยชน์ทางตรงด้านรายได้ชุมชนรวมเพิ่มขึ้นประมาณ 500-630 ล้านบาท

โครงการนี้สามารถสร้างประโยชน์ได้ทุกมิติ ชุมชนที่ดูแลป่ามีชีวิตที่ดีขึ้น ช่วยผลิตคาร์บอนเครดิตมาช่วยให้ประเทศไทยบรรลุข้อตกลงลดโลกร้อน และมีป่าสมบูรณ์ขึ้น เฉพาะในช่วงฤดูไฟป่าที่ผ่านมา พบว่าพื้นที่โครงการมีไฟป่าลดลงประมาณ 6,500 ไร่ คิดเป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจถึง 191 ล้านบาท ซึ่งเกิดจากชุมชนในโครงการให้การดูแลป่าอย่างจริงจัง

14 ธุรกิจลดก๊าซเรือนกระจก

สำหรับองค์กรภาคเอกชนที่เห็นถึงความสำคัญและเข้าร่วมในโครงการ ในระยะพัฒนาระบบในปี 2563-2565 ประกอบด้วย บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) สำนักงาน คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) บริษัท คิวทีซี เอนเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) บริษัท ทีเอ็มที สตีล จำกัด (มหาชน) บริษัท อินทัช โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) บริษัท พีทีจี เอ็นเนอยี จำกัด (มหาชน) บริษัท ไพร้ซวอเตอร์เฮาส์ คูเปอร์ส เอบีเอเอส จำกัด บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และบริษัท ราช กรุ๊ป จำกัด (มหาชน)

ขณะที่ในปี 2566 ระยะขยายผล ประกอบด้วยภาคธุรกิจ 14 แห่ง ได้แก่ บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) บริษัท ราช กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) บริษัท ปตท. น้ำมัน และการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) บริษัท พีทีทีโกลบอล เคมิคอล จํากัด (มหาชน) บริษัท บริการเชื้อเพลิงการบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ธนาคารออมสิน บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) บริษัท ยูนิชาร์ม (ประเทศไทย) จำกัด ธนาคารไทยพาณิชย์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา บริษัท พฤกษา โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) และบริษัท น้ำตาลมิตรผล จำกัด

ผลที่คาดว่าจะได้รับ ประกอบด้วย 1.การทำให้ป่าชุมชนเป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนประเทศไทยสู่เป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) และรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

2.การอนุรักษ์พื้นที่ป่าช่วยเพิ่มความหลากหลายทางชีวภาพซึ่งเป็นฐานทรัพยากรที่สำคัญของประเทศ

3.ภาคเอกชนและภาคประชาชนมีส่วนร่วมในการเพิ่มขีดความสามารถของประเทศไทยเพื่อบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน สอดรับนโยบายของรัฐบาลตามข้อตกลง COP26 ภายใต้นโยบายการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศไทย เพื่อมุ่งสู่เป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ภายในปี 2593 และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero GHG Emission) ภายในปี 2608

ม.ล.ดิศปนัดดา ดิศกุล
ม.ล.ดิศปนัดดา ดิศกุล

วางนโยบายองค์กรยั่งยืน

ความตื่นตัวในการร่วมรักษาทรัพยากรธรรมชาติ ส่งผลให้ภาคธุรกิจกำหนดนโยบายการพัฒนาความยั่งยืนองค์กรไปด้วย เห็นได้จาก บริษัท ราช กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ได้วาง 10 กลยุทธ์ด้านสิ่งแวดล้อม และการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ แสวงหามาตรการลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่ชั้นบรรยากาศ

บริษัท บริการเชื้อเพลิงการบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) มุ่งมั่นดำเนินธุรกิจให้มีการเติบโตอย่างยั่งยืน มีความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม เช่นเดียวกับบริษัทในเครือ ปตท. อาทิ บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ GC มุ่งมั่นสู่การเป็นผู้นำในธุรกิจเคมีภัณฑ์ระดับสากล ที่ผสานนวัตกรรม และเทคโนโลยีที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อก้าวไปสู่การเป็นองค์กรต้นแบบที่พัฒนาและเติบโตอย่างยั่งยืนโดยคำนึงถึงเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม

บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. จะลดการดำเนินกิจกรรมที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมให้สอดคล้องกับหลักการของแนวทางสู่องค์กรคาร์บอนต่ำ การใช้ทรัพยากรหมุนเวียน และการสร้างคุณค่าเชิงบวกด้านความหลากหลายทางชีวภาพและบริการจากระบบนิเวศ

บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) และบริษัทในกลุ่ม OR กำหนดนโยบายการบริหารจัดการความยั่งยืน ดำเนินธุรกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ส่งเสริมและสนับสนุนการอนุรักษ์พลังงาน เพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานสะอาดหรือพลังงานทดแทน เป็นต้น

บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) มุ่งมั่นเป็นผู้นำในการดำเนินธุรกิจให้เติบโตตามแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยใช้หลักความสมดุลของการเติบโตทางธุรกิจควบคู่ไปกับการดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเพื่อมุ่งสู่สังคมคาร์บอนต่ำ

ร่วมมือรักษาสิ่งแวดล้อม

ขณะที่ กลุ่มบริษัทบางจาก ได้วางแผน “BCP316NET” ครอบคลุม 4 แนวทาง คือ B = Breakthrough Performance (30%) เน้นกระบวนการผลิตที่มีประสิทธิภาพสูง การปรับปรุงและเพิ่มประสิทธิภาพในกระบวนการทำงาน ปล่อยคาร์บอนต่ำและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม C = Conserving Nature and Society (10%) สนับสนุนการสร้างสมดุลทางระบบนิเวศและเชื่อมโยงสู่สังคมคาร์บอนต่ำ ผ่านการดูดซับคาร์บอนด้วยวิถีธรรมชาติ มุ่งเน้นพัฒนากิจกรรมเพิ่มพื้นที่ในการดูดซับคาร์บอน

P = Proactive Business Growth and Transition (60%) เปลี่ยนผ่านธุรกิจสู่พลังงานสะอาด มุ่งสู่เป้าหมาย Net Zero ด้วยเทคโนโลยีเพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืน เน้นขยายการลงทุนใหม่ๆที่ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และ NET = Net Zero Ecosystem สร้างระบบนิเวศเพื่อรองรับการไปสู่เป้าหมาย Net Zero

บริษัท ยูนิชาร์ม (ประเทศไทย) จำกัด ได้ลดปริมาณพลาสติกที่ใช้ในวัสดุบรรจุภัณฑ์ และใช้บรรจุภัณฑ์ที่เป็นกระดาษทดแทน มีการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ปราศจากพลาสติกจากปิโตรเคมี การสร้างความตระหนักเกี่ยวกับการทิ้งผลิตภัณฑ์ที่ใช้แล้วอย่างถูกวิธี และเลิกใช้พลาสติกในสินค้าส่งเสริมการขาย และลดการปล่อย CO2 โดยส่งเสริมการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่น้ำหนักเบาและบางลง รวมทั้งการทำให้เนื้อวัสดุบรรจุภัณฑ์บางลง รวมทั้งได้เปลี่ยนไปใช้พลังงานทดแทนโดยมีเป้าหมาย 100% ในปี 2573 สำหรับประเทศไทย โดยในปี 2566 จะใช้พลังงานทดแทน 30% เป็นต้น

ด้าน บริษัท น้ำตาลมิตรผล จำกัด สนับสนุนการผลิต การใช้ และการเข้าถึงพลังงานหมุนเวียนในองค์กร เพื่อลดผลกระทบด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และมุ่งมั่นบริหารทรัพยากรน้ำแบบองค์รวม เพื่อให้เกิดการใช้น้ำอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุดในการทำการเกษตร และในกระบวนการผลิต รวมทั้งมุ่งมั่นส่งเสริมและเพิ่มความหลากหลายทางชีวภาพผ่านการปลูก ป้องกัน ลด ฟื้นฟู และอนุรักษ์ป่าไม้ และการจัดการเกษตรรูปแบบใหม่

ส่วน บริษัท พฤกษา โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) มีการติดตั้งโซลาร์เซลล์ในบริเวณพื้นที่ส่วนกลางของโครงการ เพื่อลดการใช้พลังงานไฟฟ้า มีการนำเทคโนโลยีสีเขียว “คาร์บอนเคียว” (Carbon Cure) มาใช้ผลิตแผ่นพรีคาสท์คาร์บอนต่ำ (Low Carbon Precast) โดยเลือกใช้ปูนซีเมนต์ และคอนกรีตผสมเสร็จสำหรับงานก่อสร้าง ตามนโยบายการพัฒนาด้านสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน

ภาพดอยตุงหลังมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯเข้าไปพัฒนา
ภาพดอยตุงหลังมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯเข้าไปพัฒนา

จัดการคาร์บอนเครดิตในป่า

สำหรับภาคการเงิน ธนาคารกรุงศรีอยุธยา ประกาศยึดมั่นในการดำเนินธุรกิจบนพื้นฐานของการกำกับดูแลกิจการที่ดีตามแนวทาง “การธนาคารเพื่อความยั่งยืน” (Sustainable Banking) โดยบูรณาการมิติด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (ESG) ในกระบวนการทำงาน

ธนาคารออมสิน ได้เข้าร่วมโครงการการจัดการคาร์บอนเครดิตในป่าเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนกับมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯในปี 2566 สนับสนุนการอนุรักษ์ป่า 5,000 ไร่ และร่วมปลูกป่ากับกรมป่าไม้ 600 ไร่ และจะดำเนินการปลูกและอนุรักษ์ป่าอย่างต่อเนื่องในทุกปี และไม่สนับสนุนการลงทุนและการให้ สินเชื่อในบริษัทที่ทำธุรกิจถ่านหินและธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับถ่านหิน สนับสนุนสินเชื่อและการลงทุนที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมผลักดันให้ลูกค้าหรือบริษัทที่ธนาคารลงทุนมีการดำเนินงานด้าน Climate change และความยั่งยืน เป็นต้น

เช่นเดียวกับ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) ที่ตระหนักถึงความสำคัญและมุ่งมั่นส่งเสริมการปลูกป่า ได้เข้าร่วมสนับสนุน ได้แก่ โครงการป่าชุมชนของมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ ซึ่งมีเป้าหมายในการขยายพื้นที่ป่าชุมชนให้ครอบคลุมพื้นที่ 300,000 ไร่ ด้วยกลไกลการจัดการคาร์บอนเครดิตเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยมุ่งสนับสนุนการพัฒนาชนบทด้วยการอนุรักษ์ป่าเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของประเทศไทยในปี 2564 ไทยเบฟและมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯเริ่มต้นโครงการระยะที่ 1 ครอบคลุมพื้นที่ป่าชุมชน 12 แห่ง เนื้อที่ทั้งหมด 13,636 ไร่ ใน 4 จังหวัด ได้แก่ เชียงราย เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน และพะเยา และในปี 2565 ได้ดำเนินโครงการระยะที่ 2 เพิ่มป่าชุมชนอีก 33 แห่ง ครอบคลุมพื้นที่ทั้งหมด 32,505 ไร่ ใน 4 จังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่ กำแพงเพชร อุทัยธานี และกระบี่

************

ไทยรัฐ กรุ๊ป เป็นอีกองค์กรภาคเอกชนที่ให้ความสำคัญต่อการรับมือสถานการณ์ของการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศ (Climate Change) ของโลก จึงผนึกกำลังของสื่อในเครือประกอบไปด้วย หนังสือพิมพ์ โทรทัศน์ เว็บไซต์ และโซเชียลมีเดีย และโดยได้รับการสนับสนุนจากการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ผลิตภัณฑ์ Eucerin และมูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ในพระบรมราชูปถัมภ์ จัดกิจกรรม ROAD TO NET ZERO ขึ้น ในวันที่ 29-30 ส.ค.2566 ณ ศูนย์การค้าสามย่านมิตรทาวน์ ในรูปแบบของงานนิทรรศการผสมผสานการเสวนา ขอเชิญชวนท่านผู้อ่านร่วมพบปะกันในงานนี้ เพื่อมาร่วมกันสร้างความเข้าใจ ปลุกจิตสำนึก เพื่อความยั่งยืนของโลก.

ทีมเศรษฐกิจ

คลิกอ่าน "สกู๊ปเศรษฐกิจ" เพิ่มเติม


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ