มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ จับมือ 14 บริษัท จัดการคาร์บอนเครดิต ร่วม 77 ป่าชุมชน

Sustainability

ESG Strategy

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

Tag

มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ จับมือ 14 บริษัท จัดการคาร์บอนเครดิต ร่วม 77 ป่าชุมชน

Date Time: 17 ส.ค. 2566 20:09 น.

Video

ทางรอดเศรษฐกิจไทยในยุค AI ครองโลก | 1st Anniversary Thairath Money

Summary

  • มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงในพระบรมราชูปถัมภ์ ร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ ชุมชน พร้อมกับองค์กรเอกชนอีก 14 ราย ใน “โครงการจัดการคาร์บอนเครดิตในป่าเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน” มุ่งเพิ่มรายได้ให้แก่ชุมชน พร้อมบริหารจัดการทรัพยากรให้คนสามารถอยู่ร่วมกับป่าได้อย่างยั่งยืน

Latest


มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ ร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ ชุมชน พร้อมกับองค์กรเอกชนอีก 14 ราย ใน “โครงการจัดการคาร์บอนเครดิตในป่าเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน” ใน 77 ป่าชุมชน เพื่อเพิ่มรายได้แก่ชุมชนกว่า 500 ล้านบาท และผลิตคาร์บอน 500,000 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าภายใน 10 ปี

หม่อมหลวงดิศปนัดดา ดิศกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ในพระบรมราชูปถัมภ์ ระบุว่าหากป่าจะอยู่ได้คนต้องมีรายได้เพียงพอ จึงให้ความสำคัญกับการ “ปลูกคน” โดยทำให้คนมีรายได้ที่เพียงพอก่อน จึงจะนำไปสู่การรักษาป่าได้อย่างยั่งยืน

อีกทั้งปัญหาการบุกรุกทำลายป่าเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นจากความจำเป็นเรื่องปากท้อง และหากบริหารจัดการทรัพยากรอย่างถูกต้องให้คนอยู่ร่วมกับป่าอย่างสมดุล ผืนป่าก็จะสามารถเป็นแหล่งรายได้ให้กับทั้งระดับชุมชนและประเทศได้

และกุญแจสำคัญที่จะทำให้เกิดการพัฒนาก็คือบทบาทของทุกภาคส่วน ซึ่งมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ ก็ได้รับการสนับสนุนจากกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พร้อมด้วยภาคเอกชนและชุมชน ในการจัดการคาร์บอนเครดิตในป่ามาตั้งแต่ปี 2563 

โดยนำงบประมาณสนับสนุนจากภาคเอกชนไปใช้ในการพัฒนาระบบประเมินคาร์บอนเครดิต และจัดตั้งกองทุนดูแลป่า และกองทุนเพื่อการพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืนเพื่อเป็นรายได้ให้กับชุมชน 

ส่วนงานของปี 2566 ได้รับการสนับสนุนจากประชาชนใน 77 ป่าชุมชน ครอบคลุมพื้นที่ 143,496 ไร่ ใน 4 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดเชียงราย เชียงใหม่ อำนาจเจริญ และยโสธร เป็นพื้นที่ขึ้นทะเบียนคาร์บอนเครดิตได้ประมาณ 100,000 ไร่ และมีภาคเอกชนอีก 14 ราย เข้าร่วมโครงการ 

เมื่อรวมกับการดำเนินงานช่วงพัฒนาระบบเมื่อปี 2563-2565 จะทำให้โครงการฯ มีความร่วมมือในป่าชุมชนรวม 129 แห่งใน 9 จังหวัด ครอบคลุมพื้นที่ 194,850 ไร่ ป้อนคาร์บอนได้ 500,000 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า และสร้างประโยชน์แก่ชุมชนในป่ากว่า 25,082 ครัวเรือน และคาดว่าจะทำให้เกิดรายได้แก่ชุมชนเพิ่มขึ้นประมาณ 500-630 ล้านบาท

สำหรับเป้าหมายในอนาคต โครงการฯ ตั้งเป้าขยายงานครอบคลุมพื้นที่อีก 150,000 ไร่ เพื่อนำไปสู่เป้าหมายผลิตคาร์บอนเครดิต 1 ล้านตัน ภายในปี 2570

แล้วคาร์บอนเครดิตสำคัญอย่างไร?

วิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน กล่าวว่า เมื่อมองในภาพรวม ESG นับเป็นเรื่องสำคัญที่ไม่สามารถตัดขาดจากการดำเนินงานหลักขององค์กร รวมถึงการบริหารจัดการเรื่องการปล่อยมลพิษ ซึ่งเป็นสิ่งที่องค์กรทั้งใหญ่และเล็กล้วนต้องให้ความสนใจ 

ส่วน ดร.ชญาน์ จันทวสุ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานความยั่งยืนองค์กร บริษัท พีทีทีโกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ PTTGC มองว่าการจัดการคาร์บอนเครดิตในไทยก้าวหน้าไปค่อนข้างมาก ซึ่งองค์กรต่างๆ ก็มีมาตรฐานเทียบเท่าสากล อย่างองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) หรือ อบก. สังกัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมก็มีมาตรฐาน T-VER  

แล้วอีกไม่นานคาร์บอนเครดิตก็จะมีมูลค่าเพิ่มขึ้น โดยทั่วโลกจะมีความต้องการคาร์บอนเครดิตเพื่อใช้ในการชดเชยคาร์บอน (Carbon Offset) และหากเรามีการบริหารจัดการที่ดีจะเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะช่วยทั้งธุรกิจและชุมชนนำไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน

ภาคธุรกิจเดินหน้าจัดการคาร์บอนเครดิต

นอกจากนี้ วิทัย ยังได้ระบุถึงบทบาทของธนาคารในการเป็นธนาคารเพื่อสังคม ซึ่งได้ดูแลสังคมและดูแลประชาชน ส่วนประเด็นสิ่งแวดล้อมก็ถือเป็นอีกหนึ่งเรื่องที่ต้องเข้าไปดูแลเช่นกัน ธนาคารออมสินจึงมีแผนการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ (Net Zero) ในปี 2593 และตั้งเป้าลดการปล่อยคาร์บอนให้ได้มากกว่า 50% ในปี 2573

ในส่วนของ ดร.ชญาน์ ระบุเพิ่มเติมว่าทางบริษัท ใช้คาร์บอนเครดิตในการบริหารก๊าซเรือนกระจกภายในองค์กร และใช้เป็นตัวตัดสินในการลงทุนใหม่ๆ ซึ่งเกี่ยวเนื่องกับเรื่องต้นทุน เพื่อเป็นการบริหารในแง่ของผลกระทบกับสิ่งแวดล้อม

เช่นเดียวกับ ต้องใจ ธนะชานันท์ รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) ซึ่งเผยว่าภายในองค์กรมีการใช้ราคาคาร์บอน (Carbon Pricing) เป็นหนึ่งในตัวแปรพิจารณาการลงทุน เพราะจะทำให้สามารถพัฒนาได้ครบทุกมิติ 

ขณะเดียวกัน กลอยตา ณ ถลาง ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานสื่อสารองค์กรและกิจการเพื่อความยั่งยืน บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ BCP กล่าวว่าบางจากเป็นบริษัทที่อยู่ในธุรกิจพลังงานและมีการปล่อยคาร์บอนปริมาณหนึ่ง ซึ่งทางบางจากมีการตั้งเป้าไปสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon neutrality) ในปี 2573 และปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ (Net Zero) ในปี 2593 ด้วยแผนปรับปรุงประสิทธิภาพการทำงาน ปรับปรุงเครื่องจักร ตลอดจนเปลี่ยนไปใช้พลังงานสะอาด


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ