ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา นักลงทุนโดยเฉพาะสถาบันและกองทุนหันมาให้การสนับสนุนและให้ความสำคัญกับการลงทุนในธุรกิจที่ดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนมากขึ้น ทั้งในด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล ทำให้ภาคธุรกิจในหลากหลายอุตสาหกรรมมีการปรับแนวทางการประกอบกิจการให้สอดคล้องกับหลัก ESG ตามเมกะเทรนด์ของโลกที่เปลี่ยนไป
บริษัท บ้านปู เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ BPP ได้จัดตั้ง “คณะกรรมการสิ่งแวดล้อม สังคม และการกำกับดูแลกิจการ (ESG)” ขึ้น ภายใต้แนวคิดการมุ่งสร้างความยั่งยืนด้านพลังงานด้วยเมกะวัตต์คุณภาพ ด้วยเป้าหมายในการเพิ่มกำลังผลิตไฟฟ้า 5,300 เมกะวัตต์ ภายในปี 2568 พร้อมสร้างผลตอบแทน และคุณค่าที่ดีให้กับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกฝ่าย
นายกิรณ ลิมปพยอม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.บ้านปู เพาเวอร์ (BPP) เปิดเผยว่า วันนี้การพูดถึงเรื่อง ESG ไม่ใช่เรื่องใหม่ จะเห็นได้จากทุกอุตสาหกรรมตื่นตัวในเรื่องนี้มาก โดยเฉพาะเรื่องลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ขณะเดียวกันภาคการเงินการลงทุนทั่วโลกก็ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ในกลยุทธ์การลงทุนด้วยเช่นกัน
แนวคิดการพัฒนาองค์กรอย่างยั่งยืนตามหลัก ESG นั้นจะช่วยให้ธุรกิจสามารถปรับตัวและเติบโตได้อย่างเท่าทันกับประเด็นปัญหาและความเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ของโลก เช่น การเปลี่ยนแปลงด้านสิ่งแวดล้อม การจัดการทรัพยากร ความปลอดภัยทางไซเบอร์ และความเหลื่อมล้ำทางสังคม
ทั้งนี้ การจัดตั้งคณะกรรมการ ESG จะส่งเสริมให้การดำเนินธุรกิจเติบโตในทิศทางที่สอดคล้องกับการพัฒนาองค์ประกอบในห่วงโซ่คุณค่าของกิจการ ทำให้เกิดความยั่งยืนขึ้นในองค์รวม และเป็นคณะกรรมการอิสระทั้งหมด ทำให้มีความโปร่งใสและเป็นกลางในการดำเนินงาน
“หลักการ ESG จะถูกใช้เป็นพื้นฐานทั้งหมดในการดำเนินธุรกิจในอนาคต เช่น นโยบายการลงทุนในโครงการใหม่ การขยายพอร์ตโรงไฟฟ้า โดยคำนึงถึงการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งจะเป็นส่วนหนึ่งของ Value chain ของบริษัท” นายกิรณ กล่าว
ผู้บริหาร BPP ยังกล่าวอีกว่า ในช่วงที่ผ่านมา บริษัทได้มีการสื่อสารให้นักลงทุนรับรู้เกี่ยวกับการดำเนินธุรกิจตามหลัก ESG อย่างต่อเนื่อง รวมถึงการนำบริษัทไปประเมินและรับรอง (Brenchmark) จากองค์กรในประเทศและระดับสากล เพื่อตรวจสอบมาตรฐาน โดยได้รับการตอบรับที่ดีจากกองทุนและนักลงทุนรายย่อย อีกทั้งปัจจุบันหุ้นของ BPP ก็อยู่ในการคำนวณของดัชนี Thailand Sustainability Investment (THSI) ของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยมาแล้วกว่า 5 ปี
อย่างไรก็ตาม มองว่า นอกเหนือจากการพิจารณาจากผลตอบแทนจากการลงทุนของบริษัทแล้ว การดำเนินธุรกิจตามหลัก ESG จะกลายเป็นหนึ่งในข้อพิจารณาปกติของการลงทุนในอนาคต ซึ่งบริษัทจะต้องสามารถสร้างกำไรให้เติบโตอย่างยั่งยืน ไปพร้อมกับการคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม สังคม และหลักธรรมาภิบาลด้วย
ด้านศาสตราจารย์ ดร.พัชณิตา ธรรมยงค์กิจ ประธานคณะกรรมการสิ่งแวดล้อม สังคม และการกำกับดูแลกิจการ (ESG) บริษัท บ้านปู เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ BPP เปิดเผยว่า คณะกรรมการได้เห็นถึงความตระหนักของบริษัทในการลงทุนพลังงานสะอาดเรื่อยมา ซึ่งวันนี้เราพร้อมนำหลัก ESG มาเป็นคอนเซปต์ในการดำเนินและพัฒนาธุรกิจอย่างจริงจัง ซึ่งครอบคลุมถึงนโยบายการลงทุน ทิศทางการทำธุรกิจ และเป้าหมายของบริษัท
สำหรับ BPP เมื่อมีความเชี่ยวชาญในการผลิตไฟฟ้าที่ขับเคลื่อนไปพร้อมกับ ESG จะทำให้สามารถนำเสนอแนวทางในการเปลี่ยนผ่านการผลิตไฟฟ้าให้เป็นไปอย่างสมดุล นำไปสู่การสร้างเมกะวัตต์คุณภาพตามหลักความยั่งยืนด้านพลังงานได้ ซึ่งประกอบด้วย 3 ปัจจัย คือ 1.สามารถเข้าถึงได้ด้วยราคาที่เหมาะสม 2.เชื่อถือได้ สามารถส่งมอบได้อย่างต่อเนื่อง และ 3.เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
ขณะเดียวกัน การดำเนินการครั้งนี้จะต้องทำอย่างต่อเนื่องและมีพลัง ซึ่งการสร้างความเปลี่ยนแปลงนั้นไม่สามารถเกิดขึ้นได้ทันที โดยคณะกรรมการได้วางแผนการดำเนินงาน การติดตาม และประเมินผลให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน เพื่อสร้างผลกระทบที่ดีให้กับผู้มีส่วนได้เสียทุกฝ่าย และต้องสามารถสร้างผลตอบแทนให้สอดคล้องกับความคาดหวังของนักลงทุนด้วย
ทั้งนี้ บริษัทยังได้นำเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนแห่งสหประชาชาติ หรือ SDGs จำนวน 6 เป้าหมาย ที่สอดคล้องกับแนวทางของ BPP มาใช้กำหนดกลยุทธ์และเป้าหมายระยะยาวของบริษัทด้วย ได้แก่
1.พลังงานสะอาดที่ทุกคนเข้าถึงได้ เชื่อถือได้ และยั่งยืน
2.การสร้างงานที่มีคุณค่าและเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจ
3.นวัตกรรมเพื่อพลังงานสะอาด
4.การผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน
5.การรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
6.ส่งเสริมสังคมที่สงบสุข ยุติธรรม สถาบันที่เข้มแข็ง เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน
นอกจากนี้ การที่มีคณะกรรมการ ESG นั้น จะช่วยให้บริษัทสามารถพิจารณาแนวทางการดำเนินธุรกิจและแผนการลงทุนใน 3 แกนหลักของอุตสาหกรรมพลังงานอย่างสมดุล ได้แก่ ความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจ ความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และความมีเสถียรภาพ