จู่ๆ ก็เอา "เงิน" มากองท่วมหัว ไม่มีอะไรทำ ก็เปิดตู้เซฟ เอาเงินมานับโชว์ Supercar นี่มีครบทั้ง 7 สี จอดเรียงกันหน้าบ้านหลังละ 20 ล้าน ที่บอกว่าซื้อมาด้วยเงินสด
ต้องยอมรับว่า นี่คือ แพทเทิร์นยอดฮิตของเหล่าคนดังในวงการค้าขายออนไลน์บ้านเรา ยุคทองของคอนเทนต์ จากดินสู่ดาว บุคคลเนื้อหอมของเหล่าบรรดารายการทีวี อายุน้อยร้อยล้าน รวยตั้งแต่วัยเยาว์ ที่ชวนสังคม หรือ มนุษย์เงินเดือนทั่วไป ตั้งคำถาม “ความรวย” และ “เงินทอง” มากมาย มันหามาได้ง่ายขนาดนี้เชียวหรือ? แล้วทำไมเราจึงยังตกต่ำ
อย่างไรก็ตาม หลายเหตุการณ์ที่ผ่านมาในบ้านเรา อาจเป็นคำตอบที่ชัดเจนที่สุดว่า ความร่ำรวยผิดปกติเหล่านั้น มีที่มาที่ไปอย่างไร เมื่อความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ เดินไม่ทันเกมของเรา อาจกลายเป็นส่วนหนึ่งของ บันไดเส้นทางเศรษฐีหน้าใหม่
อ้างอิงข้อมูลชวนวิเคราะห์ ว่าด้วยเรื่อง “ความร่ำรวย” ของธนาคารไทยพาณิชย์ ระบุ ในอดีตเราอาจจะมีการแบ่งฐานะโดยใช้สายเลือดและฐานันดร ถัดมาในยุคทุนนิยม ซึ่งเป็นยุคแห่งการบริโภค การแบ่งแยกสถานะของมนุษย์ก็คือข้าวของเครื่องใช้ที่เกิดจากการบริโภคของเรา
เช่น การมีบ้านหลังใหญ่ การขับรถหรู หรือการใช้สิ่งของแบรนด์เนม ก็มักจะถูกมองว่าอยู่ในอีกสถานะหนึ่ง ที่เรียกว่าคนรวยนั่นเอง
อย่างไรก็ตาม กลุ่มคนที่มีรายได้สูงอย่างแท้จริง ในปัจจุบันไม่ได้มุ่งเน้นไปที่ข้าวของที่หรูหราอีกต่อไป แต่จะหันไปลงทุนในสิ่งที่มีความซับซ้อนขึ้น เช่น วัฒนธรรม การศึกษา การดูแลสุขภาพ ซึ่งเป็นสิ่งที่แสดงออกถึงรสนิยมที่ซับซ้อนมากขึ้นของคนรวยยุคใหม่มากกว่า
ขณะธนาคารกรุงไทย ให้ความหมายของความรวย โดยระบุว่า ปัจจุบัน สังคมเรามีการให้ความหมายของคำว่า “รวย” หลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นการมีเงินจำนวนมาก ๆ เช่น 10 ล้านบาท 100 ล้านบาทขึ้นไป หรือ ต้องครอบครองของหรูหราราคาแพง ไม่ว่าจะเป็นกระเป๋าแบรนด์เนม นาฬิกาเรือนละล้าน รถสปอร์ตสุดหรู ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของความสำเร็จและความร่ำรวยที่ทุกคนยอมรับเมื่อได้เห็น
อย่างไรเสีย ในความเป็นจริงแล้ว ความร่ำรวย หากเกิดจากการที่เราสามารถใช้ชีวิตได้อย่างสบายใจ ไม่เดือดร้อนเรื่องเงิน มีรายได้ที่มากกว่ารายจ่ายในแต่ละเดือน สามารถเก็บออมเงินและนำไปต่อยอดสร้างความมั่งคั่งตามเป้าหมายทางการเงินในชีวิตของตัวเองได้ต่างหาก
เจาะมุมมอง “นพกฤษฏิ์ นิธิเลิศวิจิตร” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ซัคเซสมอร์ บีอิงค์ จำกัด (มหาชน) เจ้าของช่อง CEO Noppakrit พลังความคิดเปลี่ยนชีวิต ระบุว่า ในสังคมไทยเรา สามารถแบ่งคนมีเงินออกเป็น 2 กลุ่ม ด้วยกัน คือ
1. รวยชั่วคราว
2. รวยจริง
ซึ่งข้อแตกต่างของคน 2 กลุ่ม คือ วิธีใช้เงินและใช้ชีวิต โดยคนที่รวยจริงจะมีรูปแบบการดูแลเงินที่แตกต่างจากคนรวยชั่วคราว ผ่าน 5 วิธีหลัก ๆ
1. การบริหารรายได้อย่างถูกต้อง คนรวยจริงเมื่อมีรายได้เข้ามาแล้ว เขาจะรักเงิน ถนอมเงิน จึงจะไม่ใช้เงินแบบสุรุ่ยสุร่าย ไม่มีความคิดใช้ก่อน เดี๋ยวค่อยหาใหม่เข้ามาในหัวอย่างเด็ดขาด เพราะท้ายที่สุดอาจทำให้เงินน้อยลง และเจอกับคำว่า “จน” เลยทำให้คนรวยจริง มักจะเก็บออมและหาวิธีต่อยอดเงินอยู่เสมอ ๆ
คนรวยจริง จะใช้จ่ายแบบมีเหตุและผล สิ่งไหนจำเป็นต้องจ่ายก็จ่าย เช่น การกู้เงินมาต่อยอดธุรกิจที่มีดอกเบี้ย เมื่อถึงเวลาก็จ่ายแบบเต็มใจ สิ่งไหนที่อยากได้ อยากมี เพื่อเติมความสุขก็จะจ่ายแบบเต็มใจ ซึ่งแตกต่างจากคนรวยไม่จริงที่มัก “จ่ายไปบ่นไป” เป็นสัญญาณว่าเพราะภายในเราไม่มั่นคง เรากำลังขาดแคลน
อีกทั้ง คนรวยจริงจะฉลาดจ้างคนทำงานแทนในส่วนที่มักทำให้เสียเวลา เช่น ตัดหญ้า ล้างรถ ทำความสะอาดบ้าน จะได้เอาแรงและสมองไปคิดเรื่องที่คุ้มค่ามากกว่า
2. คนรวยจริงจะฉลาดในการลงทุน มีหลายทางเลือกในการลงทุน ทั้งอสังหาริมทรัพย์ หลักทรัพย์ต่าง ๆ หรือ ลงทุนทอง ลงทุนต่อยอดในธุรกิจที่จับต้องได้จริง ผ่านการศึกษาทำความเข้าใจในสิ่งที่จะลงทุนมาอย่างดี และประเมินความเสี่ยงมาแล้ว ไม่ใช่ฝากคนอื่นลงทุน หรือ ลงทุนจากโฆษณาชวนเชื่อ ลงทุนมั่วเพราะคำว่า “เขาว่าดี”
หรือ หากจะขยายธุรกิจ กลุ่มคนรวยอย่างแท้จริงก็จะขยายไปยังธุรกิจที่ศึกษามาดีแล้ว สามารถบริหารจัดการด้วยตนเอง หรือ หาคนมีฝีมือชำนาญมาจัดการ ต่างจากคนรวยชั่วคราวที่ชอบรีบคว้าโอกาสทางธุรกิจ แต่ไม่รู้ไส้ในของธุรกิจนั้น ๆ เลย ไม่รู้คนที่เกี่ยวข้องภายใน เสี่ยงต่อการถูกโกง หรือ หลอกลวงได้ สรุปความต่างคือ ความใส่ใจและความพิถีพิถันในการลงทุน
“การลงทุนในธุรกิจที่เราไม่รู้อะไรเลย เสี่ยงไม่ต่างจากการเล่นการพนัน มีโอกาสเสียมากกว่าได้ คนรวยจริงจึงมีกฎที่ยึดถือว่า จะลงทุนก็ต่อเมื่อได้ศึกษาทำความเข้าใจมาระดับหนึ่งแล้ว อีกทั้ง มองเห็นความเสี่ยงและผลตอบแทนออกไปพร้อม ๆ กัน”
3. ใช้เงินดูแลสุขภาพและคุณภาพชีวิต คนรวยจริงจะใส่ใจเรื่องอาหารการกินที่มีประโยชน์ การพักผ่อน การออกกำลังกายที่ส่งเสริมคุณภาพชีวิตของตนเอง รวมถึงรางวัลชีวิตอย่างการท่องเที่ยวที่ช่วยเพิ่มประสบการณ์ให้กับตนเอง
คนรวยกลุ่มนี้ยังมองถึงสายสัมพันธ์ของคนในครอบครัวที่ใช้ชีวิตในรูปแบบเดียวกันด้วย ฉะนั้น คนที่รวยอย่างแท้จริงจะไม่กอดเงินไว้กับตัวเองอย่างเดียว แต่จะแบ่งปันและเติมเต็มครอบครัวและให้รางวัลชีวิตรูปแบบใหม่ ๆ ให้กับตัวเองด้วย
4. การลงทุนให้กับตัวเอง โดยคนรวยจริงจะลงทุนเพื่อตัวเอง เช่น การเข้าคอร์สออกกำลังกาย เรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ รักตัวเอง และไม่ใช้ชีวิตแบบประมาท รวมไปถึงการหาคอนเน็กชั่นใหม่ ๆ เพื่อเติมเต็มสังคม และหาโอกาสใหม่ ๆ ให้กับตัวเองเสมอ
5. การบริจาค คนรวยจริงจะมีนิสัยชอบบริจาค เพราะนั่นคือการแบ่งปัน ซึ่งเป็นพลังงานสูงสุดของการสร้างชีวิตของคนเรา โดยการแบ่งปันไม่ได้เกิดขึ้นเมื่อเป็นคนรวยแล้ว แต่คนกลุ่มนี้จะมีนิสัยติดตัวตั้งแต่เริ่มสร้างเนื้อสร้างตัว มีน้อยก็บริจาคน้อย มีมากก็บริจาคมาก ไม่ว่าจะแบ่งปันให้ญาติพี่น้อง บุตรหลาน คนยากไร้ หรือสมาคมต่าง ๆ
“บางตระกูลมีคนรวยจริงแค่คนเดียว ก็ส่งเสริมอาชีพ สร้างงานให้คนในตระกูลได้เป็นสิบเป็นร้อยคน นี่คือเคล็ดลับสำคัญที่ทำให้คนรวยจริงมีพลังงานไปต่อ ผ่านการสร้างประโยชน์ให้กับผู้อื่น”
CEO คนดัง ยังกล่าวสรุปว่า ในการสร้างชีวิตของคนเรา ที่มองว่า การหาเงินเป็นเรื่องยากแล้ว แต่การรักษาและต่อยอด “เงิน” ที่มี กลับเป็นเรื่องที่ท้าทายกว่า
สุดท้าย หลายคนเข้าใจว่าเงินทองและความร่ำรวยอาจหมายถึงการใช้ชีวิตหรูหรา แต่คนรวยที่เข้าใจความหมายของการใช้ชีวิตที่แท้จริง คือคนที่ใช้ชีวิตอย่างเรียบง่าย สมถะและพอเพียง เอาความพอดีมาเอาชนะความโก้หรู ซึ่งไม่ได้หมายความว่าการใช้ชีวิตเรียบง่ายจะต้องเป็นอยู่อย่างอัตคัดขัดสน แต่เป็นการอยู่อย่างมีสติ ใช้เท่าที่ต้องใช้ และไม่ไขว่คว้าหาสิ่งที่ไม่จำเป็นให้ปวดหัว เพียงเท่านี้เราก็จะสามารถมีความสุขในชีวิตได้ง่ายขึ้น
ที่มา: บทความ ความร่ำรวยที่เรียบง่าย ธ.ไทยพาณิชย์, คลิป คนรวยจริง เขาใช้เงินกันแบบนี้ (CEO Noppakrit), บทความ มนุษย์เงินเดือนทำอย่างไรถึงจะรวย ธ.กรุงไทย
อ่านข่าวหุ้น ข่าวทองคำ และ ข่าวการลงทุน และ การเงิน กับ Thairath Money ได้ที่
ติดตามเพจ Facebook : Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้ https://www.facebook.com/ThairathMoney