วิธีจัดการ “ทรัพย์สินกงสี” เสียภาษีอย่างไร ไม่ให้บ้านแตก

Personal Finance

Wealth Management

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

Tag

วิธีจัดการ “ทรัพย์สินกงสี” เสียภาษีอย่างไร ไม่ให้บ้านแตก

Date Time: 5 ต.ค. 2567 10:53 น.

Video

เปิดทริกวางแผนการเงิน เพื่อชีวิตที่มีประสิทธิภาพ

Summary

  • ครอบครัวใหญ่ต้องอ่าน ทำความรู้จัก "ทรัพย์สินกงสี" มีกี่ประเภท ใครเป็นเจ้าของ พร้อมแนวทางการจัด "ภาษี" ไม่ให้บ้านแตก

Latest


เมื่อพูดถึง “ทรัพย์สินกงสี” ภาพจำของหลายคนคงจะนึกถึงการแก่งแย่งชิงดีให้ได้มาซึ่งอำนาจในการดูแลทรัพย์สมบัติกองกลางในครอบครัว แม้จุดตั้งต้นของแนวคิดการจัดตั้งกงสีจะมาจากความหวังดีของผู้ใหญ่ยุคก่อนที่อยากให้ครอบครัวมีเงินสำรองกองกลางไว้ใช้ยามฉุกเฉิน เป็นสวัสดิการดูแลสมาชิกในครอบครัว หรือนำไปลงทุนต่อยอดให้ทรัพย์สิน หมุนเวียนสืบทอดภายในตระกูล ซึ่งก็มีหลายครอบครัวที่ประสบความสำเร็จกับแนวคิดนี้ แต่ก็มีอีกหลายครอบครัวที่ต้องแตกหักเพราะความต้องการไม่ตรงกัน โดยเฉพาะในภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลง และความซับซ้อนของกฎหมายภาษีในปัจจุบัน

KBank Private Banking เผยเคล็ดไม่ลับ จัดการภาษีทรัพย์สินกงสีให้เติบโตได้อย่างมั่นคงและส่งต่อให้คนรุ่นหลังได้อย่างราบรื่น

ทรัพย์สินกงสีคืออะไร

ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจก่อนว่า “ทรัพย์สินกงสี” นั้นไม่ใช่ “ธุรกิจครอบครัว” แต่ที่มาของทรัพย์สินกงสีโดยทั่วไป มักมาจากกำไรของการทำธุรกิจครอบครัวที่กันไว้เป็นเงินส่วนกลาง ดังนั้นทรัพย์สินกงสีจึงหมายถึง ทรัพย์สินส่วนกลางของครอบครัวที่มีเป้าหมายเพื่อให้สมาชิกทุกคนได้ผลประโยชน์อย่างเท่าเทียม โดยมีสมาชิกในตระกูลถือครองร่วมกัน หรือมอบหมายให้คนใดคนหนึ่งที่ครอบครัวไว้ใจถือครอง ทั้งนี้ทรัพย์สินกงสีมักประกอบด้วยทรัพย์สินหลายประเภท เช่น บัญชีเงินฝาก พอร์ตการลงทุน และอสังหาริมทรัพย์ (ทั้งที่ใช้และไม่ใช้ในธุรกิจครอบครัว)

ทรัพย์สินกงสี เสียภาษีอย่างไร

ย้อนกลับไปในอดีตก่อนปี 2558 การถือครองทรัพย์สินร่วมกันได้รับความนิยมอย่างมาก เนื่องจากตามกฎหมายภาษี การถือทรัพย์สินร่วมกันถือเป็นห้างหุ้นส่วนสามัญที่ไม่ใช่นิติบุคคล (หสม.) จึงต้องเสียภาษีในอัตราก้าวหน้าเช่นเดียวกับบุคคลธรรมดา โดยไม่ต้องเสียภาษีระดับบุคคลซ้ำอีกเมื่อมีการแบ่งกำไรให้เจ้าของร่วมแต่ละคน

แต่ปัจจุบันการเสียภาษีทรัพย์สินกงสีนั้นมีความซับซ้อนมากขึ้น จึงต้องมีการวางแผนภาษีอย่างเป็นระบบเพื่อลดความเสี่ยง นับตั้งแต่ปี 2558 เป็นต้นมา เงินได้จากทรัพย์สินที่มีชื่อร่วมกัน นอกจากจะต้องเสียภาษีอัตราก้าวหน้าในระดับหสม. แล้ว ยังต้องเสียภาษีในระดับบุคคลอีกครั้งเมื่อมีการแบ่งกำไร โดยถือเป็นเงินได้ประเภทอื่น (ประมวลรัษฎากร มาตรา 40(8))

ยกเว้นการถือครองทรัพย์สินร่วมกันของสามีภรรยาที่จดทะเบียนสมรสจะไม่ถือเป็นหสม. และในกรณีที่ทรัพย์สินกงสีถูกถือครองโดยบุคคลเดียว ผู้ที่มีหน้าที่เสียภาษีก็คือบุคคลที่มีชื่อเป็นเจ้าของทรัพย์สินนั้น ทั้งนี้มีข้อควรระวังคือ ในกรณีที่มีสมาชิกในครอบครัวใส่ชื่อบุคคลอื่นให้ถือทรัพย์สินแทน โดยทุกคนในครอบครัวไม่ได้รับทราบ เมื่อผู้ถือแทนเสียชีวิต ทรัพย์สินนั้นก็จะส่งต่อไปยังทายาทของผู้ถือแทนตามกฎหมาย ทรัพย์สินจึงไม่ตกไปยังเจ้าของที่แท้จริง

เราทำความเข้าใจความหมายและแนวคิดภาษีทรัพย์สินกงสีไปแล้ว เพื่อให้เห็นภาพมากขึ้น เราจะไปเจาะดูกันว่า ทรัพย์สินกงสีแต่ละประเภทนั้น มีเงื่อนไขการเสียภาษีอย่างไร เพื่อให้สามารถวางแผนจัดการภาษีได้อย่างถูกต้อง

จัดการภาษีทรัพย์สินกงสี

1. ประเภทเงินลงทุน

การเสียภาษีของเงินลงทุนที่ถือร่วมกันจะขึ้นอยู่กับประเภทของเงินได้ที่เกิดขึ้น สำหรับดอกเบี้ยเงินฝากนั้นไม่ต้องเสียภาษีซ้ำซ้อน เนื่องจากกฎหมายได้ยกเว้นไว้ว่าหากหักภาษี ณ ที่จ่ายในนามของหสม. แล้ว การแบ่งส่วนแบ่งดอกเบี้ยไม่ต้องเสียภาษีในระดับบุคคลอีก ซึ่งแตกต่างจากเงินปันผลหรือกำไรจากการขายที่จะต้องเสียภาษีในระดับหสม. โดยมีอัตราและข้อยกเว้นเหมือนบุคคลธรรมดา กล่าวคือ เงินปันผลสามารถเลือกหักภาษี ณ ที่จ่าย 10% และกำไรจากการขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ได้รับยกเว้นภาษีในระดับหสม. แต่เมื่อมีการแบ่งเงินปันผลหรือกำไรระหว่างกัน ต้องนำมารวมกับเงินได้อื่นของตนและเสียภาษีในอัตราภาษีก้าวหน้า

2. ประเภทอสังหาริมทรัพย์

สำหรับเงินได้จากการขายหรือให้เช่าอสังหาริมทรัพย์ที่ถือร่วมกันก็ถือเป็นหสม. เช่นกัน หากเป็นการซื้อมาร่วมกัน เงินได้จากการขาย/ให้เช่าต้องเสียภาษีในระดับหสม. ในลักษณะเดียวกับบุคคลธรรมดา และเสียภาษีในระดับบุคคลอีกครั้งเมื่อมีการแบ่งส่วนแบ่งจากการขาย/ค่าเช่า แตกต่างกับเงินได้จากอสังหาริมทรัพย์ที่ได้มาจากการรับให้หรือรับมรดกร่วมกัน กฎหมายได้ยกเว้นในกรณีนี้ไว้ให้เสียภาษีเพียงระดับเดียวคือ กรณีค่าเช่าเสียภาษีระดับหสม. เท่านั้น และในกรณีขาย ให้เจ้าของแยกคำนวณภาษีตามส่วนของแต่ละคน

อ่านข่าวหุ้น ข่าวทองคำ และ ข่าวการลงทุน และ การเงิน กับ Thairath Money ได้ที่
https://www.thairath.co.th/money/investment
ติดตามเพจ Facebook : Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้  https://www.facebook.com/ThairathMoney


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ