ไขข้อสงสัย ETF เมืองไทย ทำไมไม่ปัง "ของ" ไม่ตอบโจทย์ หรือนักลงทุนชอบ "เก็งกำไร"

Personal Finance

Wealth Management

กองบรรณาธิการ

Author

กองบรรณาธิการ

Tag

ไขข้อสงสัย ETF เมืองไทย ทำไมไม่ปัง "ของ" ไม่ตอบโจทย์ หรือนักลงทุนชอบ "เก็งกำไร"

Date Time: 10 มี.ค. 2567 08:34 น.

Video

3 มาตรการใหม่ ตลาดหลักทรัพย์ฯ คุมหุ้นร้อนผิดปกติ | Money Issue

Latest


ETF ย่อมาจาก Exchange Traded Fund เป็นกองทุนรวมดัชนีที่จดทะเบียนซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ มีนโยบายสร้างผลตอบแทนให้ใกล้เคียงกับการเคลื่อนไหวของดัชนี หรือราคาของสินทรัพย์ที่กองทุนใช้อ้างอิง ผู้ลงทุนสามารถซื้อขาย ETF ได้เหมือนหุ้นตัวหนึ่ง

ความง่ายของ ETF คือ นักลงทุนสามารถซื้อหุ้น 1 หน่วย เทียบเท่ากับการซื้อหุ้นทั้งดัชนี หรือการเข้าถือสินทรัพย์อ้างอิง เช่น หากเราซื้อ ETF กลุ่มพลังงาน 1 หน่วย เทียบเท่ากับการซื้อหุ้นทุกตัวในกลุ่มพลังงาน

ข้อดีช่วยให้นักลงทุนใช้เงินน้อยกว่า ตัดปัญหาการเลือกหุ้นที่ยุ่งยาก เหมาะกับนักลงทุนมือใหม่ที่เลือกหุ้นไม่เก่ง หรือผู้ต้องการบริหารพอร์ตลงทุนให้มีผลตอบแทนเทียบเท่ากับอุตสาหกรรม

ผลดังกล่าวทำให้การลงทุนใน ETF นั้นเป็นที่นิยมของทั่วโลก และมีผลกับเงินทุนเคลื่อนย้ายในแต่ละตลาดหุ้น ซึ่ง ETF ชื่อดังของโลกได้แก่ SPDR กองทุน ETF ที่ลงทุนในทองคำใหญ่ที่สุดในโลก หรือ กองทุน S&P 500 ETF กองทุน ETF ที่ลงทุนในหุ้นอ้างอิงดัชนี S&P 500 ในสหรัฐฯ หรือในกรณีล่าสุดที่ ก.ล.ต.ของสหรัฐฯ ได้อนุมัติให้มีกองทุนรวม Spot Bitcoin ETF เพื่อให้นักลงทุนสหรัฐฯ สามารถลงทุนผ่านสินทรัพย์ดิจิทัลผ่าน Bitcoin นับเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญของการลงทุนที่เปิดกว้างมากขึ้น และเป็นส่วนหนึ่งของ Bull Run รอบใหม่ใน Bitcoin

ETF ไทยเริ่มปิดตัวลง

แม้ในต่างประเทศ ETF จะได้รับความนิยมอย่างมาก แต่หันกลับมามองประเทศไทยกลับเงียบเหงา โดยล่าสุด ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย รายงานว่า บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน กรุงไทย จํากัด (มหาชน) ผู้ให้บริการ EBANK ETF ซึ่งเป็น ETF ที่อ้างอิงหุ้นในกลุ่มธนาคาร ต้องปิดตัวลง เนื่องจากมูลค่าหน่วยนั้นลดลง และไม่คุ้มค่าต่อการให้บริการ โดยบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน กรุงไทย จํากัด (มหาชน) (“บริษัท”) ในฐานะผู้จัดตั้งและจัดการ กองทุนเปิด KTAM SET Banking ETF Tracker ("EBANK") บริษัทขอเรียนแจ้งว่า บริษัทมีความประสงค์จะเลิกกองทุนดังกล่าว

เนื่องมาจากกองทุนมีมูลค่าหน่วยลงทุนที่ขายได้แล้วทั้งหมดโดยคํานวณตามมูลค่าที่ตราไว้ของหน่วยลงทุนลดลงเหลือน้อยกว่า 50 ล้านบาทในวันทําการใด อีกทั้งบริษัทพิจารณาเห็นว่าผลตอบแทนจากการลงทุนของกองทุนอาจจะไม่คุ้มค่ากับค่าใช้จ่ายทั้งหมดในการบริหารจัดการกองทุน ประกอบกับสภาพคล่องในการซื้อขายหน่วยลงทุนของกองทุนดังกล่าวในตลาดรองมีน้อย ดังนั้นเพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อผู้ถือหน่วยลงทุน

บริษัทจึงมีความประสงค์จะเลิกกองทุนในวันที่ 4 มีนาคม 2567 โดยการเลิกโครงการดังกล่าวเป็นไปตามเงื่อนไขการเลิกกองทุนที่ระบุในหนังสือชี้ชวนส่วนข้อมูลกองทุนรวม (ส่วนข้อผูกพัน) ข้อ 22.1.1 (4) “มูลค่าหน่วยลงทุนที่ขายได้แล้วทั้งหมดโดยคํานวณตามมูลค่าที่ตราไว้ของหน่วยลงทุนลดลงเหลือน้อยกว่าห้าสิบล้านบาท ในวันทําการใด และบริษัทจัดการประสงค์จะเลิกกองทุนรวม” โดยบริษัทจะดําเนินการชําระเงินค่าขายคืนหน่วยลงทุนให้แก่ผู้ถือหน่วยลงทุนทุกรายโดยอัตโนมัติ โดยวันซื้อขายวันสุดท้าย คือวันที่ 1 มี.ค. 2567 ที่ผ่านมา

ซึ่งสวนทางกับผลิตภัณฑ์ที่ใกล้เคียงกันอย่าง DR ที่มีมูลค่าการซื้อขายในปีที่ผ่านมามากกว่าหมื่นล้านบาท

เร่งแก้เกณฑ์ สร้างความคึกคัก

จุดหนึ่งที่ต้องยอมรับ คือ ETF ในเมืองไทยนั้นป็นแบบ Passive ซึ่งเป็นการลงทุนเชิงรับ ทำให้ความสนใจของนักลงทุนไทยที่ชอบความหวือหวานั้นอาจไม่ตอบโจทย์ โดยข้อมูลจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย บอกว่า ผลิตภัณฑ์ ETF ในตลาดหุ้นไทยมีทั้งสิ้น 13 หลักทรัพย์ มีทั้งอ้างอิงกลุ่มอุตสาหกรรม อ้างอิงดัชนี อ้างอิงหุ้นต่างประเทศ ทั้งนี้ในด้านมูลค่าการซื้อขายในช่วงปี 2566 ที่ผ่านมา อยู่ที่ 3,015 ล้านบาทเท่านั้น ลดลงจากปีก่อนหน้าที่ 3,535 ล้านบาท หรือลดลง 14.7%

อย่างไรก็ตามในมุมของตลาดหลักทรัพย์เองต้องการทำให้ ETF มีความคึกคักมากขึ้น โดยอยู่ระหว่างการรับฟังความคิดเห็นในเรื่องเกณฑ์ใหม่ในการจัดทำ active ETF และ inverse ETF โดยคาดว่าจะทำให้ ETF ในประเทศไทยมีความหลากหลายมากขึ้น น่าจะช่วยสร้างความคึกคักได้มากขึ้น. 


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
กองบรรณาธิการไทยรัฐออนไลน์