“การลาออก” ถือเป็นเรื่องปกติที่มนุษย์เงินเดือนต้องเผชิญ เพื่อเป็นประตูไปสู่ความเติบโตอีกขั้นของชีวิต แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าคนเรา เมื่อทำงานไปสักระยะหนึ่ง ก็มักจะเกิดความเบื่อหน่ายในสภาพแวดล้อมเดิมๆ หรือค้นพบเส้นทางชีวิตใหม่ๆ ซึ่งงานกินเดือน อาจไม่ตอบโจทย์ ความต้องการอีกต่อไป หลายคนจึงมีความคิดย้ายงาน หรือออกไปทำอาชีพอิสระ เปิดธุรกิจเป็นของตัวเอง
การลาออกนั้นเป็นเรื่องง่ายที่สุดในชีวิตการทำงาน แต่ผลกระทบที่ตามมาหลังการลาออก ซึ่งก็คือ “ภาระค่าใช้จ่าย” ที่ยังอยู่ กลับไม่ง่ายที่จะรับมือ หากปราศจากการวางแผนทางการเงินที่รอบคอบ
Thairath Money เปิดเช็กลิสต์วิธีวางแผนการเงิน ที่มนุษย์เงินเดือนต้องเตรียมให้พร้อม ก่อนเขียนใบลาออก รู้ไว้ไม่เครียดหลังตกงาน
เมื่อลาออกจากงาน ภาระงานอาจจะจบ แต่สิ่งที่ยังไม่จบคือภาระหนี้ที่ยังค้างคา และดอกเบี้ยที่ทบเงินต้นไปเรื่อยๆ ดังนั้น ก่อนตัดสินใจลาออก “หนี้” เป็นสิ่งสำคัญที่ต้องรีบจัดการให้เรียบร้อย โดยให้สำรวจตัวเองว่ามีหนี้กี่ก้อน แต่ละก้อนมีจำนวนเท่าไร หลังจากนั้นนำมาจัดประเภทและเรียงลำดับหนี้สินที่ต้องชำระก่อน-หลัง หากหนี้มีหลายก้อนให้เลือกปิดหนี้ก้อนที่ดอกเบี้ยแพงที่สุดก่อน เพื่อลดภาระดอกเบี้ยที่จะต้องจ่ายในอนาคต และทำให้เรามีเงินเหลือไปใช้จ่ายอย่างอื่น
ก่อนจะลาออก สิ่งที่ต้องมีนอกจากงานใหม่ ก็คือเงินสำรองฉุกเฉิน แม้บางคนจะได้งานที่ใหม่ก่อนทำเรื่องลาออก แต่ไม่มีอะไรมาการันตีว่าจะได้ทำงานไปอีกนานเท่าไร การมีเงินสำรองฉุกเฉินคือฟูกที่มาช่วยรองรับค่าใช้จ่าย แทนเงินเดือนที่เราเคยได้ โดยมนุษย์เงินเดือนควรมีเงินสำรองฉุกเฉิน ประมาณ 3-6 เท่าของค่าใช้จ่ายแต่ละเดือน หรือให้พอใช้ไปอีก 3-6 เดือน
เพื่อให้สามารถใช้ชีวิตได้โดยไม่ลำบากเกินไป ระหว่างหางานใหม่ หรือเมื่อเกิดเหตุการณ์ฉุกเฉิน เช่น โดนไล่ออกกลางคัน
สำหรับใครที่ยังหางานใหม่ไม่ได้ การหาอาชีพเสริม หรือเปลี่ยนงานอดิเรกเล็กๆ น้อยๆ ให้กลายเป็นรายได้ แม้จะไม่มากเท่างานประจำ แต่ก็ช่วยให้เราใช้เวลาให้เป็นประโยชน์ มีค่าขนมมาใช้จ่ายเพิ่มเติม แถมยังได้พัฒนาสกิลด้านอื่น ซึ่งอาจกลายเป็นหนึ่งในรายได้หลักของเราในอนาคต
บัตรเครดิตไม่ใช่ผู้ร้ายทางการเงินเสมอ หากเราใช้อย่างมีวินัย ก็ถือเป็นตัวช่วยให้เรามีสภาพคล่องมากขึ้น โดยเฉพาะตอนเกิดเหตุฉุกเฉิน หมุนเงินไม่ทัน อีกทั้งยังมีสิทธิประโยชน์ นำคะแนนไปแลกของหรือส่วนลด ช่วยให้การใช้จ่ายของเราคุ้มค่าขึ้น แต่การจะสมัครบัตรเครดิตได้ ต้องมี statement เงินเดือน ซึ่งหลังเราลาออกจะไม่สามารถสมัครบัตรเครดิตเพิ่มได้
ดังนั้นก่อนลาออกการสมัครบัตรเครดิตเพิ่มสักใบ เพื่อใช้สิทธิประโยชน์ ก็เป็นไอเดียที่ช่วยเพิ่มความคุ้มค่าการใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน
จ่ายเงินสมทบประกันสังคมไปทุกเดือนแล้ว ถึงเวลาอย่าลืมไปใช้สิทธิ มนุษย์เงินเดือนคนไหนที่ลาออกจากงาน อย่าลืมไปขึ้นทะเบียนว่างงาน เพื่อรับเงินชดเชย ตามมาตรา 33 โดยจะได้รับเงินทดแทนระหว่างการว่างงาน ปีละไม่เกิน 90 วัน ในอัตราร้อยละ 30 ของค่าจ้างเฉลี่ย โดยคำนวณจากฐานเงินสมทบขั้นต่ำเดือนละ 1,650 บาท และฐานเงินสมทบสูงสุดไม่เกิน 15,000 บาท
กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (PVD) เป็นกองทุนที่มนุษย์เงินเดือนสะสมเพื่อใช้ในช่วงเกษียณอายุและไม่ต้องนำมาคิดภาษี แต่หากนำเงินออกมาจากกองทุนตอนอายุยังไม่ถึง 55 ปี เนื่องจากที่ทำงานใหม่ไม่มีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ หรือลาออกไปทำอาชีพอิสระ จะถือว่าผิดเงื่อนไขกองทุน ต้องนำเงินที่ได้มานั้น มายื่นเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาด้วย ซึ่งหากไม่อยากเสียภาษี สามารถโอนเงินจากกองทุนไปไว้ใน กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) แทนได้ โดยจะต้องแจ้งความประสงค์ต่อนายจ้างเมื่อลาออก เพื่อให้บริษัทจัดการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ โอนเงินไปยัง RMF ให้แล้วเสร็จภายใน 30 วันนับจากวันที่ได้รับเอกสารการลาออก
ที่มา
อ่านเทคนิคการบริหารเงิน การลงทุน ต่อได้ที่
ติดตามเพจ Facebook : Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้