ค่าบ้านก็มา ค่าผ่อนรถก็มี “ป่วย” มาทีจะเอาเงินทองจากที่ไหนไปจ่าย? นี่คือหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้เราเกิดความตระหนักขึ้นมาว่า “การทำประกันสุขภาพ” เป็นอีกหนึ่งตัวช่วยบริหารความเสี่ยงด้านค่าใช้จ่ายเมื่อเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝันขึ้น
แต่กระนั้นเมื่อจะเลือกทำประกันสุขภาพสักฉบับ ก็มักมีคำถามมากมาย เช่น ประกันสุขภาพคุ้มครองอะไรบ้าง ควรเลือกซื้อประกันสุขภาพอย่างไรให้เหมาะสมกับตัวเรา แล้วควรซื้อประกันสุขภาพที่ไหนดี
ดังนั้นจากหลากหลายความกังวล ในครั้งนี้ #Thairath money ได้รวบรวมข้อมูลจาก Krungsri THE COACH ที่จะมาช่วยไขข้อข้องใจกันว่า ประกันสุขภาพมีแบบไหนบ้าง เราควรเลือกทำแบบไหนให้ตอบโจทย์ตัวเรามากที่สุด รวมถึงมีเงื่อนไขสำคัญอะไรบ้างที่ควรต้องรู้ เพื่อให้ทุกคนได้ทำประกันสุขภาพที่ตอบโจทย์ความต้องการ
ประกันสุขภาพคืออะไร มีความคุ้มครองกี่แบบ?
ประกันสุขภาพ คือ ประกันที่ให้ความคุ้มครองเรื่องค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาล โดยเมื่อเกิดค่ารักษา หรือมีการเจ็บป่วยขึ้นตามเงื่อนไข บริษัทประกันจะเป็นผู้ออกเงินค่ารักษาให้ หรืออาจจะมีการจ่ายเงินชดเชยให้กับตัวเราตามเงื่อนไขของวงเงินที่เราได้ทำไว้ ซึ่งอาจแบ่งประเภทของความคุ้มครองเป็น 4 กลุ่มหลักๆ ได้แก่
- กลุ่มคุ้มครองค่ารักษาพยาบาล
เป็นกลุ่มที่จะจ่ายเงินค่ารักษาพยาบาล เมื่อเราเป็นผู้ป่วยนอก หรือเป็นผู้ป่วยใน (กรณีนอนพักรักษาตัวในโรงพยาบาล) ตามเงื่อนไขที่กำหนด
- กลุ่มเงินชดเชยรายวัน
เป็นกลุ่มที่จะจ่ายเงินชดเชยให้เราเป็นรายวัน เมื่อเรานอนพักรักษาตัวในโรงพยาบาลในฐานะผู้ป่วยใน
- กลุ่มเงินก้อนโรคร้ายแรง
เป็นกลุ่มที่จะจ่ายเงินก้อนให้เราตามวงเงินที่เลือก เมื่อตรวจพบว่าเราเป็นโรคร้ายแรงตามเงื่อนไขที่กำหนด
- กลุ่มคุ้มครองอุบัติเหตุ
เป็นกลุ่มที่จะจ่ายเงินก้อนให้เราตามวงเงินที่เลือก เมื่อเราเกิดเจ็บป่วย สูญเสียอวัยวะ ทุพพลภาพ หรือเสียชีวิตจากกรณีอุบัติเหตุ ตามเงื่อนไขที่กำหนด
เลือกทำประกันสุขภาพอย่างไรให้ตอบโจทย์ความต้องการ?
- ประเมินค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลของโรงพยาบาลที่เลือก
ลองสำรวจดูว่า หากเกิดเหตุฉุกเฉินต้องเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาล เราจะเลือกเข้าโรงพยาบาลไหน ซึ่งอาจจะเป็นโรงพยาบาลใกล้บ้าน หรือที่ทำงาน และที่โรงพยาบาลแห่งนั้นมีค่ารักษารายการหลักๆ ประมาณเท่าไหร่ เช่น ค่าห้อง หรือค่ารักษากรณีเป็นโรคร้ายแรง เป็นต้น
- สำรวจสวัสดิการความคุ้มครองด้านค่ารักษาพยาบาลที่เรามีอยู่
ทั้งจากที่ทำงาน หรือจากภาครัฐ ว่ามีรายการอะไรบ้าง เป็นวงเงินเท่าไร มีโรคอะไรบ้างที่ครอบคลุมและเพียงพอกับค่ารักษาของโรงพยาบาลที่เราเลือกหรือไม่ เราควรวางแผนประกันสุขภาพเผื่อหลังเกษียณ เพราะประกันสุขภาพกลุ่มของบริษัทจะไม่ได้คุ้มครองเมื่อเราพ้นสภาพพนักงานแล้ว นอกจากนี้โรคที่ประกันกลุ่มคุ้มครองมักจะเป็นโรคทั่วๆ ไป หากเรากังวลเรื่องโรคร้ายแรงที่ต้องมีการรักษาต่อเนื่อง ประกันกลุ่มของบริษัทอาจมีวงเงินไม่เพียงพอ
- เลือกแบบประกัน และวงเงินที่ตอบโจทย์ความคุ้มครองส่วนที่ยังขาด
พิจารณาทำประกันสุขภาพในส่วนที่ยังขาดอยู่ โดยเฉพาะในส่วนของกลุ่มคุ้มครองค่ารักษาพยาบาลที่ต้องมีเป็นอันดับแรก รวมถึงเงินก้อนกรณีเป็นโรคร้ายแรง สำหรับเป็นทุนค่ารักษาหรือค่าใช้จ่ายที่อาจเกิดขึ้นนอกโรงพยาบาล เมื่อกลับมารักษาตัวที่บ้านต่ออีกด้วย
- ประเมินค่าเบี้ยประกันที่เหมาะสม ทั้งค่าเบี้ยปัจจุบัน และที่ต้องจ่ายในอนาคต
ประเมินดูแล้วเราจ่ายค่าเบี้ยประกันไหวไม่รู้สึกเป็นภาระหรือไม่ เบื้องต้นอาจประเมินเป็นสัดส่วนจากรายได้ของเราว่าค่าเบี้ยประกันสุขภาพที่จ่ายควรจะอยู่ประมาณ 5-10% ของรายได้ทั้งปี หากค่าเบี้ยสูงกว่านี้เราอาจจะต้องปรับลดวงเงินความคุ้มครองบางรายการลง ให้เหลือเฉพาะเท่าที่จำเป็นจริงๆ
อย่างไรก็ตาม ควรที่จะศึกษาข้อยกเว้นการเจ็บป่วยที่ทางบริษัทประกันจะไม่คุ้มครอง, ระยะเวลารอคอย, ประวัติการรักษา, โรงพยาบาลที่รักษาได้ โดยอาจจะเลือกโรงพยาบาลที่ไม่ต้องสำรองจ่ายก่อน และสุดท้ายคือ ข้อยกเว้นในกรมธรรม์ เพื่อที่จะทำให้เราสามารถพิจารณาเลือกประกันสุขภาพที่เหมาะสมกับตัวเอง ซึ่งจะอุ่นใจเรื่องการเบิกเคลม ค่าเบี้ยเหมาะสม ทำให้เราไม่ต้องพะวงหน้าพะวงหลังเมื่อเจ็บป่วยขึ้นมา
อ้างอิง Krungsri The COACH