เมื่อพูดถึง “ประกัน” ปัจจุบันประเทศไทยมีกรมธรรม์เทียบจำนวนประชากรเพียง 38-39% ซึ่งถือได้ว่ายังเป็นสัดส่วนที่น้อยมาก หากเทียบกับอีกหลายประเทศที่มีระดับ 50-100% สิ่งเหล่านี้สะท้อนให้เห็นว่าเพราะคนไทยมองโลกในแง่ดีเกินไป รวมทั้งมีแนวคิดที่ว่า "ตราบใดที่ยังทำงานอยู่" ก็จะมีสวัสดิการของบริษัทดูแลยามเจ็บป่วย หรือมีประกันสังคมรองรับ จึงยังไม่เห็นความจำเป็นของการทำประกันอื่นๆ พร้อมกับเมินหน้าหนีเมื่อมีตัวแทนมานำเสนอ
แต่กระนั้นก็ยังมีคนบางส่วนมีแนวคิดที่ต่างออกไป โดยมองว่าเมื่อถึงยามคับขัน “ประกัน” คือ สิ่งเดียวที่จะสามารถช่วยแบ่งเบาภาระได้ นั่นจึงทำให้ประกันเปรียบเสมือน “เสาสำรอง” ที่ใครหลายๆ คนต่างก็ให้ความสำคัญ “แม้มีไว้ไม่ได้ใช้ ก็ย่อมอุ่นใจกว่า” นั่นเอง
ในครั้งนี้ #Thairath Money จึงได้มีการสอบถามไปยังสมาคมประกันชีวิตไทย ถึงภาพรวมของเทรนด์ของประกันชีวิตปี 2567 ว่าเป็นอย่างไรบ้างนั้น ซึ่งก็ได้คำตอบว่า โดยรวมธุรกิจประกันชีวิตปี 2567 ไม่แตกต่างจากปี 2566 มากนัก จากการที่ธุรกิจประกันชีวิตได้ผ่านความท้าทายต่างๆ โดยเฉพาะวิกฤติโควิด-19 ทําให้ธุรกิจประกันชีวิตมีการปรับตัวไปจากเดิมค่อนข้างมาก ทั้งในเรื่องของการดําเนินงาน มีการเร่งนําเทคโนโลยีสมัยใหม่มาประยุกต์ใช้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ ลดขั้นตอน และเพิ่มความรวดเร็วในการบริการ
อีกทั้งยังช่วยในการ วิเคราะห์พฤติกรรมความต้องการลูกค้าได้อย่างแม่นยำ ที่เห็นชัดเจนเป็นรูปธรรม คือ การพัฒนาผลิตภัณฑ์ ประกันภัยให้มีความหลากหลายมากขึ้น มีการเพิ่มช่องทางการขายใหม่ และปรับปรุงช่องทางการขายเดิมให้มี ประสิทธิภาพในการบริการ ลูกค้าเข้าถึงได้ง่ายและสะดวกรวดเร็ว ตอบโจทย์ความต้องการของคนในโลกยุค ใหม่ โดยเน้นไปที่การส่งเสริมความมั่นคงในชีวิต สุขภาพ และการเงินของประชาชนเป็นสําคัญ
ทำให้ประชาชนมีความรู้ความเข้าใจมากขึ้น และเห็นถึงความสำคัญของการทำประกันชีวิตและสัญญา เพิ่มเติมการประกันภัยสุขภาพหรือโรคร้ายแรงมากขึ้น เกิดเป็นกระแสการรักสุขภาพ โดยเฉพาะภายหลังจาก ต้องเผชิญ COVID-19 มีการวางแผนทางการเงินหลังเกษียณกันมากขึ้น ผลักดันประกันบำนาญและพร้อมเข้า สู่สังคมผู้สูงอายุอย่างมีคุณภาพ ปัจจัยบวก สำคัญอีกประการหนึ่ง คือ นโยบายส่งเสริมจากภาครัฐ ผ่านมาตรการส่งเสริมทางด้านภาษี ที่ยังคงเป็นเครื่องมือสำคัญที่ช่วยผลักดันให้ธุรกิจประกันชีวิตที่เป็นที่รู้จักและสนใจของประชาชนผู้มีรายได้
ขณะที่การเติบโตของธุรกิจประกันยังคงมีอย่างต่อเนื่อง ภายใต้สถานการณ์ปกติที่ไม่มีเหตุการณ์ หรือความเสี่ยงอย่างรุนแรงจากภัยที่คาดไม่ถึง โดยปัจจัยบวกที่จะผลักให้ธุรกิจเติบโตต่อไปได้ ส่วนใหญ่จะมาจาก ความต้องการภายในประเทศ และช่องว่างของคนที่ยังไม่มีประกันชีวิตยังมีอีกค่อนข้างมาก (จากตัวเลข Insurance Penetration ปี 2565 อยู่ที่ร้อยละ 3.66)
ส่วนปัจจัยลบที่คาดว่าจะส่งผลต่อการเติบโตของธุรกิจประกันชีวิต ก็น่าจะเป็นปัญหาที่มาจากภาวะ เศรษฐกิจโดยรวม ได้แก่ รายได้ประชาชน ภาวะหนี้ครัวเรือน และความไม่แน่นอนจากเศรษฐกิจในประเทศ และเศรษฐกิจโลก ผลกระทบเงินเฟ้อจากนโยบายที่เกี่ยวข้องสงครามการค้า ภัยคุกคามทางไซเบอร์ที่จะสร้าง ผลกระทบและเสถียรภาพระบบการประกันชีวิตและความเชื่อมั่นผู้บริโภค เป็นต้น
“กำลังซื้อ หนี้ครัวเรือน สงคราม เงินเฟ้อ ดอกเบี้ย ปัจจัยเหล่านี้ล้วนส่งผลกระทบต่อทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นกำลังซื้อของประชาชน การคาดการณ์และ ความเชื่อมั่นของนักลงทุน ปัญหาราคาสินค้าหรือค่าครองชีพแพง ที่ส่งผลต่อการดำรงชีพต่อคนไทยทั้งสิ้น ดังนั้น หากมีการวางแผนและบริหารความเสี่ยงที่ดีจะสามารถช่วยบรรเทาปัญหาที่เกิดขึ้นจากปัจจัยข้างต้นได้ ด้วยสถานการณ์มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ประกันถือเป็นอีกหนึ่งเครื่องมือที่เข้ามาช่วยจัดการ และสามารถบริหารความเสี่ยงได้อย่างดี ดังนั้นทางสมาคมฯ เห็นว่าไม่จำกัดแค่ประกันสุขภาพ หรือประกันบํานาญ เมื่อทุกคนมีความเข้าใจและมีความรู้ เกี่ยวกับประกันจะเห็นถึงความสำคัญและวางแผนชีวิตของตนเอง ผ่านเครื่องมือนี้ได้มากขึ้น”
ดังนั้นเทรนด์ของธุรกิจประกันชีวิตในช่วง 2-3 ปีนี้ ยังคงมุ่งไปสู่ความคุ้มครองสุขภาพ-โรคร้ายแรง การวางแผนทางการเงินระยะยาวเพื่อการเกษียณผ่านการประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์ และการประกันชีวิตแบบบำนาญ รวมไปถึงการ ประกันชีวิตเพื่อการลงทุน Unit-Linked สำหรับผลิตภัณฑ์จะเจาะกลุ่มลูกค้า Gen Z มากขึ้น คือ ผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวกับภาษี และครอบคลุมโรคที่พบบ่อย เช่น ออฟฟิศซินโดรม กลุ่มลูกค้าเปลี่ยนสู่ปัจเจกบุคคลมากขึ้นจาก เทคโนโลยียุคดิจิทัลและนำเทคโนโลยีมาช่วยวิเคราะห์เทียบเบี้ยประกันมากขึ้น
ขณะเดียวกันในช่วงเทศกาลปีใหม่ที่ใกล้จะมาถึง ส่วนมากผู้บริโภคจะนิยมเป็นความคุ้มครองพวกอุบัติเหตุ ซึ่งคงจะหนีไม่พ้น “ไมโครอินชัวรันส์” หรือประกันประเภทเพิ่มความอุ่นใจแก่ประชาชน โดยเป็นกรมธรรม์ที่ส่งเสริมให้ ประชาชนมีหลักประกันความคุ้มครองอุบัติเหตุให้กับตนเองและครอบครัว และสามารถใช้ ประโยชน์จากระบบการประกันภัยเพื่อบริหารความเสี่ยงจากอุบัติเหตุได้สะดวก เข้าถึงได้ง่าย และรวดเร็วยิ่งขึ้น
จากข้อมูลล่าสุด ณ ไตรมาส 3/2566 ธุรกิจประกันชีวิตมีเบี้ยประกันชีวิตรับรวม 455,129.54 ล้าน บาท เติบโตเพิ่มขึ้น 3.92% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2565 แบ่งเป็นเบี้ยประกันภัยรับรายใหม่ 131,998.78 ล้านบาท อัตราการเติบโตเพิ่มขึ้น 6.20% และเบี้ยประกันภัยรับปีต่อไป 323,130.76 ล้าน บาท อัตราการเติบโตเพิ่มขึ้น 3.02% โดยมีอัตราความคงอยู่ของกรมธรรม์ 83% สำหรับผลิตภัณฑ์ ประกันชีวิตที่มีสัดส่วนมากที่สุด คือ ผลิตภัณฑ์ประเภทสะสมทรัพย์