เพื่อสร้างความมั่นคงในชีวิต เราควรซื้อ “ประกัน” แบบไหน เลือก “แบบประกัน” ให้เหมาะกับไลฟ์สไตล์

Personal Finance

Insurance

Content Partnership

Content Partnership

Tag

เพื่อสร้างความมั่นคงในชีวิต เราควรซื้อ “ประกัน” แบบไหน เลือก “แบบประกัน” ให้เหมาะกับไลฟ์สไตล์

Date Time: 30 ส.ค. 2566 06:00 น.
Content Partnership

Summary

  • เพื่อสร้างความมั่นคงในชีวิต เราควรซื้อ “ประกัน” แบบไหน เลือก “แบบประกัน” ให้เหมาะกับไลฟ์สไตล์ ถูกใจ สบายกระเป๋า

ท่ามกลางไลฟ์สไตล์ของคนไทยที่จัดเต็มในทุกเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นการทำงาน การใช้ชีวิต เวลาเที่ยวก็เต็มที่ กินก็เต็มพิกัด ไม่ว่าจะเป็น บุพเฟต์ หมูกระทะ อาหารที่อุดมไปด้วยไขมัน ชีส และอาหารจานด่วนทั้งหลาย ส่งผลให้ประเทศไทยของเราพบคนที่เป็นโรคร้ายแรงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งจากความเครียด และภาวะโภชนาการที่บกพร่อง

นอกจากนั้น จากความยากลำบากในการเกิดโรคระบาดอย่างโควิด-19 ช่วงหลายปีที่ผ่านมา ขณะที่องค์การอนามัยโลก (WHO) ยังระบุด้วยว่า ในอนาคตโลกของเรามีความเสี่ยงที่จะเกิดโรคระบาดที่รุนแรงขึ้น และบ่อยครั้งขึ้น

ทำให้คนไทยส่วนใหญ่เริ่มให้ความสำคัญกับ “การรักษาสุขภาพ” เพื่อให้สามารถใช้ชีวิตได้อย่างเต็มที่อย่างฝันเอาไว้ ขณะเดียวกันก็สนใจ “ทำประกัน” เพิ่มมากขึ้น และไม่ใช่แต่คนที่อายุมากเท่านั้นที่จะสนใจทำประกัน เพราะจริงๆ แล้วการทำประกัน สามารถทำได้ทุกเพศ ทุกวัย ตั้งแต่เด็กเล็กๆ ไปจนถึงคนวัยเกษียณ

วันนี้หลายคนเข้าใจแล้วว่า การทำประกัน ไม่ใช่การเสียเงินไปโดยเปล่าประโยชน์ แต่ถือเป็นหนึ่งในผลิตภัณฑ์ที่ช่วยวางแผนทางการเงิน เพิ่มความมั่นคงให้กับชีวิต เพราะชีวิตเป็นสิ่งเปราะบางไม่สามารถคาดเดาได้ การโอนความเสี่ยงในชีวิตเราให้บริษัทประกันช่วยรับผิดชอบค่ารักษาพยาบาล หรือค่าใช้จ่ายอื่นๆ จึงเป็นหนทางที่เราควรวางแผนไว้รองรับ

แล้วเราจะเลือกแบบประกันแบบไหน ที่เหมาะสมกับตัวเรา ประกันแบบไหนที่เหมาะสมกับอายุ กับเพศ การใช้ชีวิต รวมทั้งเหมาะสมกับเงินในกระเป๋าของเราที่จะจ่ายได้

ตามหลักการของสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) แบ่งประกันชีวิตพื้นฐานไว้ 4 แบบ คือ 1. ประกันชีวิตแบบชั่วระยะเวลา (Term Insurance) ให้ความคุ้มครองในเวลาจำกัด เช่น 1 ปี, 5 ปี, 10 ปี โดยบริษัทประกันชีวิตจะจ่ายเงินให้กับผู้รับประโยชน์เมื่อเสียชีวิตในระยะเวลาที่กำหนด แต่หากเรายังมีชีวิตอยู่จนครบเวลาจะไม่ได้รับเงินทุนประกันคืน ซึ่งประกันแบบนี้จะเหมาะกับ คนที่ต้องการความคุ้มครองชีวิตในระยะเวลาหนึ่ง ต้องการบริหารความเสี่ยงในเวลาสั้นๆ และคนที่มีความสามารถชำระเบี้ยประกันภัยต่ำ แต่ได้ความคุ้มครองสูง

2. ประกันชีวิตแบบตลอดชีพ (Whole Life) เช่น ให้ความคุ้มครองจนอายุ 85 ปี 90 ปี หรือ 99 ปี แต่จ่ายเบี้ยเพียงช่วงระยะเวลาหนึ่ง เช่น คุ้มครองถึงอายุ 99 ปี จ่ายเบี้ย 20 ปีแรก เป็นต้น ซึ่งหากเรามีชีวิตอยู่ครบตามระยะเวลาที่กำหนดก็จะได้ทุนประกันชีวิตกลับคืน แต่หากเราเสียชีวิตในระยะเวลาที่คุ้มครอง ผู้รับผลประโยชน์ก็จะได้รับเงินแทน ประกันแบบนี้จะเหมาะสำหรับ คนที่เป็นหัวหน้าครอบครัว หรือเป็นเสาหลักของบ้าน เพื่อเป็นหลักประกันให้คนข้างหลัง และเป็นมรดกส่งต่อให้กับลูกหลาน

3. ประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์ (Endowment) เป็นประกันชีวิตที่รับความคุ้มครองชีวิต เหมือนประกันแบบอื่น แต่เน้นการออมเงินเพื่อใช้ในอนาคต ทั้งระยะสั้น กลาง และยาว หากว่าเราเลือกประกันชีวิตแบบนี้ เราจะได้เงินคืนพร้อมกับอัตราผลตอบแทนเพิ่มขึ้นตามที่บริษัทตกลงไว้ในสัญญา โดยประกันแบบนี้เหมาะสำหรับ คนที่ต้องการลงทุน แต่รับความเสี่ยงได้น้อย คนที่ต้องการเก็บออมเงินไว้ใช้ในอนาคต และคนที่ต้องการความคุ้มครองควบคู่กับการออมเงิน

4. ประกันชีวิตแบบบำนาญ (Annuity) จะเป็นประกันชีวิตที่บริษัทประกันชีวิตจะจ่ายเงินให้แก่เราเมื่อเกษียณอายุ เช่น อายุครบ 55 ปี หรือ 60 ปี โดยเราต้องจ่ายเบี้ยไปจนถึงอายุที่กำหนด แล้วหลังจากนั้นก็จะได้รับเงินไปเรื่อยๆ จนครบกำหนดอายุตามที่เลือกไว้ ซึ่งผลตอบแทนที่ได้อาจจะไม่สูงมากนักเมื่อเทียบกับแบบสะสมทรัพย์ แต่เราก็จะได้รับเงินยามเกษียณ และได้ความคุ้มครองชีวิตเหมือนประกันชีวิตแบบอื่น เหมาะสำหรับคนที่อยากมีรายได้ที่แน่นอนหลังเกษียณ

ที่สำคัญ หากเราเลือกประกันชีวิตแบบชั่วระยะเวลา ตลอดชีพ และสะสมทรัพย์ ยังนำเบี้ยประกันมาลดหย่อนภาษีได้ตามที่จ่ายจริง ไม่เกิน 100,000 บาท โดยประกันชีวิตจะต้องคุ้มครองตั้งแต่ 10 ปีขึ้นไป ส่วนประกันชีวิตแบบบำนาญ สามารถนำมาลดหย่อนภาษีได้ตามที่จ่ายจริงไม่เกิน 15% ของเงินได้ที่ต้องเสียภาษีและไม่เกิน 200,000 บาท

นอกจากนั้น ยังมีแบบประกันที่สามารถเลือกซื้อควบคู่ไปกับประกันชีวิตด้วยได้ เช่น ประกันอุบัติเหตุ และประกันสุขภาพในรูปแบบต่างๆ เพื่อช่วยลดความเสี่ยงที่ต้องจ่ายค่ารักษาพยาบาลโรคร้ายต่างๆ ในราคาสูงๆ รวมทั้ง การเลือกซื้อประกันที่ควบกับการลงทุน เพื่อให้ครอบคลุมความคุ้มครองตามวัย และไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิต

วัยเด็กถึงวัยเรียน ควรจะเลือกประกันชีวิตที่เน้นการออมเงิน เช่น ประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์ หรือประกันชีวิตควบการลงทุน เพื่อออมเงินเผื่ออนาคต นอกจากนี้ เด็กยังเป็นวัยที่ซุกซนและสุขภาพยังไม่แข็งแรง จึงอาจจะซื้อประกันอุบัติเหตุหรือประกันสุขภาพควบคู่กันไปด้วย ขณะที่ วัยทำงาน ควรจะเลือกประกันชีวิตที่เน้นการออมเงิน เช่น ประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์ หรือประกันชีวิตควบการลงทุน บวกด้วยประกันสุขภาพ รวมทั้งควรเริ่มจากเก็บออมเงินไว้ใช้ในอนาคต และการวางแผนเกษียณ ด้วยประกันชีวิตแบบบำนาญ

หากเป็น หัวหน้าครอบครัว ควรจะเลือกประกันชีวิตแบบตลอดชีพ ควบคู่กับการทำประกันสุขภาพ หากเจ็บป่วยร้ายแรง จะได้มีค่ารักษาพยาบาลยามเจ็บไข้ หรือเกิดเหตุจากไปก่อนวัยอันควรคนข้างหลังก็ได้เงินจากหลักประกันที่ทำไว้ โดยทุนประกันชีวิตที่ทำอาจจะให้ครอบคลุมถึงภาระค่าใช้จ่ายหลัก เช่น ค่าผ่อนบ้าน ค่าผ่อนรถได้อีกด้วย
อ่านมาถึงตรงนี้ หากยังสับสนหรือยังเลือกไม่ได้ ข้อดีของวันนี้ คือ บริษัทประกันส่วนใหญ่จะออกแบบประกันที่รวบรวมความคุ้มครองที่ครบครัน และตอบโจทย์การใช้ชีวิตของคนทุกวัยเอาไว้ให้

ผู้ที่สนใจสามารถศึกษาข้อมูลดีๆ จากบริษัทประกันชั้นนำของประเทศไทย “เมืองไทยประกันชีวิต เอไอเอ ประเทศไทย โตเกียวมารีนประกันชีวิต ประเทศไทย และอลิอันซ์ อยุธยาประกันชีวิต” ซึ่งรวบรวมสุดยอดแพ็กเกจประกันชีวิต ประกันภัย และประกันสุขภาพ มาให้ประกอบการตัดสินใจในหน้า 2, 15 และ 16 ในหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ฉบับวันที่ 30 สิงหาคม 2566


Author

Content Partnership

Content Partnership