เปิด 4 สูตร “ซื้อของออนไลน์” ช้อปสนุก ไม่ต้องกลัวเสียสุขภาพการเงิน

Personal Finance

Banking & Bond

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

Tag

เปิด 4 สูตร “ซื้อของออนไลน์” ช้อปสนุก ไม่ต้องกลัวเสียสุขภาพการเงิน

Date Time: 5 ธ.ค. 2567 11:11 น.

Video

"CINDY CHAO The Art Jewel" สองทศวรรษอัญมณีศิลป์ | Brand Story Exclusive EP.4

Summary

  • สมาคมนักวางแผนการเงินไทย แนะ 4 เคล็ดลับบริหารเงิน เพื่อช้อปปิ้งออนไลน์ได้อย่างเพลิดเพลิน โดยไม่กระทบต่อสุขภาพการเงิน

Latest


ในยุคที่การช้อปปิ้งออนไลน์ กลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวันของใครหลายๆ คน การควบคุมค่าใช้จ่ายอย่างมีประสิทธิภาพจึงเป็นเรื่องสำคัญ ในครั้งนี้ สมาคมนักวางแผนการเงินไทย ได้เผยเคล็ดลับและกลยุทธ์ในการบริหารการเงินสำหรับนักช้อปปิ้งออนไลน์ ที่ไม่เพียงช่วยให้สนุกกับการเลือกซื้อสินค้าได้อย่างสบายใจ แต่ยังคงรักษาสมดุลทางการเงินไว้อย่างมีสุขภาพดีด้วย

โดย สมาคมนักวางแผนการเงินไทย เผยแพร่บทความ “กลเม็ดวางแผนการเงินสำหรับนักช้อปปิ้งออนไลน์” โดยระบุว่า การมีเทคนิคการบริหารเงินที่ดีก็จะทำให้สนุกกับการช้อปปิ้งและไม่กระทบต่อสุขภาพการเงินได้ ดังนี้

1. ศิลปะการตั้งงบประมาณ

ปัญหาสำคัญประการหนึ่งของนักช้อปปิ้งออนไลน์ คือ การไม่เข้าใจพฤติกรรมการใช้จ่ายของตัวเอง เพราะอาจไม่เคยคิดว่าการกดซื้อของออนไลน์ครั้งละไม่กี่ร้อยบาท จะก่อหนี้เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ

ดังนั้น เพื่อหยุดการก่อหนี้ ควรเริ่มต้นแก้ปัญหาด้วยการทำสิ่งที่ง่าย ๆ คือ การจดบันทึกค่าใช้จ่ายทุกบาททุกสตางค์ โดยใช้วิธีการตั้งงบประมาณ 50-30-20 (50% สำหรับค่าใช้จ่ายจำเป็น, 30% สำหรับค่าใช้จ่ายที่อยากได้ รวมถึงการช้อปปิ้งออนไลน์ และ 20% สำหรับการออมและการลงทุน)

นอกจากนี้ สามารถทำได้ด้วยการเปิดบัญชีออมทรัพย์ใหม่ เพื่อแยกต่างหากสำหรับการช้อปปิ้งโดยเฉพาะ โดยคำนวณงบช้อปปิ้งต่อเดือนไว้ที่ 15% ของรายได้ และเมื่อเงินในบัญชีหมด จะไม่โอนเงินเพิ่มเด็ดขาด จนกว่าจะถึงเดือนถัดไป ซึ่งผลลัพธ์ที่ได้ คือ จะไม่มีการใช้จ่ายเกินงบอีกเลย หากมีเงินเหลือในบัญชีช้อปปิ้งบ้างในบางเดือนก็นำไปเก็บออมได้

2. กลยุทธ์การเปรียบเทียบราคา

การรู้จักใช้กลยุทธ์เปรียบเทียบราคาและหาดีลที่คุ้มค่าจะช่วยให้ประหยัดเงินได้ โดยไม่ต้องรอเทศกาลลดราคาใหญ่ และเงินที่ประหยัดได้ สามารถนำไปต่อยอดการลงทุนหรือเก็บออมเพื่ออนาคตได้อย่างมีประสิทธิภาพ ดังนี้

  • รู้จังหวะ รู้ช่วงเวลา วางแผนการช้อปปิ้งตามช่วงเวลาพิเศษ เช่น เทศกาลช้อปปิ้งออนไลน์ เช่น 12.12, ช่วงต้นเดือนที่มักมีโปรโมชันพิเศษจากบัตรเครดิต, End of Season Sale หรือ Flash Sale
  • เปรียบเทียบราคาก่อนตัดสินใจซื้อ จากหลายร้านค้าออนไลน์ ดูประวัติราคาย้อนหลัง รวมถึงข้อมูลอื่น ๆ เช่น รับเงินคืนจากการช้อปปิ้ง
  • ใช้โค้ดส่วนลดอย่างคุ้มค่า เช่น สมัครรับจดหมายข่าว (ร้านค้ามักส่งโค้ดส่วนลดพิเศษให้สมาชิก) ติดตาม Social Media (แบรนด์มักแจกโค้ดลับผ่าน Facebook, Instagram) หรือรวมโค้ดกับโปรบัตรเครดิต

3. ป้องกันการใช้จ่ายเกินตัว

การช้อปปิ้งออนไลน์ เต็มไปด้วยกลยุทธ์การตลาดที่ล่อใจให้ใช้จ่าย การใช้เทคนิคป้องกันการใช้จ่ายเกินตัว จึงเป็นเกราะป้องกันที่สำคัญ ซึ่งช่วยให้หยุดคิดก่อนซื้อ และช่วยลดแรงกระตุ้นให้ซื้อของที่ไม่จำเป็น ทำให้ช้อปปิ้งได้อย่างมีสติ ไม่เป็นหนี้ และมีเงินเหลือเก็บสำหรับอนาคต ดังนี้

  • กฎ 24 ชั่วโมง เมื่อเจอของที่อยากได้ให้บันทึกลิงก์ไว้ จากนั้นตั้งนาฬิกาปลุก 24 ชั่วโมง เพื่อให้เวลากับการถามตัวเองว่าจำเป็นต้องซื้อตอนนี้จริง ๆ หรือไม่ มีของคล้าย ๆ กันอยู่แล้วกี่ชิ้น เงินนี้เอาไปทำอย่างอื่นได้หรือไม่
  • ตั้งการแจ้งเตือนอัจฉริยะในแอปพลิเคชัน เพื่อให้แจ้งเตือนทุกครั้งที่ใช้จ่ายเกินตามงบที่ตั้งเอาไว้ แจ้งเตือนเมื่อใช้จ่ายถึง 80% ของงบประมาณ และสรุปค่าใช้จ่ายรายสัปดาห์

4. เปิดเคล็ดลับเลือกวิธีจ่ายให้เหมาะสม

บัตรเครดิต - ใช้บัตรเครดิตใบเดียวสำหรับช้อปปิ้งออนไลน์ กำหนดวงเงินต่ำ ๆ เพื่อจำกัดความเสียหายหากถูกแฮก

  • ข้อดี : เรียกเงินคืนได้หากถูกโกง สะสมแต้มได้
  • ข้อควรระวัง : ดอกเบี้ยสูง ล่อใจให้ใช้เกินตัว

บัตรเดบิต -  เปิดบัญชีแยกสำหรับช้อปปิ้ง โอนเงินเข้าเฉพาะตอนจะใช้

  • ข้อดี : ใช้จ่ายตามเงินที่มี ไม่เป็นหนี้
  • ข้อควรระวัง : เงินจะถูกตัดออกจากบัญชีทันที จึงต้องมีเงินคงเหลืออยู่ในบัญชีที่จะครอบคลุมค่าใช้จ่ายทั้งหมด

สแกนจ่าย

  • ข้อดี : สะดวก ปลอดภัย
  • ข้อควรระวัง : ต้องระวังการหลอกให้สแกน QR Code ปลอม

การช้อปปิ้งออนไลน์ในปัจจุบัน ทำได้ง่ายเพียงปลายนิ้ว หากไม่มีการวางแผนการเงินที่ดี อาจนำไปสู่ปัญหาการใช้จ่ายเกินตัวได้ แต่หากมีการใช้กลเม็ดวางแผนการเงินอย่างมีประสิทธิภาพ จะช่วยให้ช้อปปิ้งได้อย่างมีสติมากขึ้น

ที่สำคัญการวางแผนการเงินที่ดี ไม่ได้หมายถึงการงดช้อปปิ้ง แต่ คือ การรู้จักสร้างสมดุลระหว่างความสุขในการช้อปปิ้งและสุขภาพทางการเงินที่ดี


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ