แบงก์คุมปล่อยกู้ฉุดหนี้คนไทยหด ทุ่มหมื่นล้านลงกองทุนหมู่บ้านกระตุ้นเศรษฐกิจ

Personal Finance

Banking & Bond

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

แบงก์คุมปล่อยกู้ฉุดหนี้คนไทยหด ทุ่มหมื่นล้านลงกองทุนหมู่บ้านกระตุ้นเศรษฐกิจ

Date Time: 26 พ.ย. 2567 08:50 น.

Summary

  • สศช.ชี้หนี้ครัวเรือนล่าสุดไตรมาส 2 ปี 67 ลดเหลือ 89.6% ของจีดีพี ต่ำกว่า 90% ครั้งแรกรอบ 3 ปีครึ่ง ส่วนหนึ่งเพราะแบงก์เข้มงวดปล่อยกู้ หวั่นคนแห่พึ่งหนี้นอกระบบ ขณะที่ “จิราพร” ลั่น รัฐบาลเตรียมอัดฉีด 1.1 หมื่นล้านบาท ลงกองทุนหมู่บ้านไตรมาสแรกปี 68 กระตุ้นเศรษฐกิจต่อเนื่องจากแจกเงินหมื่น

Latest

ลงทุนแบบ “เฌอปราง” จุดเริ่มต้นเงินเดือน 1.2 หมื่นบาท หัวใจสำคัญ คือ ตั้งเป้าหมายทางการเงิน

สศช.ชี้หนี้ครัวเรือนล่าสุดไตรมาส 2 ปี 67 ลดเหลือ 89.6% ของจีดีพี ต่ำกว่า 90% ครั้งแรกรอบ 3 ปีครึ่ง ส่วนหนึ่งเพราะแบงก์เข้มงวดปล่อยกู้ หวั่นคนแห่พึ่งหนี้นอกระบบ ขณะที่ “จิราพร” ลั่น รัฐบาลเตรียมอัดฉีด 1.1 หมื่นล้านบาท ลงกองทุนหมู่บ้านไตรมาสแรกปี 68 กระตุ้นเศรษฐกิจต่อเนื่องจากแจกเงินหมื่น

นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) แถลงรายงานภาวะสังคมไทยไตรมาส 3 ปี 67 ว่า หนี้ครัวเรือนล่าสุดช่วงไตรมาส 2 ปี 67 ขยายตัวชะลอลง โดยมีมูลค่า 16.32 ล้านล้านบาท ขยายตัว 1.3% จาก 2.3% ของไตรมาสก่อน ทำให้สัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ลดลงจาก 90.7% ของไตรมาสก่อน มาอยู่ที่ 89.6% ซึ่งต่ำกว่า 90% ต่อจีดีพีเป็นครั้งแรกในรอบ 15 ไตรมาส ส่วนหนึ่งมาจากสถาบันการเงินเข้มงวดอนุมัติสินเชื่อมากขึ้น สะท้อนจากเงินให้กู้แก่ภาคครัวเรือนของธนาคารพาณิชย์ ซึ่งมีสัดส่วนกว่า 1 ใน 3 หรือ 38.5% ของหนี้ครัวเรือนทั้งหมดนั้น หดตัวเป็นครั้งแรกที่ 1.2%

ขณะที่ความสามารถชำระหนี้ของครัวเรือนยังคงลดลงต่อเนื่อง ซึ่งข้อมูลบริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด หรือเครดิตบูโร พบว่า ไตรมาส 2 ยอดคงค้างสินเชื่อบุคคลที่ค้างชำระเกิน 90 วันขึ้นไป (เอ็นพีแอล) มี 9.6 ล้านบัญชี มูลค่ากว่า 1.16 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็นสัดส่วนต่อสินเชื่อรวม 8.48% เพิ่มขึ้นจาก 8.01% ของไตรมาสก่อน ส่วนสินเชื่อที่ค้างชำระ 30-90 วัน (เอสเอ็มแอล) มีมูลค่า 500,000 ล้านบาท หรือมีสัดส่วนต่อสินเชื่อรวม 3.66% ลดจาก 4.72% ของไตรมาสก่อน แต่สินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์เป็นสินเชื่อเดียวที่มีสัดส่วนหนี้เอสเอ็มแอลต่อสินเชื่อรวมเพิ่มขึ้น

“คุณภาพสินเชื่อที่ด้อยลง รวมถึงมาตรฐานการปล่อยสินเชื่อของสถาบันการเงินที่มีแนวโน้มเข้มงวดขึ้น เริ่มส่งผลกระทบต่อการเข้าถึงสินเชื่อของลูกหนี้ โดยเฉพาะลูกหนี้ที่กู้ในระบบเต็มวงเงินแล้ว ทำให้ไม่เหลือทางเลือก จึงต้องติดตามความเสี่ยงจากการหันไปพึ่งพาหนี้นอกระบบของครัวเรือน ส่วนที่รัฐกำลังจะออกมาตรการแก้หนี้ครัวเรือนที่ค้างจ่ายแล้ว 1 ปี เนื่องจากเห็นว่ากลุ่มนี้น่าจะฟื้นขึ้นมาได้ เพราะการลดเงินนำส่งเงินสมทบกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (FIDF) เพื่อนำมาแก้ปัญหานี้ ก็ต้องให้คุ้มค่าและได้ผล ในภาพรวมจะช่วยลด จำนวนหนี้ครัวเรือนได้ ส่วนจะมากน้อย และเร็วแค่ไหนคงต้องรอดู”

สำหรับสถานการณ์แรงงานไตรมาส 3 นั้น มีผู้ว่างงาน 410,000 คน เพิ่มขึ้น 3.2% จากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน คิดเป็นอัตราว่างงาน 1.02% เพิ่มขึ้นจาก 0.99% ที่น่าสนใจคือ มีผู้ว่างงาน 1 ปีขึ้นไปเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 16.2% หรือ 81,000 คน ส่วนใหญ่หางานทำไม่ได้ และไม่เคยทำงานมาก่อน ซึ่งเกือบ 3 ใน 4 อายุ 20-29 ปี

ด้านนายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กล่าวระหว่างการเปิดงาน “กองทุนหมู่บ้านมั่นคง ชุมชนเข้มแข็งอย่างยั่งยืน” ว่า กองทุนหมู่บ้านฯ ดำเนินการมา 23 ปี ผ่านปฏิวัติมา 2 ครั้ง ผ่านการบริหารประเทศโดยรัฐบาลที่ไม่ได้บริหารโดยพรรคไทยรักไทย หรือพรรคเพื่อไทย ทำให้ขาดไปบางช่วง แต่วันนี้พรรคเพื่อไทยกลับมาแล้ว และจะเดินหน้ากองทุนฯภายใต้งบ 11,000 ล้านบาท เพื่อสร้างประโยชน์ให้ประชาชนมากที่สุด ส่วน น.ส.จิราพร สินธุไพร รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ไตรมาสแรกปี 68 รัฐบาลจะอัดฉีดเงินลงไปสู่หมู่บ้านและชุมชนทั่วประเทศ 11,000 ล้านบาท เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นการดำเนินการต่อเนื่องจากที่รัฐบาลได้จ่ายเงิน 10,000 บาท เฟสแรกให้กลุ่มเปราะบาง และกำลังจะจ่ายเฟส 2 ให้ผู้สูงอายุก่อนเทศกาลตรุษจีน รวมถึงเฟส 3 ที่ให้กับผู้ลงทะเบียนเงินดิจิทัล.

อ่าน "คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ" ทั้งหมดที่นี่


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ