8 ธนาคาร ลดดอกเบี้ย สูงสุด 0.25% ขานรับ กนง. เริ่ม 1 พ.ย. นี้

Personal Finance

Banking & Bond

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

Tag

8 ธนาคาร ลดดอกเบี้ย สูงสุด 0.25% ขานรับ กนง. เริ่ม 1 พ.ย. นี้

Date Time: 22 ต.ค. 2567 16:24 น.

Video

เศรษฐกิจไทย เสี่ยงวิกฤติหนักแค่ไหน เมื่อต้องเปลี่ยนนายกฯ | Money Issue

Summary

  • 8 แบงก์รัฐ-แบงก์พาณิชย์ ขานรับมติ กนง. ลดภาระหนี้ครัวเรือน ทยอยลดดอกเบี้ยเงินกู้สูงสุด 0.25% มีผลตั้งแต่ 1 พ.ย. เป็นต้นไป

Latest


เมื่อวันที่ 16 ต.ค.ที่ผ่านมา กนง. มีมติไม่เป็นเอกฉันท์ 5 ต่อ 2 เสียงให้ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% มาอยู่ที่ 2.25% เพื่อช่วยบรรเทาภาระหนี้ครัวเรือน ท่ามกลางการขยายตัวของสินเชื่อที่ชะลอลง

ล่าสุดธนาคารรัฐและธนาคารพาณิชย์หลายแห่งเริ่มทยอยประกาศลดดอกเบี้ยเงินกู้ คงดอกเบี้ยเงินฝาก เพื่อตอบรับการลดอัตราดอกเบี้ยของ กนง. ในครั้งนี้ จะมีธนาคารไหนบ้าง Thairath Money รวบรวมมาให้แล้ว

1. ธนาคารออมสิน

ธนาคารออมสิน ปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ทุกประเภท ประกอบด้วย

  • ดอกเบี้ยเงินกู้ขั้นต่ำประเภทเงินกู้ที่มีระยะเวลา (MLR) ลดลงเหลือ 6.900% ต่อปี
  • ดอกเบี้ยเงินกู้ขั้นต่ำประเภทเงินเบิกเกินบัญชี (MOR) ลดลงเหลือ 6.745% ต่อปี
  • ดอกเบี้ยเงินกู้ลูกค้ารายย่อย (MRR) ที่มีการลดอัตราดอกเบี้ยลง 0.25% ต่อปีไปก่อนหน้านี้ ซึ่งจะครบกำหนดมาตรการในวันที่ 31 ตุลาคม 2567 นี้ ก็จะได้รับการปรับลดอัตราดอกเบี้ยในครั้งนี้ด้วยเช่นกัน อยู่ที่อัตรา 6.595% ต่อปี โดยเป็นอัตราดอกเบี้ย MRR ที่ต่ำสุดเมื่อเทียบกับธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ ถือเป็นการปรับลดดอกเบี้ย MRR ครั้งที่ 3 ของปีนี้ โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2567 เป็นต้นไป

สำหรับอัตราดอกเบี้ยเงินฝาก จะยังคงตรึงดอกเบี้ยไว้ในอัตราเดิมให้ได้นานที่สุด เพื่อให้ประชาชนมีรายได้จากอัตราดอกเบี้ย ภายใต้ภารกิจเพื่อสังคมในการมุ่งส่งเสริมการออม ตามที่ได้รับมอบหมายจากรัฐบาล

2. ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.)

  • ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) ปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ทุกประเภท ได้แก่
    อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลูกค้ารายใหญ่ชั้นดี ประเภทเงินกู้แบบมีระยะเวลา (MLR) ลดลงเหลือ 6.250% ต่อปี
  • อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลูกค้ารายใหญ่ชั้นดี ประเภทเงินกู้เบิกเกินบัญชี (MOR) ลดลงเหลือ 6.400% ต่อปี
  • อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลูกค้ารายย่อยชั้นดี (MRR) ที่มีการลดอัตราดอกเบี้ยลง 0.25% ต่อปีไปก่อนหน้านี้ ซึ่งจะครบกำหนดมาตรการในวันที่ 31 ตุลาคม 2567 นี้ จะได้รับการปรับลดอัตราดอกเบี้ยในครั้งนี้ด้วยเช่นกัน มาอยู่ที่ 6.545% ต่อปี โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2567 เป็นต้นไป พร้อมตรึงดอกเบี้ยเงินฝากไว้ในอัตราเดิมให้ได้นานที่สุด เพื่อส่งเสริมการออมภาคประชาชนต่อไป

3. ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.)

ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลงสูงสุด 0.25% ต่อปี โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2567 เป็นต้นไป เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายดอกเบี้ยให้กับเกษตรกรลูกค้า ธ.ก.ส. และสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ประกอบด้วย

  • อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลูกค้ารายย่อยชั้นดี (MRR) ลดลง 0.10% ต่อปี เหลือ 6.875% ต่อปี
  • อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ MRR ปรับลดลง 0.25% ต่อปี เหลือ 6.725% ต่อปี สำหรับลูกค้าเกษตรกร กลุ่มเปราะบางและ SMEs ที่ประสบปัญหาในการผลิต จนทำให้ความสามารถในการชำระหนี้ลดลง รวมถึงลูกหนี้ NPLs ที่อยู่ระหว่างปรับปรุงโครงสร้างหนี้ ซึ่งเป็นการขยายระยะเวลาออกไปอีกเป็นเวลา 5 เดือน ตั้งแต่ 1 พฤศจิกายน 2567 - 31 มีนาคม 2568
  • อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลูกค้าประเภทเงินเบิกเกินบัญชี (MOR) ลดลง 0.25% ต่อปี เหลือ 6.875% ต่อปี พร้อมตรึงอัตราดอกเบี้ยเงินฝากทุกประเภทออกไปให้นานที่สุด เพื่อส่งเสริมวินัยการออมเงินและร่วมสร้างภูมิคุ้มกันทางการเงินให้กับลูกค้าอย่างต่อเนื่อง

4. ธนาคารกสิกรไทย

ธนาคารกสิกรไทย ปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ยืมสูงสุด 0.25% เพื่อช่วยดูแลและเพิ่มสภาพคล่องโดยการแบ่งเบาภาระดอกเบี้ยให้กับลูกค้าทุกกลุ่ม โดยมีรายละเอียดดังนี้

  • อัตราดอกเบี้ยสำหรับลูกค้ารายใหญ่ชั้นดี ประเภทเงินกู้แบบมีระยะเวลา (MLR) ปรับลด 0.12% จาก 7.27% เป็น 7.15%
  • อัตราดอกเบี้ยสำหรับลูกค้ารายใหญ่ชั้นดีประเภทเงินเบิกเกินบัญชี (MOR) ปรับลด 0.25% จาก 7.59% เป็น 7.34%
  • อัตราดอกเบี้ยสำหรับลูกค้ารายย่อยชั้นดี (MRR) ปรับลด 0.12% จาก 7.30% เป็น 7.18%

ในขณะที่อัตราดอกเบี้ยเงินฝากยังไม่มีการปรับลดแต่อย่างใด โดยให้มีผลในวันที่ 1 พฤศจิกายน 2567 เป็นต้นไป นอกจากนี้ยังขยายระยะเวลาสำหรับโครงการช่วยเหลือลูกค้ากลุ่มเปราะบางไปจนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2567

5. ธนาคารไทยพาณิชย์

ธนาคารไทยพาณิชย์ ปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้สูงสุด 0.25% ต่อปี เพื่อช่วยบรรเทาภาระหนี้ของลูกค้ารายย่อยและผู้ประกอบการภาคธุรกิจ ประกอบด้วย

- อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลูกค้ารายใหญ่ชั้นดี ประเภทเงินเบิกเกินบัญชี (Minimum Overdraft Rate) จากปัจจุบันอยู่ที่ 7.575% เป็น 7.325% ต่อปี
- อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลูกค้ารายย่อยชั้นดี (Minimum Retail Rate) จากปัจจุบันอยู่ที่ 7.30% เป็น 7.175% ต่อปี
- อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลูกค้ารายใหญ่ชั้นดี ประเภทเงินกู้แบบมีระยะเวลา (Minimum Loan Rate) จากปัจจุบันอยู่ที่ 7.05% เป็น 6.925% ต่อปี
โดยก่อนหน้านี้ธนาคารได้ออกมาตรการพิเศษในการช่วยเหลือลูกค้ากลุ่มเปราะบาง ทั้งลูกค้าบุคคลและ SME รายย่อย ตั้งแต่ 16 พฤษภาคม 2567 ถึง 15 พฤศจิกายน 2567 นั้น ธนาคารได้พิจารณาขยายมาตรการช่วยเหลือดังกล่าวออกไปจนถึง 31 ธันวาคม 2567

6. ธนาคารทีเอ็มบีธนชาต

ธนาคารทีเอ็มบีธนชาต ประกาศปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ทุกประเภท โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2567 เป็นต้นไป ประกอบด้วย

  • อัตราดอกเบี้ย MOR ลดลง 0.25% ต่อปี
  • อัตราดอกเบี้ย MLR ลดลง 0.125% ต่อปี
  • อัตราดอกเบี้ย MRR ลดลง 0.125% ต่อปี

สำหรับลูกค้ารายย่อยและ SME ในกลุ่มเปราะบาง ทีทีบีตระหนักถึงปัญหาความเดือดร้อนจากปัญหาหนี้ครัวเรือนและสภาพเศรษฐกิจที่ยังฟื้นตัวไม่เต็มที่ และได้มีมาตรการให้ความช่วยเหลือลูกค้ากลุ่มนี้มาก่อนหน้า นอกจากการปรับลดอัตราดอกเบี้ยในครั้งนี้ ธนาคารยังมีการต่ออายุมาตรการออกไปจนถึง 31 ธันวาคม 2567 จากเดิมที่จะครบกำหนดในวันที่ 15 พฤศจิกายน 2567

เพื่อช่วยพยุงสภาพคล่องและลดภาระหนี้ให้กับลูกค้ากลุ่มเปราะบางให้ได้ดอกเบี้ยต่ำกว่าอัตราที่ประกาศอีก 0.25% ซึ่งจากการปรับลดอัตราดอกเบี้ยในครั้งนี้ จะทำให้ลูกค้ากลุ่มดังกล่าวมีอัตราดอกเบี้ยที่ลดลงรวม 0.375-0.50% ต่อปี ทั้งนี้ ธนาคารยังมีแผนที่จะปรับมาตรการเพื่อช่วยเหลือกลุ่มเปราะบางตามความเหมาะสมเมื่อมาตรการดังกล่าวสิ้นสุดลง

7.ธนาคารกรุงศรีอยุธยา

ธนาคารกรุงศรี ปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้สูงสุด 0.25% มีผลวันที่ 1 พฤศจิกายน 2567 ประกอบด้วย

  • อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลูกค้ารายใหญ่ชั้นดี ประเภทเงินกู้แบบมีระยะเวลา (Minimum Loan Rate หรือ MLR) ปรับลดลงจาก 7.280% เป็น 7.155%
  • อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลูกค้ารายใหญ่ชั้นดี ประเภทเงินเบิกเกินบัญชี (Minimum Overdraft Rate หรือ MOR) ปรับลดลงจาก 7.575% เป็น 7.325%
  • อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลูกค้ารายย่อยชั้นดี (Minimum Retail Rate หรือ MRR) ปรับลดลงจาก 7.400% เป็น 7.275%.

8.ธนาคารกรุงเทพ

ธนาคารกรุงเทพปรับลดอัตราดอกเบี้ยทั้งเงินกู้และเงินฝาก มีผลตั้งแต่วันที่ 24 ตุลาคม 2567 โดยอัตราดอกเบี้ยเงินให้สินเชื่อปรับลดลงสูงสุด 0.20% ประกอบด้วย

  • อัตราดอกเบี้ย MLR (Minimum Loan Rate) หรืออัตราดอกเบี้ยสำหรับลูกค้ารายใหญ่ชั้นดีประเภทเงินกู้แบบมีระยะเวลา ลดลง 0.20% เป็น 6.90% ต่อปี
  • อัตราดอกเบี้ย MOR (Minimum Overdraft Rate) หรืออัตราดอกเบี้ยสำหรับลูกค้ารายใหญ่ชั้นดีประเภทเงินเบิกเกินบัญชี ลดลง 0.20% เป็น 7.35% ต่อปี
  • อัตราดอกเบี้ย MRR (Minimum Retail Rate) หรืออัตราดอกเบี้ยลูกค้ารายย่อยชั้นดีปรับลดลง 0.05% เป็น 7.00% ต่อปี

ซึ่งก่อนหน้านี้ ธนาคารกรุงเทพก็ได้มีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ MRR ไปแล้ว 0.25% ตั้งแต่ปลายเดือนเมษายนเพื่อเป็นการช่วยเหลือและบรรเทาภาระหนี้และต้นทุนทางธุรกิจให้ผู้ประกอบการ

สำหรับเงินฝากลูกค้าบุคคลธรรมดา อัตราดอกเบี้ยเงินฝากสะสมทรัพย์เป็น 0.25 – 0.30% ต่อปี เงินฝากประจำ 3 เดือน เป็น 1.00% ต่อปี เงินฝากประจำ 6 เดือน เป็น 1.10% ต่อปี เงินฝากประจำ 12 เดือน เป็น 1.45% ต่อปี เงินฝากประจำ 24 เดือน เป็น 1.70% ต่อปี และเงินฝากประจำ 36 เดือน เป็น 1.75% ต่อปี ส่วนเงินฝากสะสมทรัพย์ e-Saving วงเงินไม่เกิน 1 ล้านบาท 1.50% ต่อปี และวงเงินส่วนที่เกิน 1 ล้านบาท 0.45% ต่อปี

อ่านข่าวหุ้น และการลงทุน กับ Thairath Money ได้ที่
https://www.thairath.co.th/money/investment
ติดตามเพจ Facebook : Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้
https://www.facebook.com/ThairathMoney


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ