การบริหารจัดการเงินที่ดี ไม่เพียงมาจากการเก็บออมเท่านั้น แต่ยังต้องเข้าใจวิธีการคิดดอกเบี้ยและการจัดการหนี้สิน ซึ่งหากเข้าใจผิด ไม่ว่าจะเป็นบัตรเครดิต สินเชื่อบ้าน หรือสินเชื่อรถยนต์ ก็อาจทำให้เสียเงินเพิ่มขึ้นโดยไม่จำเป็น และส่งผลกระทบต่อเป้าหมายการเงินระยะยาวได้
ดังนั้น การคำนวณดอกเบี้ยอย่างถูกต้อง จะสามารถช่วยให้การบริหารจัดการการเงินมีประสิทธิภาพมากขึ้น ทั้งช่วยป้องกันการเสียดอกเบี้ยเกินจำเป็น ช่วยวางแผนการเงินได้แม่นยำ และถือเป็นเครื่องมือที่สำคัญที่ช่วยให้สามารถประหยัดเงินได้
ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เผยแพร่ “4 ความเข้าใจผิดเรื่องดอกเบี้ยที่คนมักพลาด” ซึ่งชี้ให้เห็นถึงการคิดดอกเบี้ยในแต่ละสถานการณ์ ที่หลายคนเข้าใจผิดจนทำให้ต้องเสียดอกเบี้ยมากกว่าที่ควร ดังนี้
1.บัตรเครดิต - หลายคนมักเข้าใจผิดว่า การใช้บัตรเครดิตซื้อของ แล้วจ่ายแค่บางส่วน จะเสียดอกเบี้ยแค่ส่วนที่ยังไม่จ่าย แต่ในความเป็นจริงแล้ว การจ่ายแค่บางส่วนนั้น เรายังต้องเสียดอกเบี้ยทั้งยอด เพราะว่ามีการคิดดอกเบี้ยจากยอดเต็มย้อนหลัง หรือคิดดอกจากยอดค้างต่อ
ดังนั้น เทคนิคในการบริหารจัดการหนี้บัตรเครดิต คือ การจ่ายเต็มจำนวน และตรงเวลา ซึ่งจะไม่ทำให้เราเสียดอกเบี้ย
2.สินเชื่อบ้าน - “ผ่อนบ้านมาหลายปี จ่ายแต่ดอกเบี้ย เงินต้นแทบไม่ลด” เป็นความเข้าใจที่ผิด เพราะในความเป็นจริง หากจำนวนเงินที่ชำระเท่ากันทุกงวด ช่วงแรกจะตัดดอกเบี้ยเยอะกว่าเงินต้น เพราะเงินต้นยังมีจำนวนสูงอยู่ แต่พอเวลาผ่านไปหลายปี ค่างวดจะหักดอกเบี้ยน้อยลงเพราะเงินต้นลดลง
ดังนั้น หากกำลังผ่อนบ้านอยู่ควรทยอยโปะหนี้เพื่อลดเงินต้น และเจรจาขอลดดอกเบี้ย หรือที่เรียกว่า “retention” หรืออาจขอ “refinance” กับเจ้าหนี้ใหม่ ทำให้เราสามารถประหยัดดอกเบี้ยได้มากขึ้น
3.สินเชื่อเช่าซื้อรถ - หลายคนเข้าใจผิดว่า ดอกเบี้ยเช่าซื้อรถเปลี่ยนวิธีคิดจากแบบเงินต้นคงที่ มาเป็นแบบลดต้นลดดอกแล้ว แต่ความจริง ยังคิดดอกเบี้ยแบบ “เงินต้นคงที่ (flat rate)” อยู่ โดยคิดดอกเบี้ยจากเงินต้นทั้งก้อน
ดังนั้น อย่าเข้าใจผิดว่าทยอยโปะแล้วจะลดดอกได้ หากต้องการลดรายจ่ายดอกเบี้ย ต้องโปะปิดบัญชีครั้งเดียวถึงจะลดดอกเบี้ยได้
4.อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ - อัตราดอกเบี้ยที่ดูเหมือนต่ำ แต่ไม่ได้ระบุว่าต่อปี ต่อเดือน หรือต่อวัน อาจไม่ถูกอย่างที่คิด ดังนั้น ก่อนตัดสินใจต้องอ่านอัตราดอกเบี้ยให้ดี และแปลงเป็น % ต่อปีก่อนเปรียบเทียบเสมอ โดยใช้สูตร: อัตราดอกเบี้ยต่อปี = อัตราที่ระบุ x ตัวคูณ
และสำคัญที่สุด อย่าลืมศึกษาและทำความเข้าใจผลิตภัณฑ์ทางการเงินต่าง ๆ อย่างรอบคอบ ก่อนตัดสินใจใช้บริการทุกครั้ง เพื่อให้ได้ประโยชน์สูงสุดและลดการเกิดปัญหาที่อาจตามมาภายหลัง
อ่านข่าวหุ้น และการลงทุน กับ Thairath Money ได้ที่
ติดตามเพจ Facebook : Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้