ทิสโก้ กำไรไตรมาส 3 ที่ 1,713 ล้านบาท ลดวูบ 8.6%  หวั่นเศรษฐกิจเปราะบาง ดันตั้งสำรองพุ่ง

Personal Finance

Banking & Bond

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

Tag

ทิสโก้ กำไรไตรมาส 3 ที่ 1,713 ล้านบาท ลดวูบ 8.6% หวั่นเศรษฐกิจเปราะบาง ดันตั้งสำรองพุ่ง

Date Time: 15 ต.ค. 2567 13:43 น.

Video

เศรษฐกิจไทย เสี่ยงวิกฤติหนักแค่ไหน เมื่อต้องเปลี่ยนนายกฯ | Money Issue

Summary

  • บริษัท ทิสโก้ไฟแนนเชียลกรุ๊ป จำกัด (มหาชน) รายงานกำไรสุทธิในไตรมาส 3 ปี 2567 ที่ 1,713 ล้านบาท ลดลง 8.6% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน สาเหตุหลักจากการตั้งสำรองผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นเพิ่มขึ้นเพื่อรองรับความเสี่ยงเศรษฐกิจ ขณะที่รายได้จากการดำเนินงานยังเพิ่มขึ้นเล็กน้อย 1.0% โดยเฉพาะรายได้จากธุรกิจตลาดทุนและธุรกิจจัดการกองทุน

Latest


บริษัท ทิสโก้ไฟแนนเชียลกรุ๊ป จำกัด (มหาชน) มีกำไรสุทธิจากผลการดำเนินงานเฉพาะกิจการ ไตรมาส 3 ปี 2567 ที่ 1,713.43 ล้านบาท ลดลง 161.05 ล้านบาท หรือลดลง 8.6% จากไตรมาส 3 ปี 2566 สาเหตุหลักมาจากการตั้งสำรองผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นที่เพิ่มสูงขึ้น


ในขณะที่รายได้จากการดำเนินงานเพิ่มขึ้น 1.0% จากการฟื้นตัวของรายได้ค่าธรรมเนียมจากธุรกิจหลัก พร้อมกับการรับรู้ผลกำไรจากเครื่องมือทางการเงินที่วัดมูลค่าด้วยมูลค่ายุติธรรมผ่านกำไรหรือขาดทุน (FVTPL)

ธุรกิจที่เกี่ยวกับตลาดทุนปรับตัวดีขึ้น ทั้งค่าธรรมเนียมการซื้อขายหลักทรัพย์ที่เพิ่มขึ้น 9.9% จากปีก่อน จากการขยายตัวของส่วนแบ่งทางการตลาดของ บล.ทิสโก้ และรายได้ค่าธรรมเนียมธุรกิจจัดการกองทุนเพิ่มขึ้น 6.6% ตามการเติบโตของสินทรัพย์ภายใต้การบริหาร


นอกจากนี้ บริษัทมีการรับรู้รายได้ค่าธรรมเนียมธุรกิจวาณิชธนกิจเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาส 3 ของปีก่อนหน้า ด้านรายได้ดอกเบี้ยสุทธิชะลอตัวลง 3.0% เนื่องจากต้นทุนทางการเงินที่สูงขึ้นตามการปรับเพิ่มขึ้นของดอกเบี้ยเงินฝาก ส่วนผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น (ECL) ปรับตัวเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 0.6% ของยอดสินเชื่อเฉลี่ย เป็นไปตามแผนการเพิ่มสำรองกลับสู่ระดับปกติ


รวมทั้งสะท้อนความเสี่ยงของภาวะเศรษฐกิจที่ยังคงเปราะบาง เมื่อเทียบกับไตรมาส 2 ปี 2567 กำไรสุทธิลดลง 39.58 ล้านบาท หรือลดลง 2.3% สาเหตุจากรายได้ค่าธรรมเนียมธุรกิจวาณิชธนกิจและผลกำไรจากเครื่องมือทางการเงินที่ปรับลดลง


อย่างไรก็ดี รายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยจากธุรกิจหลักฟื้นตัว โดยเฉพาะจากธุรกิจที่เกี่ยวกับตลาดทุน สอดคล้องกับการฟื้นตัวของตลาดทุนไทย โดยค่าธรรมเนียมการซื้อขายหลักทรัพย์เพิ่มขึ้น 38.8% และค่าธรรมเนียมธุรกิจจัดการกองทุนเพิ่มขึ้น 4.3% นอกจากนี้ ธุรกิจธนาคารพาณิชย์ปรับตัวดีขึ้นเช่นกันที่ 1.1% จากธุรกิจนายหน้าประกันภัย ในขณะที่รายได้ดอกเบี้ยสุทธิทรงตัวจากไตรมาสก่อนหน้า


โดยมีต้นทุนทางการเงินปรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อยที่ 0.5% ด้านสำรองผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นลดลงจากไตรมาสก่อนหน้า กำไรต่อหุ้นขั้นพื้นฐาน (Basic earnings per share) สำหรับงวดไตรมาส 3 ปี 2567 เท่ากับ 2.14 บาทต่อหุ้น ลดลงจาก 2.34 บาทต่อหุ้นในไตรมาส 3 ของปีก่อนหน้า และจาก 2.19 บาทต่อหุ้นในไตรมาสก่อนหน้า ส่วนอัตราผลตอบแทนต่อผู้ถือหุ้นเฉลี่ย (ROAE) อยู่ที่ร้อยละ 16.6


สำหรับผลการดำเนินงานรวมของบริษัทงวด 9 เดือนแรกของปี 2567 กำไรสุทธิสำหรับผลประกอบการงวด 9 เดือนแรกของปี 2567 ของบริษัทมีจำนวน 5,199.47 ล้านบาท ลดลงจำนวน 321.48 ล้านบาท หรือลดลง 5.8% เมื่อเทียบกับงวด 9 เดือนแรกของปี 2566 สาเหตุหลักมาจากการตั้งสำรองผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นที่เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 0.6% ของยอดสินเชื่อเฉลี่ย ตามแผนการเพิ่มสำรองกลับสู่ระดับปกติ พร้อมทั้งรองรับความเสี่ยงของภาวะเศรษฐกิจที่ยังคงเปราะบาง


สำหรับรายได้รวมจากการดำเนินงานปรับตัวดีขึ้น 2.9% จากรายได้ดอกเบี้ยสุทธิที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.0 ตามการขยายตัวของสินเชื่อที่มีผลตอบแทนสูง ด้านรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.6 จากการรับรู้รายได้ค่าธรรมเนียมธุรกิจวาณิชธนกิจ และผลกำไรจากเครื่องมือทางการเงินที่วัดมูลค่าด้วยมูลค่ายุติธรรมผ่านกำไรหรือขาดทุน (FVTPL)


สำหรับผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น ค่าใช้จ่ายผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น (ECL) มีจำนวน 358.69 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากไตรมาส 3 ของปีก่อน แต่ลดลงจากไตรมาสก่อนหน้าและคิดเป็นอัตรา 0.6% ของยอดสินเชื่อเฉลี่ย โดยบริษัทตั้งสำรองเพิ่มขึ้นจากปีก่อน เป็นไปตามแผนกลยุทธ์การเพิ่มสำรองเพื่อกลับสู่ระดับปกติในปี 2568 รวมทั้งสะท้อนความเสี่ยงของภาวะเศรษฐกิจที่ยังคงเปราะบาง หนี้ครัวเรือนที่ยังคงอยู่ในระดับสูง และรองรับแผนการเติบโตของสินเชื่อในกลุ่มที่มีอัตราผลตอบแทนสูง สินเชื่อที่มีการด้อยค่าด้านเครดิต (NPLs) ทรงตัวจากไตรมาสก่อนหน้าที่ 2.44% และบริษัทมีอัตราส่วนค่าเผื่อผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นต่อหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (Coverage Ratio) อยู่ที่ 159.1%

นายศักดิ์ชัย พีชะพัฒน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มทิสโก้ (Mr. Sakchai Peechapat, Group Chief Executive, TISCO Financial Group Public Company Limited) เปิดเผยว่า ในช่วง 9 เดือนแรกของปีนี้ กลุ่มทิสโก้มีกำไรสุทธิ 5,199 ล้านบาท ลดลง 5.8% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยงวดไตรมาส 3/2567 มีกำไรสุทธิ 1,713 ล้านบาท ลดลง 8.6% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน สาเหตุจากการตั้งสำรองผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น (Expected Credit Loss - ECL) เพื่อรองรับความเสี่ยงจากเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวช้า และหนี้ครัวเรือนที่ทรงตัวในระดับสูง ซึ่งถือเป็นไปตามกลยุทธ์ที่วางไว้ขององค์กร นั่นคือ การมุ่งเน้นคุณภาพในการพิจารณาอนุมัติสินเชื่อ และดำเนินนโยบายการบริหารจัดการความเสี่ยงด้วยหลักความระมัดระวัง (Prudent) อย่างไรก็ดี บริษัทยังคงรักษาความสามารถในการสร้างอัตราผลตอบแทนต่อผู้ถือหุ้นเฉลี่ย (ROAE) ใน 9 เดือนแรกของปีที่ 16.5%

 

มองไปในระยะข้างหน้า ภาพรวมเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป นำโดยภาคการส่งออกสินค้าที่เป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญ การผลิตภาคอุตสาหกรรมและการลงทุนภาคเอกชนที่เริ่มฟื้นตัว แต่ต้องจับตาความท้าทายเรื่องหนี้ครัวเรือนอย่างใกล้ชิด จากปัญหาหนี้สะสมและรายได้ของประชาชนที่โตช้า และการด้อยลงของคุณภาพสินเชื่อ รวมถึงผลกระทบจากสถานการณ์น้ำท่วมที่ทำให้เกิดความยากลำบากต่อประชาชนในพื้นที่ยิ่งขึ้นไปอีก อย่างไรก็ดี คาดว่า ในปีนี้เศรษฐกิจไทยจะขยายตัวที่ระดับ 2.8%  

 


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ