เปิด 5 ข้อควรระวัง “เด็กจบใหม่” อยากรวยเร็ว จะเริ่มต้นลงทุนต้องรู้

Personal Finance

Banking & Bond

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

Tag

เปิด 5 ข้อควรระวัง “เด็กจบใหม่” อยากรวยเร็ว จะเริ่มต้นลงทุนต้องรู้

Date Time: 14 ต.ค. 2567 09:00 น.

Video

ล้วงไส้ TEMU อีคอมเมิร์ซจีน บุกไทย ทำไมอาจสร้างวิบากกรรมกว่าที่คิด ? | Digital Frontiers

Summary

  • สมาคมนักวางแผนการเงินไทย เผยแพร่บทความ “5 กับดักการลงทุนที่ First Jobbers ต้องระวัง” ทั้งนี้เพื่อช่วยปิดความเสี่ยงที่ชาว First Jobbers มักเจอบ่อย ๆ เพื่อสร้างความมั่งคั่งและช่วยให้มีโอกาสได้รับอิสรภาพทางการเงินได้อย่างรวดเร็ว

ปัจจุบันจำนวนนักลงทุนหน้าใหม่เติบโตเรื่อยๆ โดยเฉพาะในกลุ่มเด็กจบใหม่ที่เพิ่งเริ่มทำงาน หรือที่เรียกว่า “First Jobbers” เนื่องจากหลายคนมองหาโอกาสที่จะสร้างความมั่งคั่งและมีอิสรภาพทางการเงินให้ได้เร็วที่สุด เพื่อที่จะมีชีวิตที่ไม่มีข้อจำกัดด้านการเงินในอนาคต และความต้องการที่จะ “รวยเร็ว” ทำให้คนกลุ่มนี้ สนใจลงทุนอย่างจริงจังตั้งแต่เริ่มต้นทำงาน


แม้การเริ่มต้นลงทุนตั้งแต่อายุยังน้อย เป็นหนึ่งในวิธีที่ดีในการสร้างความมั่งคั่งระยะยาว จากสามารถสร้างผลตอบแทนทบต้นไปเรื่อยๆ แต่การลงทุนไม่ใช่เรื่องง่ายอย่างที่คิด เพราะมีความเสี่ยงที่มักจะมองข้ามไป ซึ่งถ้าไม่ระมัดระวังก็อาจทำให้เกิดความเสียหายได้


สมาคมนักวางแผนการเงินไทย ได้เผยแพร่บทความ “5 กับดักการลงทุนที่ First Jobbers ต้องระวัง” ทั้งนี้เพื่อช่วยปิดความเสี่ยงที่ชาว First Jobbers มักเจอบ่อย ๆ เพื่อสร้างความมั่งคั่งและช่วยให้มีโอกาสได้รับอิสรภาพทางการเงินได้อย่างรวดเร็ว ดังนี้


1.ไม่มีเป้าหมายทางการเงินที่ชัดเจน

หลายคนมีความตั้งใจจะออมเงิน แต่เมื่อถึงสิ้นเดือนกลับพบว่าเงินหมดไปกับค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น ซึ่งเป็นปัญหาของการไม่มีเป้าหมายทางการเงินที่ชัดเจน ดังนั้น เราจะต้อง “ตั้งเป้าหมายทางการเงิน” ซึ่งอาจใช้เทคนิคเรียกว่า บอร์ดภาพเป้าหมาย (Vision Board) ทำได้โดยรวบรวมภาพ คำคม หรือสัญลักษณ์ที่แทนเป้าหมายของตัวเอง แล้วจัดวางบนบอร์ดหรือในรูปแบบดิจิทัล

โดยเทคนิคนี้ จะช่วยสร้างความชัดเจนทำให้การวางแผนทำได้ง่ายและตรงจุดมากขึ้น และสามารถเพิ่มแรงจูงใจ ทำให้มีกำลังใจในการออมและลงทุนอย่างต่อเนื่อง แม้ในช่วงที่ต้องเผชิญความท้าทาย รวมถึงช่วยปรับเปลี่ยนพฤติกรรม และสามารถจัดลำดับความสำคัญได้ดีขึ้นด้วย

ที่สำคัญควรทบทวนเป้าหมายเป็นระยะ อย่างน้อยทุก 6 เดือน เพราะชีวิตอาจเปลี่ยนแปลง และเป้าหมายก็อาจต้องปรับเปลี่ยนตามไปด้วย การมีเป้าหมายที่ชัดเจนจะช่วยให้มีทิศทางในการจัดการเงิน และทำให้การลงทุนมีประสิทธิภาพมากขึ้น


2.ลงทุนโดยไม่มีความรู้เพียงพอ

การลงทุนโดยไม่ระมัดวัง อาจเกิดความผิดพลาดและอาจสูญเสียเงินลงทุนทั้งหมด ดังนั้น การศึกษาหาความรู้ก่อนลงทุนเป็นเรื่องสำคัญ เริ่มต้นด้วยการทำความเข้าใจพื้นฐานการลงทุน เช่น ความเสี่ยงและผลตอบแทนของสินทรัพย์แต่ละประเภท การกระจายความเสี่ยง และการลงทุนแบบสม่ำเสมอต้นทุนเฉลี่ย (DCA)

นอกจากนี้ การเข้าใจจิตวิทยาการลงทุนก็สำคัญไม่แพ้กัน เพราะจะช่วยให้เข้าใจกลไกการตัดสินใจได้ดีขึ้น รวมถึงการติดตามข่าวสารเศรษฐกิจอยู่เสมอ ที่สำคัญ ถ้ารู้สึกว่ายังไม่พร้อมก็ไม่ต้องรีบร้อนลงทุน สามารถเริ่มต้นด้วยการออมในบัญชีเงินฝาก ระหว่างนั้นก็ค่อย ๆ สะสมความรู้ไป เมื่อพร้อมแล้วค่อยเริ่มลงทุนจริงก็ไม่สาย


3.ไม่กระจายความเสี่ยง

“อย่าใส่ไข่ไว้ในตะกร้าใบเดียว” ถือเป็นหัวใจของการกระจายความเสี่ยงในการลงทุน แต่ชาว First Jobbers อาจมองข้ามความสำคัญของเรื่องนี้ เพราะหากลงทุนโดยไม่กระจายความเสี่ยง อาจทำให้สูญเสียเงินลงทุนทั้งหมด โดยสามารถทำได้ ดังนี้

  • กระจายประเภทสินทรัพย์ - แบ่งเงินลงทุนไปในสินทรัพย์หลายประเภท เพราะแต่ละประเภทมีความเสี่ยงและผลตอบแทนต่างกัน การผสมผสานจะช่วยลดความผันผวนได้
  • กระจายภูมิภาค - ลงทุนในหลายประเทศหรือภูมิภาค เพื่อลดความเสี่ยงจากปัญหาเศรษฐกิจหรือการเมืองในประเทศใดประเทศหนึ่ง
  • กระจายอุตสาหกรรม - เพราะแต่ละอุตสาหกรรมมีวงจรธุรกิจต่างกัน บางช่วงอุตสาหกรรมหนึ่งเติบโต ในขณะที่อีกอุตสาหกรรมซบเซา ซึ่งจะช่วยรักษาสมดุลให้พอร์ตลงทุน
  • กระจายระยะเวลา - ใช้วิธีการลงทุนแบบ DCA โดยทยอยลงทุนสม่ำเสมอ แทนที่จะลงทุนครั้งเดียวทั้งก้อน วิธีนี้จะช่วยลดความเสี่ยงจากการจับจังหวะตลาดผิดพลาด

4.ใจร้อนและตัดสินใจด้วยอารมณ์

เมื่อเห็นราคาหุ้นตัวหนึ่งกำลังปรับขึ้นอย่างรวดเร็ว ก็ตัดสินใจเข้าซื้อทันทีด้วยความตื่นเต้น หรือแม้แต่การซื้อหุ้น 2 ตัวเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา วันนี้ราคาหุ้นปรับลดลงอย่างรวดเร็ว ก็รีบขายออกทั้งหมดด้วยความกลัว โดยสองกรณีดังกล่าว เป็นการตัดสินใจลงทุนด้วยอารมณ์ ซึ่งเป็นหนึ่งในข้อผิดพลาดที่พบเห็นได้บ่อย ๆ

ผลลัพธ์ของการลงทุนด้วยอารมณ์มักจะมีโอกาสที่จะเกิดผลขาดทุนได้สูง หรือพลาดโอกาสสร้างผลตอบแทนที่ดี ดังนั้น การลงทุนที่ประสบความสำเร็จในระยะยาวจะต้องควบคุมอารมณ์ให้ได้


5.ละเลยการวางแผนภาษีและประกัน

ควรให้ความสำคัญกับการวางแผนภาษีและประกันควบคู่ไปกับการลงทุนในสินทรัพย์ต่าง ๆ เพราะถือเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะช่วยปกป้องความมั่งคั่งที่ตัวเองสร้างขึ้นและเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารการเงิน

สำหรับการวางแผนภาษีผ่านการลงทุนนั้น จะต้องรู้จักสิทธิประโยชน์ทางภาษี เช่น การลงทุนในกองทุน SSF และ RMF แต่ต้องระวังเงื่อนไขการถือครองด้วย ขณะเดียวกันก็สามารถลดหย่อนด้วยเงินบริจาคกรณีต่าง ๆ แต่อย่าลืมว่าจะต้องศึกษาสิทธิหักค่าลดหย่อนภาษีกรณีพิเศษจากภาครัฐ ติดตามการเปลี่ยนแปลงกฎหมายภาษีด้วย

ส่วนการวางแผนประกัน อาจศึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับประกันชีวิต ประกันสุขภาพประกันอุบัติเหตุ และประกันทรัพย์สิน เพราะสามารถช่วยสร้างความมั่นคง ในกรณีเกิดเหตุไม่คาดฝัน ซึ่งอาจกระทบกับแผนการลงทุนของตัวเองได้


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ