Good Partner "คู่หูทนายตัวแม่" ซีรีส์สะท้อนสถาบันครอบครัว ไขปมหย่าร้าง เตรียมพร้อมอย่างไรก่อนหย่า

Personal Finance

Banking & Bond

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

Tag

Good Partner "คู่หูทนายตัวแม่" ซีรีส์สะท้อนสถาบันครอบครัว ไขปมหย่าร้าง เตรียมพร้อมอย่างไรก่อนหย่า

Date Time: 23 ก.ย. 2567 16:05 น.

Video

เศรษฐกิจไทย เสี่ยงวิกฤติหนักแค่ไหน เมื่อต้องเปลี่ยนนายกฯ | Money Issue

Summary

  • สุดท้ายแล้วเราจะเป็นคนรัก หรือเป็นแค่คนรู้จัก ? ถอดข้อคิดวางแผนทางการเงินอย่างไร "ก่อนหย่า" ผ่านมุมมองซีรีส์อาชีพทนายความ Good Partner "คู่หูทนายตัวแม่" เมื่อสถาบันครอบครัวไม่ได้เป็นอย่างที่คิด ไขปมหย่าร้าง! 10 ปี คนไทยเตียงหักพุ่ง 1.3 ล้านคู่ สาเหตุหลักอันดับหนึ่ง "ความรุนแรงในครอบครัว"

Latest


สุดท้ายเราอาจกลายเป็นแค่ “คนอื่น” เมื่อรักหมดอายุ ความสัมพันธ์สิ้นสุดที่การ “หย่า” 

ในโลกใบนี้มีผู้คนมากมายมาพบเจอกันจนสมัครรักใคร่ และสร้างครอบครัวด้วยกันในที่สุด แต่เมื่อระยะเวลาผ่านไป…คำว่าตลอดไปไม่มีอยู่จริง ความรักมันสุดทาง คงไม่มีอะไรจะชัดเจนไปมากกว่าการ “หย่าร้าง” 

แต่การหย่าร้างในที่นี้หลายคนอาจจะมองว่าเป็นแค่การที่คนสองคน ไปเซ็นเอกสารแล้วแยกทาง ขณะที่ในอีกมุมหนึ่งมันอาจไม่ง่ายเช่นนั้น เพราะการหย่ากัน (ไม่) ดีก็มีถมเถไป ซึ่งในที่นี้ต้องมี “คนกลาง” มาคอยไกล่เกลี่ย และดูเหมือนกันว่า คงเป็นใครไปไม่ได้นอกซะจาก “ทนายความ” 

Good Partner คู่หูทนายตัวแม่ ที่ต่อสู้ด้วยกฎหมาย

เหมือนดังเช่นซีรีส์อาชีพน้ำดีอีกเรื่องหนึ่งของ viu “Good Partner คู่หูทนายตัวแม่” ที่ไม่ใช่ละครตบตีแย่งชิงแบบเมียหลวง เมียน้อย แต่กลับต่อสู้กันด้วยกฎหมายในสไตล์ Courtroom Drama ที่ว่าด้วยการพิจารณาคดีในชั้นศาล ฟาดฟัน ชิงไหวชิงพริบที่เกี่ยวเนื่องกับกฎหมาย  

โดยเป็นการนำเสนอเรื่องราวของ “ชาอึนคยอง” ทนายหย่าแห่งชาติ ผู้ขึ้นชื่อในเรื่องอัตราการชนะคดีที่ยอดเยี่ยม เธอทำคดีด้วยความสุขุมมีระเบียบแบบแผน และการตัดสินใจตามสัญชาตญาณของเธอก็ทำให้เธอเป็นมือหนึ่งในวงการ 

รวมทั้งเรื่องราวของ “ฮันยูริ” ทนายมือใหม่ที่เข้าร่วมงานกับสำนักงานกฎหมายแทจองในฐานะผู้สมัครตัวท็อป เธออยากทำงานในแผนกองค์กร แต่กลับได้รับมอบหมายให้ไปอยู่แผนก “คดีหย่าร้าง” ซึ่งเป็นแผนกที่เธออยากเลี่ยงสุด ๆ ทั้งสองตัวละครดูจะเข้ากันไม่ได้ในตอนแรกเริ่ม แต่พวกเธอต้องมาทำงานด้วยกันเพื่อบรรลุเป้าหมายนั่นคือการชนะคดี จนกลายมาเป็นคู่หูที่ยอดเยี่ยม และหนึ่งในคดีมหากาพย์คือ การฟ้องหย่าของ ลูกความอย่าง “ทนายชาอึนคยอง” นั่นเอง สะท้อนให้เห็นว่า “การหย่า” ไม่ได้เป็นเรื่องที่เลวร้ายหรือเป็นตราบาปติดตัว มันก็แค่การจบความสัมพันธ์ของคนสองคนที่ไม่สามารถไปกันต่อได้เท่านั้นเอง

และด้วยความเข้มข้นของเนื้อหา บวกกับคดีหย่าร้างที่ไม่ใช่แค่เรื่องของมือที่สาม ก็ทำให้ EP.1 คว้าเรตติ้งสุดหรูเฉลี่ยทั่วประเทศสูงถึง 7.8% ขณะที่ EP. 2 ล่าสุดเรตติ้งสูงถึง 8.7% คิดเป็นจำนวนผู้ชมสดทางโทรทัศน์ในเกาหลีใต้ถึง 1.551 ล้านคน เลยทีเดียว

คนไทยหย่าร้างพุ่ง 10 ปี กว่า 1.3 ล้านคู่

ดังนั้นคงปฏิเสธไม่ได้ว่า “คนเดี๋ยวนี้เลิกกันง่าย” ไม่ใช่ “คำพูดลอยลม” อีกต่อไป เพราะจากสถิติสำนักทะเบียนราษฎร กรมการปกครอง เปิดเผยตัวเลขพบว่า ภายในระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมา ตั้งแต่ปี 2555-2565 คนไทยเตียงหัก มีการจดทะเบียนหย่ามากกว่า 1.3 ล้านคู่ โดยกรุงเทพฯ ครองแชมป์หย่ามากที่สุด 

และส่วนใหญ่ปัจจัยหลักในการ “หย่าร้าง” ของไทยมากที่สุด อันดับ 1 มาจาก “ความรุนแรงในครอบครัว” ถึงแม้จะพยายามไกล่เกลี่ยแล้ว จนไม่สามารถอยู่ร่วมกันได้ อันดับ 2 “นอกใจ” มีกิ๊ก มีเมียน้อย และยกย่องคนใหม่ ซึ่งสถิติใกล้เคียงกับ “ความรุนแรงในครอบครัว” ส่วนอันดับ 3 คือ ไม่รับผิดชอบ ไม่ดูแลครอบครัว ขณะที่อันดับ 4 คือ ปัญหายาเสพติด ซึ่งปัญหานี้มักบานปลายด้วยการทำร้ายร่างกายคู่รักร่วมด้วย

และเมื่อเกิดจุดแตกหัก รักร้าว ครอบครัวกำลังเผชิญกับคำว่าหย่าร้าง หากไม่ได้เตรียมพร้อมสร้างความมั่นใจทางด้านการเงิน ซึ่งเป็นรากฐานสำคัญไม่แพ้ความรักความอบอุ่นที่พ่อหรือแม่เลี้ยงเดี่ยวควรมี ให้กับลูกๆ อาจทำให้ความสามารถในการสร้างรายได้เพื่อเลี้ยงดูบุตรสะดุดลง และอาจกลายเป็นปัญหาใหญ่ของครอบครัวได้ในอนาคต

ดังนั้นเราจะเตรียมความพร้อมทางการเงินอย่างไรดี "ก่อนหย่า" 

  1. รวบรวมรายการทรัพย์สินและหนี้สินทั้งหมด ทั้งที่เป็นสินส่วนตัวและสินสมรส ไม่ว่าจะเป็นเงินฝาก เงินลงทุนทุกรูปแบบ ที่ดิน อาคาร รถยนต์ รายการหนี้สิน รวมไปถึงประวัติการใช้ สินเชื่อ ของตัวเองและคู่สมรส ควรมีสำเนาหลักฐานให้ครบถ้วน ก่อนเริ่มการเจรจาใดๆ ก็ตามเกี่ยวกับการแบ่งสินทรัพย์

  2. ในกรณีที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่ได้มีรายได้ประจำ หรือต้องพึ่งพารายได้จากอีกฝ่าย อาจทำให้คุณไม่มี statement หรือหลักฐานทางการเงินที่มั่นคงมากพอที่จะทำธุรกรรมทางการเงินกับสถาบันการเงินต่างๆ ได้ ดังนั้นคุณต้องสร้างเครดิตทางการเงินในชื่อตัวเอง ด้วยการเปิดบัญชีธนาคาร ทำบัตรเครดิต หรือบัญชีซื้อขายหลักทรัพย์เป็นส่วนตัวให้เสร็จก่อนแยกทางกันอย่างเป็นทางการ นอกจากนี้สิ่งสำคัญที่ต้องตรวจสอบ คือ อีกฝ่ายแอบนำบัญชีร่วมที่เปิดร่วมกันไปค้ำประกันหนี้ใดๆ ไว้หรือไม่

  3. แบ่งสินทรัพย์อย่างเป็นธรรม ซึ่งสินทรัพย์ที่จะนำมาแบ่งกัน คือ ‘สินสมรส’ จะต้องแบ่งกันคนละครึ่ง ซึ่งสินสมรส คือ ทรัพย์สินที่คู่สมรสได้มาระหว่างการสมรส ทรัพย์สินที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้มาโดยพินัยกรรม โดยระบุว่าให้เป็นสินสมรสและทรัพย์สินที่เป็นดอกผลจากสินส่วนตัว เช่น ภรรยามีเงินฝากธนาคาร 1 ล้านบาทก่อนจดทะเบียนสมรส เงินต้นถือเป็นสินส่วนตัวของภรรยา แต่ดอกเบี้ยที่ได้รับหลังจากจดทะเบียนสมรสถือเป็นสินสมรส ซึ่งสามีจะเป็นเจ้าของด้วยครึ่งหนึ่ง เป็นต้น

  4. นอกจากจะแบ่งสินสมรสกันแล้ว ยังต้องแบ่งหนี้สินกันด้วย เช่น หนี้จดจำนอง (หนี้บ้าน) หนี้บัตรเครดิต และหนี้ผ่อนรถ เป็นต้น ต้องแบ่งให้ชัดเจน ซึ่งในการเจรจาแบ่งทรัพย์สิน คู่หย่าสามารถ ตกลงชำระหนี้กันก่อนหรือแลกทรัพย์สินบางรายการกับหนี้ หรือแบ่งภาระหนี้กันได้

  5. เมื่อตกลงแบ่งสินทรัพย์แล้ว ให้ปิดบัญชีหรือบัตรเครดิต หรือการลงทุนใดๆ ที่ทำร่วมกัน เพื่อเลี่ยงไม่ให้เกิดภาระทางการเงินร่วมกันอีก

  6. ปรับเงื่อนไขผู้รับผลประโยชน์ต่างๆ เพราะหากไม่เปลี่ยนแปลงชื่อผู้รับผลประโยชน์ ไม่ว่าจะเป็นผลประโยชน์ในพินัยกรรม หุ้นส่วน หลักทรัพย์ในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ กองทุนบำเหน็จบำนาญหรือประกันชีวิต อดีตสามีหรือภรรยาอาจยึดทุกอย่างที่เป็นของคุณ ในกรณีที่คุณเกิดเสียชีวิตอย่างกะทันหัน แต่ตราบใดที่คุณยังมีชีวิตอยู่ ระหว่างเดินเรื่องขอหย่า ให้ถือเป็นเวลาที่ดีที่จะทบทวนแผนการเงินและเงื่อนไขในเอกสารการเงินต่างๆ เพื่อให้แน่ใจได้ว่าเงื่อนไขในเอกสารทุกอย่างลงตัวกับชีวิตใหม่

  7. ทบทวนสวัสดิการประกันชีวิตและประกันสุขภาพของตัวเองและลูกๆ ว่าการหย่าร้าง ได้นำมาสู่สวัสดิการประกันชีวิตและประกันสุขภาพที่น้อยลงหรือไม่ เพราะหากเคยได้สวัสดิการดังกล่าว ผ่านสวัสดิการจากที่ทำงานของคู่สมรส เมื่อหย่าร้างกันแล้ว ก็จะไม่ได้รับสิทธิดังกล่าวอีกต่อไป จึงต้องเตรียมการสำหรับเรื่องนี้ด้วย

  8. พิจารณา ‘สิทธิในการเลี้ยงดูบุตร’ อย่างรอบคอบ เพราะเป็นอีกเรื่องที่ทำให้เกิดภาวะกระอักกระอ่วนใจ ทำร้ายความรู้สึกกันอย่างหนักหนาสาหัส

  9. สำหรับค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรนั้นศาลจะกำหนดให้โดยคำนึงถึงฐานะทางการเงินและรายได้ของบิดามารดาและบุตร

  10. เริ่มต้น วางแผนการเงิน ใหม่ เพราะสถานภาพสมรสเปลี่ยนไปแล้ว

  11. สุดท้ายควรปรึกษาทนายความ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากมีบุตรหรือสินทรัพย์จำนวนมาก การได้ผู้เชี่ยวชาญทางกฎหมายมาช่วย จะทำให้การหย่าร้างถูกต้องตามขั้นตอนและไม่ผิดพลาด

อ้างอิง SCB


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ