ปฏิเสธไม่ได้ว่าทุกวันนี้การเลือกสังคมให้ “ลูก” มักจะเริ่มตั้งแต่ “โรงเรียน” ด้วยความเชื่อที่ว่า นอกจากสถาบันครอบครัว การเลือกสภาพแวดล้อมที่ดี ครูอาจารย์ สังคมเพื่อนฝูง ล้วนมีผลต่อเด็ก ซึ่งจะเกิดการซึมซับ หล่อหลอมนิสัยใจคอไปจนถึงฝังเป็นทัศนคติของเขาด้วย นั่นจึงเป็นเหตุผลที่ว่า “เรียนที่ไหนก็ไม่เหมือนกัน”
จึงไม่แปลกที่แนวคิด “ซื้อสังคมให้ลูก” จะถูกนำมาใช้อย่างมากในปัจจุบัน โดยพ่อแม่ส่วนใหญ่ เชื่อว่ามันสามารถป้องกันปัญหาต่างๆ ได้ถึง 70-80% เลยทีเดียว
แต่กระนั้นการเลือกโรงเรียนให้ลูกไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะทุกวันนี้มีตัวเลือกและรูปแบบการศึกษาที่หลากหลาย พ่อแม่ผู้ปกครองจึงต้องหาข้อมูล เพื่อเปรียบเทียบและตัดสินใจในสิ่งที่เหมาะที่สุดสำหรับลูก เหมาะกับสถานการณ์ของครอบครัว และเหมาะกับสภาวการณ์ต่าง ๆ รอบตัว และโรงเรียนที่ดูเหมือนจะตอบโจทย์ พ่อแม่ ผู้ปกครองในยุคนี้มากที่สุด คงหนีไม่พ้น “โรงเรียนนานาชาติ” นั่นจึงหมายความว่าเทรนด์การส่งลูกเรียนโรงเรียนอินเตอร์ฯ กำลังเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ในสังคมไทย
สอดคล้องกับข้อมูลของ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ที่ระบุว่า ธุรกิจโรงเรียนนานาชาติในไทยยังคงเติบโตสวนทางกับภาพรวมจำนวนนักเรียนและโรงเรียนในไทยที่มีการหดตัวตามแนวโน้มของสถิติการเกิดที่ลดลง เนื่องจากปัจจุบันความนิยมในหลักสูตรการศึกษาต่างประเทศนั้นเพิ่มขึ้น และจำนวนผู้ปกครองที่มีศักยภาพในการลงทุนด้านการศึกษาสูงขึ้น ทำให้ความนิยมโรงเรียนนานาชาติมีการเติบโตอย่างเห็นได้ชัด
โดยในปี 2567 คาดว่าตลาดโรงเรียนนานาชาติจะเติบโต 13% จากปีก่อนหน้า และมีมูลค่ามากกว่า 8 หมื่นล้านบาท โดยมีแรงหนุนมาจากจำนวนนักเรียนและโรงเรียนนานาชาติที่เพิ่มขึ้น รวมถึงค่าเล่าเรียนที่มีการปรับตัวสูงขึ้เฉลี่ย 3.8% จากปีการศึกษา 2566
ทั้งนี้หากดูโครงสร้างกิจการโรงเรียนในประเทศไทย แบ่งออกเป็น 2 กลุ่มหลัก ได้แก่ โรงเรียนนานาชาติ กับ โรงเรียนเอกชนหลักสูตรไทย และกลุ่มโรงเรียนรัฐบาลที่อยู่ภายใต้การดูแลของภาครัฐ และเมื่อพิจารณาจากสถิติการเกิดท่ีมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ จำนวนนักเรียนมีแนวโน้มลดลงด้วย
โดยในระหว่างปี 2555-2567 จำนวนการเกิดลดลงเฉลี่ยต่อปีอยู่ที่ 4.5% ในขณะที่อัตราการลดลงของภาพรวมจำนวนนักเรียนในระบบทั้งหมดอยู่ที่ 0.9% แต่กระนั้น จำนวนนักเรียนโรงเรียนนานาชาติกลับมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยต่อปีที่ 6.9% แม้ว่าในปีการศึกษา 2567 จำนวนนักเรียนในไทยจะลดลง 1.7% จากปีก่อนหน้า ก็ตาม แต่จำนวนนักเรียนโรงเรียนนานาชาติกลับเพิ่มขึ้นถึง 10.2%
ส่วนแนวโน้มการเพิ่มขึ้นของนักเรียนโรงเรียนนานาชาติในไทยเกิดจากหลายปัจจัย หนึ่งในนั้นคือการเพิ่มขึ้นของนักเรียนต่างชาติที่สอดคล้องกับจำนวนชาวต่างชาติในตำแหน่งผู้บริหารที่เข้ามาทำงานในไทย ที่เติบโตเฉลี่ยปีละ 0.6% ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา นอกจากนี้ ความนิยมในหลักสูตรการศึกษาต่างประเทศที่เพิ่มขึ้นเนื่องจากมีการพัฒนาหลักสูตรให้ทันสมัยและทันการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอเมื่อเทียบกับหลักสูตรไทย
รวมไปถึงศักยภาพการลงทุนด้านการศึกษาของผู้ปกครองที่สูงขึ้น สะท้อนจากคาดการณ์จำนวนคนที่มีทรัพย์สินมากกว่า 1 ล้านดอลลาร์ฯ หรือประมาณ 34 ล้านบาท ในไทยจะเพิ่มขึ้น 24% ระหว่างปี 2566-2571 ซึ่งนับเป็นปัจจัยหลักที่หนุนการเติบโตของจำนวนนักเรียนโรงเรียนนานาชาติ
ขณะที่จำนวนโรงเรียนในไทย ปี 2567 ลดลงถึง 0.5% จากปีก่อนหน้า แตะ 33,098 โรงเรียน แต่หากเทียบกับปีการศึกษา 2555 จะหดตัวถึง 6.6% หรือคิดเป็นราว 2,355 โรงเรียน
เนื่องจากภาพรวมจำนวนนักเรียนที่มีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง ทำให้ในระหว่างปีการศึกษา 2555-2567 เกิดการทยอยปิดตัวของโรงเรียน โดยโรงเรียนรัฐบาลมีอัตราการลดลงเฉลี่ย 0.6% ต่อปี รวมไปถึงโรงเรียน เอกชนหลักสูตรไทยก็มีแนวโน้มลดลงเช่นกัน เฉลี่ย 0.7% ต่อปี ในทางตรงข้ามจำนวนโรงเรียนนานาชาติกลับเติบโตเฉลี่ย 5.0% ต่อปี
ทั้งนี้หากดูภาพรวมการแข่งขันของโรงเรียนนานาชาติ จะพบว่ามีแนวโน้มขยายตัวสู่นอกกรุงเทพฯ มากขึ้น ในช่วงปี 2555-2567 อัตราการเติบโตเฉลี่ยต่อปีของจำนวนนักเรียนและจำนวนโรงเรียนนานาชาติที่ตั้งในภูมิภาคอื่น จะสูงกว่าของกรุงเทพฯ ถึง 4.3% และ 6.3% ตามลำดับ
ดังนั้นธุรกิจโรงเรียนนานาชาติอาจต้องสำรวจตลาดใหม่ๆ ในหัวเมืองหลัก เช่น เชียงใหม่ ระยอง และภูเก็ต เป็นต้น เพราะจากแนวโน้มนี้แสดงให้เห็นโอกาสขยายธุรกิจโรงเรียนนานาชาติไปยังพื้นที่นอกกรุงเทพฯ โดยเฉพาะภาคกลาง และตะวันออก ซึ่งน่าจะเป็นตลาดศักยภาพ เพราะมีจำนวนครัวเรือนรายได้เกิน 100,000 บาทต่อเดือน รองจากกรุงเทพฯ และปริมณฑล
อย่างไรก็ตาม ความเสี่ยงของธุรกิจโรงเรียนนานาชาติใช่ว่าจะไม่มี เพราะต้องเผชิญกับความเสี่ยงจากการเพิ่มขึ้นของค่าเล่าเรียน การแข่งขันกับโรงเรียนเอกชนหลักสูตรไทยและการพัฒนาทางเทคโนโลยีทำให้การเรียนโฮมสคูลง่ายขึ้น โดยค่าใช้จ่ายในการสอบ GED (เทียบวุฒิมัธยมปลายของสหรัฐฯ) รวมกับค่ากวดวิชาแบบเรียนตัวต่อตัว 100 ชั่วโมง จะอยู่ที่ประมาณ 160,800 บาท
โดยค่าเล่าเรียนเฉลี่ยต่อปีของโรงเรียนนานาชาติในประเทศไทยอยู่ที่ 764,484 บาท ในขณะที่ค่าเล่าเรียนเฉลี่ยต่อปีของโรงเรียนประจำในนิวซีแลนด์อยู่ที่ประมาณ 1,150,208 บาท
รวมทั้งโรงเรียนนานาชาติอาจเผชิญกับความท้าทายจากการแข่งขันกับโรงเรียนเอกชนหลักสูตรไทยที่พัฒนาคุณภาพและมีค่าใช้จ่ายต่ำกว่า ผู้ปกครองอาจตัดสินใจเปลี่ยนไปเลือกโรงเรียนเอกชน หลักสูตรไทยที่มีการเปิดสอนโปรแกรมภาษาอังกฤษ และสอนหลายภาษา เช่น ไทย อังกฤษ และจีน เป็นต้น ซึ่งท้าทายจุดแข็งของโรงเรียนนานาชาติในด้านภาษา
ฉะนั้นแม้ว่าการเลือกสังคมให้ลูกผ่านการเลือก “โรงเรียน” จะเป็นสิ่งสำคัญก็ตาม แต่ข้อหลักที่พ่อแม่ ผู้ปกครอง จะต้องพิจารณาตามมาคือ ความสามารถในการ “จ่ายไหว” และสิ่งที่ลูก “ต้องการ” มากกว่า
อ้างอิง ศูนย์วิจัยกสิกรไทย, True ID