สรุปจบแบบเข้าใจง่าย! เมื่อถูกเรียกเก็บภาษีย้อนหลัง ต้องทำอย่างไรบ้าง? ดื้อไม่จ่าย ระวังเจอปรับอ่วม

Personal Finance

Banking & Bond

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

Tag

สรุปจบแบบเข้าใจง่าย! เมื่อถูกเรียกเก็บภาษีย้อนหลัง ต้องทำอย่างไรบ้าง? ดื้อไม่จ่าย ระวังเจอปรับอ่วม

Date Time: 2 ก.ย. 2567 11:20 น.

Video

3 มาตรการใหม่ ตลาดหลักทรัพย์ฯ คุมหุ้นร้อนผิดปกติ | Money Issue

Summary

  • “ภาษี” หนีอย่างไรก็ไม่พ้น เมื่อไม่มีทางรอด สายตากรรมสรรพากรไปได้ เปิดวิธี เมื่อถูกเรียกเก็บภาษีย้อนหลัง ต้องทำอย่างไรบ้าง ? ทั้งไม่ยื่นแบบภาษี หรือ จ่ายภาษีไม่ถูกต้อง มีทางแก้ ก่อนเจอปรับหลายเท่าตัว

Latest


ว่ากันว่า โลกนี้ไม่มีอะไรแน่นอน นอกจาก “ภาษี” และ “ความตาย” ซึ่งเป็น 2 สิ่งที่ทำอย่างไรก็หนีไม่พ้น ไม่ว่าจะเป็นการจงใจหลีกเลี่ยงการจ่ายภาษี หรือยื่นแบบปกปิด จ่ายไม่ครบก็ตาม ไม่ว่ากรณีไหนก็ไม่อาจหลุดรอดสายตากรมสรรพากรไทยไปได้

ขณะช่วงนี้ เรียกได้ว่าเป็นเทศกาลเช็กบิลเรียกเก็บภาษีย้อนหลังของกรมสรรพากร โดยเฉพาะในกลุ่มพ่อค้า-แม่ค้าออนไลน์ ที่ออกมาโพสต์ให้ข้อมูลแสดงตนเป็นจำนวนมาก โดยบางรายโดนเรียกเก็บภาษีย้อนหลังนับ 5 ล้านบาท หลังกรมสรรพากรมีนโยบายเอาจริงเอาจัง เรียกตรวจสอบพ่อค้าแม่ค้า หรือผู้มีเงินได้พึงประเมินเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด ตอกย้ำคำฮิตติดแซว: สรรพากรมาช้าแต่มานะ!

ทั้งนี้ สำหรับผู้ที่ตกอยู่ในชะตากรรมนี้ คงมีคำถามว่า เมื่อถูกเรียกเก็บภาษีย้อนหลัง ต้องทำอย่างไร? ในบทความนี้ Thairath Money จะช่วยไขข้อข้องใจ โดยอ้างอิงข้อมูลอธิบายฉบับเข้าใจง่ายจาก บมจ.ธรรมนิติ บริษัทที่ปรึกษาด้านกฎหมายและการวางแผนภาษีชื่อดัง

ทำไมถึงโดนเรียกเก็บภาษีย้อนหลัง?

การที่โดนเรียกเก็บภาษีย้อนหลัง สันนิษฐานได้ว่า มาจาก 2 กรณี คือ

  1. ยังไม่ได้จ่ายภาษี
  2. จ่ายภาษีไม่ถูกต้อง

ซึ่งการจ่ายภาษีไม่ถูกต้องจะมีความซับซ้อนกว่า เพราะอาจเป็นได้หลายกรณี ทั้งการจ่ายภาษีไม่ครบ ระบุรายได้ และคำนวณภาษีที่ต้องจ่ายไม่ถูกต้อง หรือหนักสุดไปจนถึงการตั้งใจจะหลีกเลี่ยงภาษี ซึ่งบริษัทกฎหมายดังกล่าวชี้ ไม่ว่าจะเป็นกรณีไหนก็ตาม ไม่มีทางรอดสายตาของกรมสรรพากรไปได้เลย

ส่องวิธีการตรวจสอบภาษีย้อนหลังของกรมสรรพากร

  • การออกตรวจเยี่ยมผู้เสียภาษีด้วยตัวเอง
  • การตรวจนับสต็อกสินค้า
  • การสอบยันยอดใบกำกับ
  • การตรวจสอบการคืนภาษี
  • การตรวจค้น ใช้ในกรณีที่สงสัยว่ามีการหลีกเลี่ยงภาษีจำนวนมาก
  • การออกหมายเรียกตรวจสอบ

6 ข้อต้องทำ เมื่อสรรพากรเรียกพบ ต้องเตรียมตัวอย่างไร?

  1. เตรียมเอกสารตามที่เจ้าหน้าที่ระบุ อาจขอเวลาในการจัดทำเพิ่มเติมแล้วส่งให้ภายหลังได้
  2. อย่าเตรียมเอกสารมากเกินความจำเป็น เพราะเอกสารบางอย่างอาจนำไปสู่ประเด็นที่ไม่อยากนำเสนอ หรือไม่อยากให้ตรวจสอบ
  3. หากมีประเด็นผิดพลาดจริง จนทำให้เกิดเบี้ยปรับเงินเพิ่ม ควรปรึกษาผู้เชี่ยวชาญด้านภาษี
  4. กรณีที่ผิดจริง สามารถยื่นคำร้องขอลดเบี้ยปรับจากความผิดพลาดในการคำนวณได้
  5. หากไม่เป็นไปตามหลักการจริง ๆ สามารถใช้สิทธิยื่นอุทธรณ์ได้
  6. ถ้าเบี้ยปรับสูงและชำระไม่ได้ในครั้งเดียว สามารถขอผ่อนชำระได้

การตรวจสอบภาษีย้อนหลังมีอายุความเท่าไหร่?

บมจ.ธรรมนิติ ไขข้อข้องใจเรื่องภาษีว่า การเรียกเก็บภาษีย้อนหลังของบุคคลธรรมดาและนิติบุคคล มีอายุความตามหมายเรียกภายใน 2 ปี นับจากวันที่ยื่นภาษี

ทั้งนี้ หากมีหลักฐานว่าบุคคลธรรมดาและนิติบุคคลนั้น ๆ จงใจหลีกเลี่ยงการจ่ายภาษีจริง จะสามารถขยายเวลาอายุความออกไปได้ถึง 5 ปี

โดยผู้ที่ไม่ได้ยื่นแบบภาษี หรือแบบแสดงรายการเสียภาษีเลย และถูกตรวจสอบพบภายหลัง ก็จะมีการเรียกเก็บภาษีย้อนหลังเช่นกัน โดยจะยึดตามระยะเวลาอายุความทั่วไป ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นระยะเวลา 10 ปี

เปิดบทลงโทษกรณียื่นภาษีไม่ถูกต้อง

1.ยื่นแบบภาษีทันกำหนด แต่จ่ายภาษีไม่ครบ มีค่าปรับ ดังนี้ 

  • เสียเบี้ยปรับ 0.5-1 เท่าของภาษีที่ต้องจ่าย
  • เสียเงินเพิ่ม 1.5% ต่อเดือนของภาษีที่ต้องจ่าย โดยเริ่มนับตั้งแต่วันที่พ้นกำหนดให้ยื่นแบบไปจนถึงวันที่จ่ายครบ

2. ไม่ได้ยื่นแบบภาษีภายในกำหนด มีค่าปรับ ดังนี้

  • มีโทษปรับทางอาญาสูงสุด 2,000 บาท
  • เสียเบี้ยปรับ 1-2 เท่าของค่าภาษีที่ต้องจ่าย
  • เสียเงินเพิ่ม 1.5% ต่อเดือนของภาษีที่ต้องจ่าย โดยเริ่มนับตั้งแต่วันที่พ้นกำหนดให้ยื่นแบบจนถึงวันที่ต้องจ่าย

3. เจตนาละเลยไม่ยื่นแบบภาษีภายในกำหนดเพื่อเลี่ยงภาษี มีค่าปรับ ดังนี้

  • โทษปรับทางอาญาสูงสุด 5,000 บาท จำคุกสูงสุด 6 เดือน
  • เสียเบี้ยปรับ 2 เท่าของค่าภาษีที่ต้องจ่าย
  • เสียเงินเพิ่ม 1.5% ต่อเดือนของภาษีที่ต้องจ่าย โดยนับตั้งแต่วันที่พ้นกำหนดให้ยื่นแบบจนถึงวันที่จ่ายครบ

4. หนีภาษี มีค่าปรับดังนี้

  • โทษปรับทางอาญาตั้งแต่ 2,000 - 200,000 บาท จำคุกตั้งแต่ 3 เดือนถึง 7 ปี
  • เสียเบี้ยปรับ 2 เท่าของค่าภาษีที่ต้องจ่าย
  • เสียเงินเพิ่ม 1.5% ต่อเดือนของภาษีที่ต้องจ่าย โดยเริ่มนับตั้งแต่วันที่พ้นกำหนดให้ยื่นแบบจนถึงวันที่จ่ายครบ

อ่านข่าวหุ้น ข่าวทองคำ และ ข่าวการลงทุน และ การเงิน กับ Thairath Money ได้ที่ https://www.thairath.co.th/money/investment 

ติดตามเพจ Facebook : Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้  https://www.facebook.com/ThairathMoney


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ