ผู้ว่าฯ แบงก์ชาติ เปิด 2 ปัจจัยทำเงินบาทแข็งค่าเร็ว ย้ำดูแลต่อเนื่อง มองเศรษฐกิจครึ่งปีหลังฟื้นช้า

Personal Finance

Banking & Bond

กองบรรณาธิการ

Author

กองบรรณาธิการ

Tag

ผู้ว่าฯ แบงก์ชาติ เปิด 2 ปัจจัยทำเงินบาทแข็งค่าเร็ว ย้ำดูแลต่อเนื่อง มองเศรษฐกิจครึ่งปีหลังฟื้นช้า

Date Time: 28 ส.ค. 2567 12:31 น.

Video

ล้วงไส้ TEMU อีคอมเมิร์ซจีน บุกไทย ทำไมอาจสร้างวิบากกรรมกว่าที่คิด ? | Digital Frontiers

Summary

  • “เงินบาท” แข็งค่าขึ้นอย่างรวดเร็ว ด้านเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย เปิด 2 ปัจจัย ทำเงินบาทแข็งค่า ย้ำติดตามดูแลอย่างต่อเนื่อง ขณะเดียวกันประเมินเศรษฐกิจไทยครึ่งปีหลังฟื้นตัวได้ช้าลง แต่จีดีพีทั้งปียังโต 2.6% พร้อมลุยคุมเงินเฟ้อต่อเนื่อง คาดปิดปีต่ำเป้าที่ 0.6%

Latest


“เงินบาท” แข็งค่าขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยวันนี้ (26 สิงหาคม) เปิดตลาดที่ 33.93 บาทต่อดอลลาร์แข็งค่าขึ้น จากระดับปิดวันก่อนหน้า หลังธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ส่งสัญญาณการลดดอกเบี้ย ทำให้ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลง ขณะเดียวกันราคาทองคำในประเทศก็ปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องด้วย


ด้าน เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย รับเงินบาทแข็งค่าเร็วจริง แต่ยังไม่มากหากจากต้นปี 2567 พร้อมเปิด 2 ปัจจัยทำเงินบาทแข็งค่า ย้ำติดตามดูแลอย่างต่อเนื่อง ขณะเดียวกันประเมินเศรษฐกิจไทยครึ่งปีหลังฟื้นตัวได้ช้าลง แต่จีดีพีทั้งปียังโต 2.6% พร้อมลุยคุมเงินเฟ้อต่อเนื่อง คาดปิดปีต่ำเป้าที่ 0.6%


โดย เศรษฐพุฒิ เปิดเผยว่า ปัจจุบันค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นเร็วจริง แต่หากเทียบจากตั้งแต่ต้นปี 2567 ยังถือว่าปรับตัวขึ้นมาไม่มากนัก (Flat) ซึ่งมองว่าสิ่งที่ทำให้ค่าเงินบาทปรับตัวแข็งค่าขึ้นมานั้นมาจาก 2 ปัจจัยหลัก ได้แก่ ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐที่อ่อนตัวลง และราคาทองคำที่ปรับตัวขึ้นมากในช่วงที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม ธนาคารแห่งประเทศไทยติดตามและดูแลค่าเงินบาทอย่างต่อเนื่อง


สำหรับภาพรวมเศรษฐกิจนั้นหากมองย้อนไปจะพบว่าเศรษฐกิจไทยเริ่มมีการฟื้นตัวอย่างช้าๆ แม้มีจังหวะของการหดตัวบ้าง โดยได้รับผลกระทบจากความล่าช้าในการเบิกจ่ายงบประมาณ และการฟื้นตัวของภาคการส่งออก แต่อย่างไรก็ตามเชื่อว่าเป็นผลกระทบระยะสั้นเท่านั้น


ทั้งนี้ ตัวเลขการเติบโตของเศรษฐกิจไตรมาส 1/67 อยู่ที่ 1.6% แม้จะดูไม่สูง แต่หากเทียบกับการลดลง 1.5% ในไตรมาสที่ 4/66 ถือเป็นการเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ จากนั้นก็เห็นการฟื้นตัวได้ต่อเนื่องอีกครั้ง แม้ว่าการฟื้นตัวจะช้าลงในไตรมาส 2/67 และไตรมาสถัดๆ ไป จากปัจจัยต่างๆ แต่สิ่งที่เราต้องการคือยังเห็นการฟื้นตัวคงอยู่เหมือนเดิม


ส่วนแนวโน้มเศรษฐกิจในช่วงครึ่งปีหลังของปีนี้มองว่าโมเมนตัมของการฟื้นตัวในช่วงที่เหลือของปีมีแนวโน้มเติบโตลดลงเล็กน้อย แต่เชื่อว่าจะทำให้การเติบโตของเศรษฐกิจไทยปีนี้อยู่ที่ 2.6% ซึ่งค่อนข้างสอดคล้องที่นักวิเคราะห์และหน่วยงานรัฐบาลอื่นๆ คาดการณ์ไว้


ในด้านอัตราเงินเฟ้อ คาดว่าจะสามารถปิดปี 2567 ด้วยอัตราเงินเฟ้อทั่วไปที่ต่ำกว่าเป้าหมายที่ 1-3% หรือปิดประมาณ 0.6% แม้ในช่วงครึ่งปีหลังอัตราเงินเฟ้อจะสูงกว่าช่วงเป้าหมายเล็กน้อย แต่ครึ่งปีแรกที่ออกมาต่ำกว่าที่คาดไว้

ผู้ว่าฯ ธปท. กล่าวต่อว่า แม้เงินเฟ้อจะต่ำกว่าเป้าหมาย แต่ยังไม่เห็นสัญญาณเงินฝืด ราคาสินค้าเพียงบางรายการที่มีราคาลดลง แต่ยังไม่ลดลงในวงกว้าง ผู้บริโภคไม่ได้หยุดใช้จ่ายเพื่อรอให้ราคาสินค้าลดลงไปอีก โดยในการดำเนินนโยบายการเงิน คณะกรรมการนโยบายการเงินมีมติ 6 ต่อ 1 เสียง คงดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 2.5% ต่อปี ในการประชุมเมื่อ 21 สิงหาคมที่ผ่านมา

นโยบายการเงินนั้น เน้นนโยบายผสมสาน นโยบายดอกเบี้ยเป็นส่วนหนึ่งของมาตรการหลายอย่าง และพร้อมปรับหากสถานการณ์เปลี่ยน ไม่ได้ยึดติดจนเปลี่ยนแปลงไม่ได้ ธนาคารแห่งประเทศไทย ให้ความสำคัญกับมาตรการรองรับความเสี่ยง เพราะสถานการณ์ในโลกไม่แน่นอนคาดการณ์ไม่ได้ จึงต้องทำนโยบายเผื่อไว้หลายๆ ทาง นอกจากนโยบายดอกเบี้ยก็ยังมีมาตรการอื่นๆ เช่น การให้เงินกู้อย่างรับผิดชอบของสถาบันการเงินเพื่อส่งเสริมการปรับโครงสร้างหนี้.

 

อ่านข่าวหุ้น และการลงทุน กับ Thairath Money ได้ที่

ติดตามเพจ Facebook : Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
กองบรรณาธิการไทยรัฐออนไลน์