สรุปข้อคิด “สอนลูกเรื่องเงิน” จาก Money สไตล์ 4 แม่ “ลูก” ต้องโตไปไม่ลำบาก

Personal Finance

Banking & Bond

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

Tag

สรุปข้อคิด “สอนลูกเรื่องเงิน” จาก Money สไตล์ 4 แม่ “ลูก” ต้องโตไปไม่ลำบาก

Date Time: 24 ส.ค. 2567 18:22 น.

Video

ทางรอดเศรษฐกิจไทยในยุค AI ครองโลก | 1st Anniversary Thairath Money

Summary

  • เพราะ "แม่" คือคนสำคัญของครอบครัว การวางรากฐาน วางแผนทางการเงิน และการลงทุนของแม่ ก็คือ "รากฐานของบ้าน" สรุปข้อคิด "สอนลูกเรื่องเงิน" จาก Money สไตล์ 4 แม่ ในงาน "Money สไตล์แม่" ที่จัดขึ้นโดย Thairath Money ที่ "ลูก" ต้องโตไปไม่ลำบาก

Latest


เพราะ "แม่" คือคนสำคัญของครอบครัว การวางรากฐาน วางแผนทางการเงิน และการลงทุนของแม่ ก็คือ "รากฐานของบ้าน"

ดังนั้นภายในงานทอล์ก "Money สไตล์แม่" ที่จัดขึ้นโดย Thairath Money เนื่องในเดือนสิงหาคม เดือนสำคัญของคุณแม่ๆ จึงได้รวบรวมเทคนิคจากคุณแม่ 4 แบบ 4 สไตล์ ที่มาร่วมแบ่งปันประสบการณ์และความรู้การจัดการเรื่องการเงินการลงทุนในครอบครัว เพื่อให้ทุกคนได้เรียนรู้และเพลิดเพลินไปพร้อมกัน รวมทั้ง Special Guest ตัวแม่ตัวมัมการวางแผนการเงินการลงทุนอีกด้วย 

เริ่มกันที่ ก้อย วิวรรณ ธาราหิรัญโชติ นายกสมาคมวางแผนการเงินคนแรกของประเทศไทย นักวางแผนการเงิน ที่ปรึกษาด้านการลงทุน มีคำแนะนำวิธีการที่พ่อแม่สามารถสอนลูกเรื่องการเงิน และบทบาทของพ่อแม่ที่เปลี่ยนไปตามช่วงเวลาของชีวิตอย่างไรบ้าง 

เริ่มแรก วิวรรณ ได้แบ่งบทบาทของพ่อแม่ในการสอนลูกเรื่องเงินออกเป็น 3 ช่วง เหมือนกับเกมกีฬา โดยเป็นแนวคิดของ รศ.อรชุมา ยุทธวงศ์ 

ช่วงที่ 1: บทบาทของพ่อแม่ในฐานะผู้เล่นเกมการเงิน

การเลี้ยงดูลูกนั้นสามารถเปรียบได้กับการเล่นกีฬา เมื่อวางแผนจะมีลูก และเมื่อลูกยังเล็กพึ่งพาตัวเองไม่ได้ พ่อแม่ต้องเริ่มต้นในฐานะ "เจ้าของทีม" เมื่อเราวางแผนจะมีลูกกี่คน เมื่อลูกเริ่มโต เริ่มเรียนรู้ชีวิต พ่อแม่ต้องเป็นกรรมการ มีอำนาจตัดสินลงโทษถูกผิด 

และเมื่อลูกเรียนหนังสือ เป็นวัยรุ่น และเริ่มทำงานหรือเรียนต่อ พ่อแม่ต้องเป็น "โค้ชผู้แนะนำและวางแผน" เพื่อให้ลูกเกิดการไว้วางใจ และเราสามารถให้คำแนะนำที่ดีกับลูกได้ และต่อเนื่องไปจนถึงลูกเริ่มทำงาน และเมื่อลูกทำงาน สร้างตัว พ่อแม่จะลดบทบาทเป็น "ไลน์แมน" ดูแลไม่ให้ออกนอกเส้น เพราะเด็กตั้งแต่วัยรุ่นรู้สึกอยากเป็นอิสระ เราจะสามารถทำหน้าที่ได้ 

เมื่อลูกมีครอบครัวของตัวเอง พ่อแม่จะกลายเป็น "ผู้เล่นสำรอง" อยู่นอกสนามรอให้เรียกตัว เมื่อหลานๆ เริ่มเติบโต พ่อกับแม่จะเป็นเพียง "ผู้ดู" คอยเชียร์ และเมื่อหลานๆ เป็นผู้ใหญ่ เริ่มทำงาน พ่อแม่ก็จะกลายเป็น "แฟนคลับ" คอยซัพพอร์ต คอยเชียร์อยู่ข้างสนาม 

เพราะถ้าพ่อแม่ไม่เปลี่ยนบทบาทของตัวเอง นอกจากตัวพ่อแม่จะไม่มีความสุข "ลูก" ก็จะไม่มีความสุขด้วย เนื่องจากโลกของลูกนั้นกว้างขึ้น พ่อแม่อย่างเราต้องเรียนรู้และเข้าใจในทุกช่วงชีวิตของลูก 

ส่วนคำถามที่ว่า ควรสอนลูกเรื่องการเงินเมื่อไร จากข้อมูลของนักจิตวิทยา พบว่า ให้สอนลูกตั้งแต่ลูกนับเลขได้ หัวใจสำคัญ คือ การสอนให้รู้ว่า เงินไม่ใช่พระเจ้า เหมือนที่ผู้ใหญ่หลายคนยังหลงผิด ต้องทำงานแลกมา ถึงมีเงิน ขณะเดียวกัน เงินก็ไม่ใช่ทุกอย่างของชีวิต เพราะแม้แต่ความรัก บางทีเงินก็ซื้อไม่ได้

ช่วงที่ 2: อาวุธทางการเงินที่แม่ต้องมี

ขณะที่อาวุธทางการเงินที่แม่ทุกคนควรมี พี่ก้อย มองว่าสิ่งแรกที่ทุกบ้านต้องมี คือ การจัดการงบประมาณของบ้าน รวมทั้งจัดการสภาพคล่อง ต้องสอนให้เด็กรู้จักอดทน และการอดออม การลงทุนเพื่อความมั่นคงในชีวิต รวมถึงการเป็นแบบอย่างที่ดีให้กับลูก ไม่ว่าจะเป็นการสอนให้รู้คุณค่าของเงินและการใช้เงินอย่างชาญฉลาด เพื่อให้ลูกเกิดการซึมซับ

ช่วงที่ 3: สอนการเงินอะไรให้เด็ก

เริ่มต้นง่ายๆ ตั้งแต่ลูกยังเล็ก รู้จักมูลค่าของเงิน ตั้งแต่เหรียญ แบงก์ รวมทั้งพาไปจ่ายตลาด สอนให้รู้จักการคำนวณราคาต่อหน่วย รู้จักเปรียบเทียบและเลือกซื้อ ฝึกทำบัญชีรายรับรายจ่าย รู้จักการออมที่แตกต่างจากผู้ใหญ่ที่ออมก่อนใช้ ส่วนของลูกนั้นเงินที่เหลือจากการใช้คือ "เงินออม" เพื่อเป็นการฝึกวินัยจากการออม รวมทั้งการฝึกจัดงบประมาณอาจจะมาจากเงินรายสัปดาห์ จนกลายเป็นเงินรายเดือน ซึ่งจะทำให้เกิด "นักการเงิน" ที่เก่งอีกคนหนึ่ง

นอกจากนี้ เรายังควรสอนให้เด็กเข้าใจเรื่องศีลธรรม สอนให้รู้ว่าเงินต้องได้มาอย่างสุจริตและหลีกเลี่ยงการพนัน และอีกสิ่งหนึ่งคือ เด็กไม่ควรจะรู้ว่าพ่อแม่รวย แค่ให้เด็กต้องรู้ว่าพ่อแม่ไปทำงานหาเงิน เพื่อให้รู้คุณค่าของเงิน ส่วนเรื่องปัญหาทางการเงินของครอบครัวเด็กควรที่จะรับรู้ 

“พ่อแม่ควรเป็นแบบอย่างในการสอนลูกๆ และสิ่งที่สำคัญคือสอนให้เด็กรู้จักการเป็นผู้ให้ ไม่ใช่แค่รับเพียงอย่างเดียว เพราะจะทำให้เด็กมีจิตใจที่อ่อนโยน และเป็นสกิลที่จะติดตัวลูกไปตลอดชีวิต” 

ด้าน อาจารย์ยุ้ย ผศ.ดร.เกษรา ธัญลักษณ์ภาคย์ คุณแม่นักบริหาร นักวิชาการ ในฐานะ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เสนา ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) และเป็นประธานที่ปรึกษาด้านยุทธศาสตร์และงบประมาณ ผู้ว่าฯ กทม. กล่าวว่า เรามองว่าเราเป็นแม่สายชิล ไม่ยึดติดกฎเกณฑ์ เนื่องจากว่าเราเป็นคนทำธุรกิจภาคปฏิบัติ เชื่อในวิธีการแผน 30% ที่เหลือ 70% คือการลงมือทำ ดังนั้นจึงนำมาใช้กับทุกเรื่องในชีวิต รวมทั้งการดูแลลูก 

“เราอยากให้ลูกออกมาเป็นแนวไหน เราก็สอนลูกแบบนั้น เราพยายามจะให้การกระทำเป็นแนวการสอนมากกว่าที่จะมานั่งบอกแผนการดำเนินชีวิต เพราะลูกมีความคิดเป็นของตัวเอง เพราะคนเป็นแม่ มักอยากให้ลูกปลอดภัยในทุกๆ เรื่อง แม้กระทั่งเรื่อง เงินๆ ทองๆ แต่ความปลอดภัยที่มากเกินไปก็อาจอันตรายได้เช่นกัน และเรามีความเชื่อว่า ถ้าอยากให้ลูกรู้จักออม อาจต้องให้ลูกลองเจอกับคำว่า “ขาด” เมื่อนั้น เขาจะรู้เอง ว่าการออมสำคัญอย่างไร? และมากกว่าคำสอน คือ การทำให้ลูกเห็น”

สูตรการเลี้ยงลูกที่ไม่ตายตัว 

ส่วนการวางแผนเกี่ยวกับเงินออมของลูก สไตล์ ดร.ยุ้ย คือ “พยายามจะสอนตั้งแต่เด็ก ในวัยที่เขาเข้าใจว่า “เงินมันหมายถึงอะไร” เราต้องตั้งว่าเราอยากให้ลูกมีวิสัยทางการเงินอย่างไร สำคัญที่สุดคือ ต้องเป็นตัวอย่างให้ลูกก่อน อย่างเราทำธุรกิจมันจะมีพาร์ตของการลงทุน ความเสี่ยงเข้ามาเกี่ยวเนื่อง เราจะต้องแยกเงินจากธุรกิจ และเงินส่วนตัวออกจากกัน และนำสิ่งเหล่านั้นไปสอนลูก” 

“ด้วยความที่เราไม่ได้เก่งเรื่อง Personal finance ซึ่งเด็กสมัยนี้มีแอปพลิเคชันส่วนตัว สามารถซื้อของผ่านแอปฯ ได้ มันไม่เหมือนรุ่นเรา ที่แม่สามารถมาเปิดกระเป๋าดูได้ทุกวัน ดังนั้นการออมมันจะลดลงตลอดเวลา และเมื่อนั้นลูกจะเรียนรู้ถึงการขาด เราไม่มีสูตรอะไรตายตัว เราแค่สอนไปตามที่ตัวเองเคยเจอ และมีทั้งลองผิดลองถูก จนทำให้เราเกิดการเรียนรู้ และรู้ว่าต้องแก้ยังไงและนำสูตรนั้นไปสอนลูกอีกทอดหนึ่ง”

ขณะที่วางแผนการเรียนของลูก ดร.ยุ้ย มองว่า เป็นการวางแผนแบบวันต่อวัน เพราะการเรียนหนังสือเยอะไม่ได้แปลว่า “ประสบความสำเร็จ” มากที่สุด วันนี้นิยามเปลี่ยนไปเยอะมาก จากที่ตั้งเป้าให้ลูกเรียนไปจนถึงปริญญาเอก แต่ก็ยังให้ความสำคัญกับการศึกษาของลูก

ซึ่งสอดคล้องกับข้อมูลของ Thairath Money Poll Money สไตล์แม่ ที่มีการสำรวจเรื่องค่าใช้จ่ายค่าเทอมวัยประถมลูก 1 คน ต่อ ปี พบว่า 58.7% บอกว่า ไม่เกิน 3 หมื่นบาท ต่อ ปี 27% บอกว่า 3 หมื่น ถึง 1 แสนบาท 27% และ 14.4% บอกว่า มากกว่า 1 แสนบาท 

แล้วยังมีค่าใช้จ่ายสำหรับกิจกรรมพิเศษ นอกเวลาเรียน Poll บอกว่า 76.1% มีค่าใช้จ่ายนี้ไม่เกิน 3 หมื่นบาท ต่อเดือน 16.7% จำนวน 3 หมื่นบาท ถึง 1 แสนบาท 16.7% และมากกว่า 1 แสนบาท 7.2% 

ซึ่ง ดร.ยุ้ย มีเทคนิค การบริหารจัดการค่าใช้จ่าย ค่าเทอม และกิจกรรม ไว้คล้ายกับการบริหารจัดการของบริษัท โดยที่ค่าเทอม ถือเป็นค่าใช้จ่ายจำเป็น ค่าเที่ยวถือเป็นค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น 

“เราทำงานบริษัทจดทะเบียน โดยที่คนอื่นนำเงินมาให้เราบริหารจัดการ ดังนั้นส่วนใหญ่หุ้นหรือทรัพย์สินที่ได้รับการเปิดเผยอยู่ในบริษัทจดทะเบียนถือเป็นความเสี่ยงในการลงทุน ขณะที่เงินส่วนใหญ่ที่เป็นเงินปันผลที่ได้กลับมา เราจะเก็บมาเป็นรายได้คงที่ ดังนั้นเราจะรู้ว่าเงินส่วนไหนเป็นของลูก เงินส่วนไหนเป็นของตัวเอง ซึ่งก็จะเหลือเก็บชัดเจน และรู้ว่าไม่ควรใช้เกินเท่าไร” 

ขณะเดียวกัน ดร.ยุ้ย ยังมองว่า คนเป็นแม่ มักอยากให้ลูกปลอดภัยในทุกๆ เรื่อง แม้กระทั่งเรื่อง เงินๆ ทองๆ แต่ความปลอดภัยที่มากเกินไป ก็อันตราย ถ้าอยากให้ลูกรู้จักออม อาจต้องให้ลูกลองเจอกับคำว่า ขาด เมื่อนั้น เขาจะรู้เอง ว่าการออมสำคัญอย่างไร? และมากกว่าคำสอน คือ การทำให้ลูกเห็น

ด้าน ทราย-โศธิดา โชติวิจิตร Content Creator รายการ Money Teller กรุงเทพธุรกิจ และ TikToker ชื่อดังช่อง MoneyMonster มองว่า ตัวเองเป็นแม่สายแอดเวนเจอร์ หลักการสอนให้ลูกรู้จักค่าของเงิน คือ การผจญภัยไปด้วยกัน ถ้าลูกอยากได้อะไรลูกจะต้องรู้ว่า การจะได้เงินมาเราต้องทำประโยชน์ให้กับคนอื่นด้วย ดังนั้นกว่าจะได้ของที่ลูกอยากได้เส้นทางนั้น ต้องมีการแลกเปลี่ยนกัน และลูกจะรู้จักการออมด้วย ประมาณว่า “ลูกอยากจะได้ของเล่นชิ้นนี้ราคา 500 บาท แม่จะให้ดาวที่เปรียบเสมือนเงิน 5 บาท เงินจะได้ก็ต่อเมื่อทำประโยชน์ ซึ่งสิ่งที่ลูกทำได้คือ การเป็นเด็กดี”   

แม้จะเป็นนักลงทุนที่เก่งแค่ไหน แต่ก็พอร์ตแตกได้ถ้าบริหารการเงินไม่ดี

นอกจากนี้เรื่องของประกันสุขภาพ โศธิดา มองว่า นักลงทุนไม่ว่าจะเก่งขนาดไหน สามารถ “พอร์ตแตก” ได้ ถ้าไม่มีการ “บริหารการเงิน” ที่ดี แม้ว่าจะทำผลตอบแทน 5-20% อย่างต่อเนื่อง เพราะวันนึงเราไม่รู้ว่าสินทรัพย์ที่ถืออยู่จะขึ้นหรือลง แต่เมื่อมันมีโอกาสที่จะเกิดอุบัติเกิดขึ้นตลอด โดยเฉพาะกับลูก ดังนั้นคุณมีเงินสดสำรองไม่เพียงพอ หากคุณไม่ซื้อประกันไว้ ยังไงถ้าคุณมีสินทรัพย์คุณก็ต้องขายเพราะพอร์ตแตก ดังนั้นเราจะไม่ซื้อประกันเพื่อเป็นการลงทุน แต่เราจะซื้อประกันเพื่อเป็น “ประกัน” แค่นั้น เพราะดอกเบี้ยที่ได้มาอาจจะสู้เงินเฟ้อไม่ได้ ฉะนั้น ประกันสุขภาพก็คือประกันสุขภาพ

สอดคล้องกับข้อมูลจาก Thairath Money Poll Money สไตล์แม่ โดยมีผู้ตอบแบบสอบถาม 1,000 ราย ตอบเรื่องเริ่มซื้อประกันสุขภาพสำหรับลูกตั้งแต่เมื่อไร พบว่า 43.8% ซื้อเมื่อพร้อมทางการเงิน 41.8% ซื้อตั้งแต่ลูกแรกเกิด และ 14.4% ซื้อเมื่อมีกรมธรรม์ที่มีข้อเสนอน่าสนใจ

ส่วนประเด็นเรื่องของประกันสุขภาพของลูก โศธิดา มองว่า ประกันคือการบริหารทางการเงินต้องมีตั้งแต่แรกเกิด เพราะเราไม่รู้ว่าลูกจะป่วยเมื่อไร และยิ่งเด็กแรกเกิดจนถึงก่อน 6 ขวบ อัตราการป่วยมันเยอะมาก และประกันเด็กไม่ได้ซื้อง่ายๆ ดังนั้นถ้าเจอดีลที่สามารถครอบคลุมค่ารักษาได้จะต้องรีบคว้าไว้ 

การศึกษาลูก ต้องเต็มที่ที่สุด

ส่วนการวางอนาคตการศึกษาลูก โศธิดา มองว่า จะต้องเต็มที่ที่สุด ด้วยการเก็บเงินค่าเทอมลูกด้วยเทคนิค “กองทุน Money Market” ซึ่งถือเป็นของเล่นส่วนตัว ที่สนุกมากๆ เพราะนอกจากบริหารเก็บเงินค่าเทอมลูก เวลาเราจะใช้อะไร อยากได้อะไรก็จะใช้อันนี้ โดยเป็นกองทุนที่ให้ผลตอบแทนใกล้เคียงกับธนาคาร แต่ให้มากกว่านิดหน่อย และปลอดภัยกว่าฝากธนาคาร แต่อาจจะรอ 1-2 วันจึงจะถอนเงินออกมาได้ 

แต่เมื่อเวลาเราจะเก็บเงินเพื่อจะทำอะไรสักอย่าง อย่างเช่น จ่ายค่าเทอม แทนที่จะเก็บไว้ในเก๊ะ หรือฝากไว้ในธนาคารที่ไม่ได้ดอกเบี้ยเลย แต่การเก็บในนี้เราได้มากกว่า และสนุกกับการจัดสรรเงิน และนอกจากค่าเทอม เราอยากจะได้อะไร เราก็เก็บไว้ในนี้ ซึ่งถือเป็นการออมสั้นๆ ไม่เกิน 1 ปี ถ้าอยากจะเล่นเป็นการลงทุนจริงๆ ต้องมองเป็นสินทรัพย์ที่มีคุณค่า และเหมาะกับการลงทุนเป็นระยะยาวมากกว่า

ด้าน ลีเดีย-ศรัณย์รัชต์ ดีน นักร้องนักแสดง และคุณแม่ลูกสาม มาแชร์ประสบการณ์บริหารเงินเพื่ออนาคตของลูก ด้วยมุมมองว่า ด้วยวัยของลูกไม่เหมือนกัน ดังนั้นการสอนลูกทั้งสามคนจะไม่เหมือนกัน จะเป็นแต่ละสถานการณ์ โดยต้องมีการตกลงกันภายในครอบครัว ทั้งคุณตา คุณยาย และตัวพ่อแม่เอง

ส่วนวิธีการจัดการเรื่องการเงิน ในฐานะที่ลูกของ ลิเดีย ทำงานหาเงินได้ตั้งแต่อยู่ในท้อง ดังนั้นเงินของลูก ก็คือ เงินของลูก ต้องศึกษาและวางแผนให้ดี ทำอย่างไรให้อนาคตมูลค่าของเงินไม่หายไปกับเงินเฟ้อ ต้องลงทุนให้มีผลตอบแทน เพื่อที่จะได้มั่นใจว่า ต่อไปเมื่อลูกบรรลุนิติภาวะ เขาจะมีเงินรองรับ 

ปั้นเงินให้งอกเงย ด้วยการลงทุน

ดังนั้นจึงเริ่มวางแผนการเงินใหม่ให้ “งอกเงย” ผ่านการนำเงินเย็นไปลงทุน โดยที่พ่อแม่จะไม่แตะเงินของลูกเลย และทำอย่างไรก็ได้ให้เงินไม่หายไปกับเงินเฟ้อ จึงเริ่มดูทั้งประกัน การลงทุนต่างประเทศ การลงทุนทองคำ โดยที่ไม่มีความเสี่ยง พร้อมกับเริ่มปรึกษาที่ปรึกษาทางการเงิน 

“ส่วนอีกเรื่องคือ เรากลัวตาย แล้วลูกจะไม่มีใครดูแล จึงเริ่มดูเรื่องของประกัน ที่ยิ่งเราอยู่นานเท่าไรก็จะส่งต่อเป็นมรดกให้ลูกมากเท่านั้น และลูกจะมีเงินซัพพอร์ตจนจบมหาวิทยาลัยอย่างแน่นอน ส่วนการสอนการจัดการทางการเงินให้กับลูกๆ เราจะสอนให้ลูกรู้จักการออม เช่น หากลูกตั้งใจทำงานจะได้เงินตอบแทน เพื่อให้รู้คุณค่าของเงิน ที่จะไม่ให้ของที่อยากได้โดยทันที” 

ขณะที่การบริหารจัดการค่าเทอมลูก ลีเดีย มีวิธีการบริหารผ่านการทำแพลนเป็น Excel เช่น ปี 2024 ลูกเข้าโรงเรียนจะใช้เงินเท่าไร จะมีค่าใช้จ่ายอะไรบ้าง ค่าผ่อนบ้าน ผ่อนรถ และดูว่ารายรับของปีนี้จะอยู่ที่เท่าไร เมื่อหักลบค่าใช้จ่ายแล้วเหลือเท่าไร และนำเงินไปใช้เรื่องการกิน เที่ยว ใช้ชีวิต ได้เท่าไร ดังนั้นปีต่อๆ ไป จนถึงวัยที่ลูกเข้ามหาวิทยาลัย เราก็จะรู้ว่าเราต้องทำงานมากขนาดไหน ใช้จ่ายได้มากน้อยแค่ไหน และใช้เงินเท่าไร ลูกจึงจะจบมหาวิทยาลัยตามที่วางแผนไว้ 

ทั้งหมดนี้สะท้อนให้เห็นว่า “แม่” ทุกคนมีสูตรการเลี้ยงลูก สูตรการบริหารจัดการค่าเทอม ค่าใช้จ่าย ค่ากิน ความเป็นอยู่ที่ไม่เหมือนกัน แต่สิ่งสำคัญที่ทุกคนมองไปในทิศทางเดียวกันนั่นคือ “ลูกจะต้องไม่ลำบาก” แม้ว่าบางครั้งเราอาจจะต้องให้ลูกลองเรียนรู้ที่จะ “ขาด” บ้าง เพื่อให้ลูกได้เรียนรู้ และเห็นคุณค่าความสำคัญของ “เงิน” โดยที่พ่อ และแม่อาจจะต้องปรับบทบาทของตัวเองไปพร้อมๆ กับลูกทุกช่วงอายุ เพราะโลกของลูกนั้นกว้างขึ้น การจะเป็นลมใต้ปีกของลูกได้คือ เราต้องเข้าใจเขาไปพร้อมๆ กับการเรียนรู้เขาด้วยเช่นกัน

ติดตามข่าวสารด้านการตลาด กับ Thairath Money ได้ที่
https://www.thairath.co.th/money/business_marketing

ติดตามเนื้อหางาน Money สไตล์แม่ ได้ที่ เพจ Facebook : Thairath Moneyที่ลิงก์นี้ https://www.facebook.com/ThairathMone


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ