8 ข้อ การเงินพื้นฐาน ฉบับแม่ สอน “ลูก” หาเงินให้เก่ง-ต่อเงินให้เป็น และใช้เงินอย่างรู้คุณค่า

Personal Finance

Banking & Bond

กองบรรณาธิการ

Author

กองบรรณาธิการ

Tag

8 ข้อ การเงินพื้นฐาน ฉบับแม่ สอน “ลูก” หาเงินให้เก่ง-ต่อเงินให้เป็น และใช้เงินอย่างรู้คุณค่า

Date Time: 12 ส.ค. 2567 08:00 น.

Video

3 มาตรการใหม่ ตลาดหลักทรัพย์ฯ คุมหุ้นร้อนผิดปกติ | Money Issue

Summary

  • 8 ข้อ ความรู้การเงินพื้นฐาน ฉบับแม่ สอน “ลูก” รับวันแม่แห่งชาติ หาเงินให้เก่ง-ต่อเงินให้เป็น สอนลูกใช้เงิน อย่างมีคุณค่า เมื่อเงิน ไม่ได้ออกมาจากตู้เฉยๆ ไม่มีบัตรวิเศษใด เสกของได้

Latest


แม้ปัจจุบัน ความรู้ทางการเงิน จะหาได้ง่าย ทั้งจากตำรา สื่อออนไลน์ เพจผู้เชี่ยวชาญทางการเงิน รวมไปถึง อินฟลูเอนเซอร์ มากหน้าหลายตา ที่กำลังเติบโตแรง คอยช่วยย่อยเนื้อหายากๆ ให้เป็นเรื่องง่าย ทำให้ภาพของวิชา Finance ไม่น่าเบื่ออีกต่อไป 

แต่อย่างไรก็ตาม ผลสำรวจพบ ปัจจุบันคนไทยส่วนใหญ่ ยังอ่อนด้อยเรื่องการเงิน และลามไปกระทบต่อการวางแผนชีวิต ก่อเกิดปัญหา การสร้างหนี้เกินตัว มีพฤติกรรมการใช้เงินที่ไม่ระมัดระวัง เพราะขาดความรู้ ความเข้าใจที่ถูกต้อง จนท้ายที่สุด อาจเอาตัวไม่รอด! 

นี่จึงเป็นเหตุผลสำคัญ ที่สังคมจำเป็นต้องช่วยหล่อหลอม การสร้างสุขภาพทางการเงินและภูมิคุ้มกันที่ดี ให้กันตั้งแต่ยังเป็นเด็ก โดยว่ากันว่า หนึ่งในหน้าที่พ่อแม่ที่สำคัญยิ่ง ก็คือ การเป็นครูการเงินที่ดีให้กับลูกๆ นั่นเอง 

ในโอกาส 12 สิงหาคม วันแม่แห่งชาติ Thairath Money ชวนเปิดบทเรียนสำคัญ สูตรการเงิน ฉบับแม่สอนลูก เพื่อให้เด็กๆ ได้เรียนรู้เรื่องการเงิน จากคนใกล้ตัว ทั้งจากคำสอน และแบบอย่างที่ดี ที่ยิ่งเริ่มต้นได้เร็ว ยิ่งได้เปรียบ...

6 ข้อ การเงินพื้นฐาน ที่พ่อแม่ควรสอนลูก 

ข้อมูลแนะนำจากธนาคารไทยพาณิชย์ ระบุไว้ ใน 6 เรื่อง การเงินพื้นฐาน ที่คุณแม่ หรือคุณพ่อ จะสามารถนำไปปลูกฝังได้ด้วยตัวเอง ดังนี้ 

  1. การสอนให้ลูกรู้ถึงความแตกต่างของแนวคิดเรื่องความ “จำเป็น” กับ “อยากได้” สิ่งของต่างๆ เป็นทักษะสำคัญที่จะปูพื้นฐานสู่วินัยการเงินที่ดี เทียบความจำเป็น คือ ต้องมีเพื่อการดำรงชีวิต แต่ “ต้องการ” คือ มีก็ดี แต่ถ้าไม่มีก็สามารถใช้ชีวิตอยู่ได้ การสอนให้เด็กจัดลำดับคุณค่าสิ่งของต่างๆ เริ่มต้นจากที่เขาเห็นในชีวิตประจำวัน เช่น อาหาร น้ำดื่ม บ้าน ช็อกโกแลต ไอศกรีม สเกตบอร์ด ฯลฯ เป็นก้าวแรกที่เด็กจะได้เรียนรู้การจัดลำดับให้ความสำคัญในการใช้เงินกับสิ่งที่จำเป็น
  2. การเห็นเงินไหลออกมาจากตู้ ATM หรือพ่อแม่ใช้บัตรรูดซื้อของ อาจทำให้เด็กไม่ตระหนักว่าเงินเป็นของที่มีจำกัด พ่อแม่ต้องอธิบายให้ลูกเข้าใจว่าเงินมาจากการทำงาน โดยเรานำไปเก็บไว้ในธนาคาร จะถอนออกมาเมื่อจำเป็นต้องใช้ และการใช้บัตรเครดิตรูดซื้อของ ก็ต้องจ่ายคืนเงินที่ซื้อของไปตอนปลายเดือน
  3. วิธีให้เด็กเรียนรู้ได้ดีที่สุดคือเปิดโอกาสให้เขาบริหารจัดการเงินเอง ถ้าเขาได้ค่าขนมแล้วใช้ซื้อขนมเล็กๆ น้อยๆ จนหมด ไม่ได้แบ่งมาเก็บออม เขาก็จะไม่มีเงินมาจะซื้อของเล่นชิ้นใหญ่ที่อยากได้ ประสบการณ์เหล่านี้จะสอนให้เขารู้ถึงผลของการใช้จ่ายเงินโดยไม่มีการวางแผน
  4. การฝึกให้เด็กอดทนรอคอย (delayed gratification) จะช่วยสร้างภูมิต้านทานต่อโปรโมชันพวก “ซื้อก่อน จ่ายทีหลัง” ที่เป็นสาเหตุของการเป็นหนี้บัตรเครดิต และสิ่งที่สำคัญไม่แพ้กันคือ หยุดการซื้อที่เกิดจากการกระตุ้นอารมณ์ ณ จุดขาย (Impulse Buying) โดยก่อนจะออกไปซื้อของ ให้ครอบครัวช่วยกันตั้งงบที่จ่าย ทำลิสต์รายการซื้อของ ประมาณราคาของแต่ละอย่าง เปรียบเทียบราคาของออนไลน์ และการใช้คูปองลดราคา สิ่งเหล่านี้จะปลูกฝังให้ลูกรู้จักการซื้อของอย่างคุ้มค่าและเคยชินกับการวางแผนก่อนออกไปซื้อของ
  5. สื่อโฆษณามีอิทธิพลต่อความคิดของผู้คน ยิ่งในสมัยนี้ที่มีการโฆษณาสินค้าในสื่อทุกช่องทาง ด้วยรูปแบบหลากหลาย พ่อแม่ควรอธิบายวิธีที่โฆษณาชักจูงใจคนให้ซื้อของให้ลูกได้เรียนรู้ไว้ด้วย ซึ่งการพยายามกระตุ้นให้เด็กรู้จักตั้งข้อสงสัยสิ่งที่สื่อโฆษณาเผยแพร่ จะช่วยสร้างภูมิต้านทานความน่าหลงใหลของสินค้าในโฆษณา รวมถึงการหลงเชื่อข้อความสื่อสารชักจูงของโฆษณาโดยไม่ไตร่ตรอง
  6. การฝึกให้เด็กแบ่งเงินส่วนหนึ่งไว้แบ่งปัน สอนให้เด็กรู้ว่าเงินของเขาสามารถนำไปช่วยให้ชีวิตของคนอื่นดีขึ้น แทนที่จะแค่เอาไปซื้อของ ซึ่งการแบ่งปันช่วยเหลือคนอื่นไม่จำเป็นต้องเป็นจำนวนมาก เพียงแค่เงินเล็กน้อยจากหลายๆ คนก็สร้างความเปลี่ยนแปลงได้

2 ทักษะการเงินที่ต้องมีติดตัว 

ขณะเดียวกัน เรื่องการเงินสำหรับเด็ก ยังมีอีก 2 ข้อสำคัญ ที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการใช้เงินเท่านั้น แต่มันครอบคลุมถึงทักษะการหาเงิน การต่อเงิน ที่จะช่วยบ่มเพาะ สร้างให้เด็กๆ เป็นคนที่มีการวางแผนทางการเงินที่ดี ในอนาคตได้อีกด้วย 

ข้อมูลแนะนำของธนาคารกรุงศรีอยุธยา ระบุว่า เด็กๆ ควรถูกสอน เรื่องทักษะ การหาเงินเก่ง (Earning ) โดย เด็กเล็กต้องเรียนรู้ ว่า ถ้าการใช้เงิน คือ การนำเงินสดไปแลกสินค้า/บริการ การหาเงินก็คือการที่ตัวเราต้องทำงานสร้างสินค้า/บริการที่มีผู้คนต้องการ ไปขายเพื่อแลกเงินกลับมาเช่นกัน

เช่น หมอให้บริการทางการแพทย์ ทนายความให้บริการทางกฎหมาย วิศวกรโยธาให้บริการสร้างบ้าน ฯลฯ มีอาชีพเป็นร้อยเป็นพันอาชีพที่สร้างเงินได้ บางอาชีพต้องใช้วุฒิการศึกษา บางอาชีพไม่ต้องใช้ บางอาชีพได้เงินน้อย บางอาชีพได้เงินมาก บางอาชีพคือเทรนด์อนาคต ให้ข้อมูลลูกเรื่องการหาเงินและอาชีพการงานไว้ สุดท้ายเขาจะเชื่อมโยงความสนใจกับการศึกษาและเลือกในสิ่งที่ต้องการได้ 

เช่นเดียวกับ ทักษะการต่อเงินงอกเงย (Investing) ซึ่งหมายถึง การสอนให้ลูกรู้ว่า การลงทุนคือการวางเงินลงในสินทรัพย์ที่มีโอกาสเพิ่มมูลค่าในระยะยาว การลงทุนที่ดีจะช่วยผ่อนแรงในการสร้างมั่งคั่งได้

อ่านข่าวหุ้น ข่าวทองคำ และ ข่าวการลงทุน และการเงิน กับ Thairath Money ได้ที่

ติดตามเพจ Facebook : Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้  https://www.facebook.com/ThairathMoney


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
กองบรรณาธิการไทยรัฐออนไลน์