อนาคตของ “ลูก” คือเป้าหมายสูงสุดของ “แม่” ถอดเทคนิควางแผนเงินออม การลงทุน สไตล์คุณแม่อินฟลูฯ

Personal Finance

Banking & Bond

Content Partnership

Author

Content Partnership

Tag

อนาคตของ “ลูก” คือเป้าหมายสูงสุดของ “แม่” ถอดเทคนิควางแผนเงินออม การลงทุน สไตล์คุณแม่อินฟลูฯ

Date Time: 11 ส.ค. 2567 12:00 น.
Content Partnership

Summary

  • เพราะทุกๆ ก้าวที่คุณแม่ก้าวไป คือการปูทางสู่อนาคตที่มั่นคง ให้กับคนเป็นลูก “การวางแผนการเงินที่ดีของแม่” คือรากฐานที่จะช่วยให้ลูก ก้าวไปได้อย่างมีคุณภาพ #Thairath Money ชวนถอดเทคนิคการวางแผนเงินออม การลงทุน สไตล์คุณแม่อินฟลูเอนเซอร์ ที่มองว่าการเริ่มเก็บ ปั้นเงินให้งอกเงย และรู้จักคุณค่าของเงิน คือ สิ่งสำคัญที่สุด

ใครว่าเป็น “แม่” มันง่าย? เพราะกว่า “เด็ก” หนึ่งคนจะถือกำเนิดออกมา กว่า “น้ำนม” หยดแรกจะไหล กว่าจะคลานได้ กว่าจะเริ่มตั้งไข่ กว่าจะเดินก้าวแรก กว่าจะพูด กว่าจะยืน และกว่าจะวิ่ง ทุกๆ อย่างล้วนต้องใช้ “เวลา” และการประคับประคอง จากคนเป็น “แม่” ทั้งสิ้น ดังนั้นแม้ว่า “แม่” อาจจะธรรมดาสำหรับใครๆ แต่แม่คือ “โลกทั้งใบ”สำหรับลูก

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นทุกๆ การเติบโตของ “ลูก” มักมี “ค่า” ต่างๆ เสมอ ไม่ว่าจะเป็น ค่าแรง ค่าใช้จ่าย ค่าเสียโอกาส และค่าเสื่อม แต่ทุกสิ่งทุกอย่างที่เสียไปล้วนมักได้รับกลับมาเสมอนั่นคือ “คุณภาพของชีวิตลูก” นั่นเอง

ดังนั้นเมื่อแม่คือคนสำคัญในบ้าน การวางรากฐาน วางแผนทางการเงิน และการลงทุนของแม่ ก็คือ “รากฐานของบ้าน” ด้วยเช่นกัน ในครั้งนี้ #Thairath Money จึงชวนมาถอดเคล็ดลับเทคนิควางแผนเงินออม ลงทุน สไตล์คุณแม่อินฟลูฯ กับคุณแม่ทั้ง 5 ท่านที่ให้ความสำคัญกับ “อนาคต” ของลูกมากกว่าสิ่งใด

เพราะ “อนาคตของลูก” คือ “เป้าหมายสูงสุดของแม่”

เริ่มกันที่ ดร.ยุ้ย-ผศ.ดร.เกษรา ธัญลักษณ์ภาคย์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เสนาดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ SENA ในฐานะผู้บริหารองค์กรยักษ์ใหญ่ และอีกหนึ่งด้านในการเป็นคุณแม่ ได้ให้มุมมองว่า การวางแผนการเงินของตัวเอง ในมุมของแม่ สิ่งที่นึกถึงเป็นเรื่องแรกๆ คือ การเป็นห่วงอนาคตของลูก จึงมองว่าการวางแผนตั้งแต่การให้การศึกษาที่ดี การเตรียมทุนการศึกษา เช่น เปิดบัญชีออมทรัพย์หรือกองทุนการศึกษา เป็นอีกวิธีที่ให้ความมั่นใจได้ว่าลูกจะมีเงินเพียงพอสำหรับการศึกษาต่อในระดับที่สูงขึ้น รวมถึงการลงทุนในสินทรัพย์ อสังหาริมทรัพย์ที่มีโอกาสเติบโตก็ช่วยสร้างความมั่นคงทางการเงินในระยะยาวได้

และการทำประกันชีวิตและประกันสุขภาพเป็นการคุ้มครองทั้งตัวเองและลูก หากเกิดเหตุไม่คาดฝัน ลูกๆ จะได้รับการดูแลตามที่เราวางแผน ซึ่งจะช่วยให้ลูกมีพื้นฐานที่มั่นคงและมีโอกาสที่จะประสบความสำเร็จในชีวิตได้มากขึ้น

เห็นคุณค่าของการใช้เงินอย่างมีสติ

ส่วนการสอนลูกเรื่อง “การวางแผนทางการเงิน” ส่วนตัว ดร.ยุ้ย จะสอนลูกอยู่เสมอว่า “เราอาจจะโชคดีและมีโอกาสดีกว่าคนอื่นอีกมากมาย แต่ทรัพย์สินเงินทองย่อมมีวันหมดไป” ดังนั้นการสอนให้ลูกๆ เห็นคุณค่าของการใช้เงินอย่างมีสติ รวมถึงการสร้างนิสัยการออมเงิน ตั้งเป้าหมายทางการเงิน เช่น การออมเพื่อเก็บ ออมเพื่อซื้อของที่อยากได้แต่ก็ต้องสอนลูกให้รู้จักแยกแยะระหว่างสิ่งที่ต้องการจริงๆ กับสิ่งที่อยากได้ เพื่อให้เขาใช้เงินอย่างมีสติ และรู้จักวางแผนการใช้จ่ายต่างๆ ซึ่งจะเป็นทักษะที่สำคัญในชีวิต ให้มีวินัยทางการเงิน หรือการหารายได้เล็กๆ น้อยๆ ตามวัย ให้ได้เรียนรู้ว่าการทำงานหาเงินไม่ใช่เรื่องง่ายๆ หรือการให้เงินเป็นรายเดือนเพื่อฝึกบริหารจัดการค่าใช้จ่ายด้วยตนเอง จะช่วยให้ลูกเติบโตเป็นคนที่มีความรับผิดชอบและมีวินัยทางการเงินที่ดีอีกด้วย

และตอนนี้ยังเริ่มสอนให้เด็กๆ รู้จักการลงทุน สร้างความเข้าใจเรื่องมูลค่าของเงินที่เปลี่ยนแปลงไปได้ในอนาคตและการลงทุนเพื่ออนาคตอย่างไรเป็นการเพิ่มมูลค่า ถ้าลูกโตขึ้นหน่อยอาจลองตั้ง Budget ให้ลูกสักก้อนและให้พิจารณาเองว่าน่าลงทุนทำอะไร ให้เขาได้รับผิดชอบกับสิ่งที่ตัดสินใจเองดู แล้วมาดูว่า การตัดสินใจนั้นๆ ผลเป็นอย่างไร ดีไม่ดีอย่างไร ก็สอนให้เด็กๆ คิดเองได้ด้วย

เน้นกระจายการลงทุนในหลายๆ กลุ่ม

ต่อมา ลีเดีย-ศรัณย์รัชต์ ดีน นักร้องและคุณแม่สุดแซ่บ ให้ความเห็นว่า การวางแผนเงินออมเป็นเรื่องที่สำคัญและควรดูให้ดีๆ อย่างเด็กๆ ทั้งสามคน จะทำงานตั้งแต่เกิด โดยแม่จะดูความเหมาะสมของงานแต่ละงาน และเมื่อได้เงินตรงนี้มาก็จะนำไปออมเงินไว้ให้ลูกระยะยาว ผ่านการเปิดบัญชีให้ลูกคนละบัญชี ซึ่งเวลาที่ลูกทำงานก็จะมีการกระจายรายได้ให้ทั้ง 3 บัญชี แต่จะไม่ลืมที่จะดูเงินออมระยะยาว และเงินเฟ้อ ที่ถือเป็นปัจจัยหลักด้วยเช่นกัน

ส่วนเรื่องการลงทุน เธอมีการแบ่งเป็นหลายๆ สัดส่วนไม่ว่าจะเป็น การออมทอง การซื้อประกันเพื่อการลงทุน ประกันชีวิต กองทุนต่างประเทศ เรียกได้ว่ากระจายในหลายๆ กลุ่ม

ขณะที่ฝั่งการศึกษาทางครอบครัวจะมีเก็บเงินทุนไว้ให้ลูกๆ ซึ่งเธอมองว่าเป็นความรับผิดชอบของผู้เป็นพ่อและแม่ ซึ่งแยกจากเงินที่เด็กๆ หามาได้ เพื่อในอนาคตเงินก้อนนี้จะเป็นเงินที่สามารถปูทางคุณภาพชีวิตของลูกๆ ได้นั่นเอง

ความฝืดเคืองไม่ใช่มรดก “ความมั่งคั่ง” เท่านั้นที่จะเป็นคำตอบ

ส่วนทางด้าน ทราย-โศธิดา โชติวิจิตร CEO Money Monster และ TikToker ช่อง MoneyMonster กล่าวว่า เทคนิคการออม และลงทุนสไตล์เธอนั้นจะเป็นสายชอบเสี่ยง แต่ก็จะบาลานซ์ความมั่นคงไว้ด้วย รวมทั้งไม่เอาเงินไปทุ่มกับความมั่นคงจนหมด พร้อมเลือกที่จะทำประกันออมทรัพย์ โดยไม่คาดหวังว่าคือ Wealth ของลูก เพียงแค่เป็นตัวช่วยป้องกันความปลอดภัยในเวลาลูกเจ็บป่วย ที่จะมีงบประมาณดูแลเป็นอันดับแรก โดยจะเลือกเป็น option ที่ดีที่สุด

รวมทั้งมีการวางแผนระยะยาวไว้ เพราะมองว่า “หากจะเก็บไว้ให้ลูก ถ้าอยากให้ลูกรอด เราจะต้องร่ำรวยให้ได้” เนื่องจากสิ่งที่จะส่งต่อไปให้ลูกนั้น ห้ามเป็น “ความฝืดเคือง” เด็ดขาด เนื่องจากความฝืดเคืองไม่ใช่มรดก

ดังนั้นสิ่งที่จะส่งต่อลูกจะต้องเป็น “ความมั่งคั่ง” เท่านั้น จึงต้องมีการเก็บความมั่งคั่งตั้งแต่เนิ่นๆ ยกตัวอย่างเช่น การเก็บเงินสด แต่จะต้องดูปัจจัยเรื่องเงินเฟ้อที่ขึ้นปีละ 5-10% ด้วยเช่นกัน ซึ่งตรงจุดนี้ไม่ใช่แค่เก็บไว้เฉพาะค่าใช้จ่ายฉุกเฉิน แต่จะเป็นเงินก้อนเพื่อที่จะไม่เสียโอกาสในการลงทุนในจังหวะที่ดี

โดยจะเน้นดูเรื่องของเศรษฐกิจมหภาคเป็นหลัก เพื่อให้รู้ว่าเงินมันโฟลว์ไปทางไหนบนโลกใบนี้ และเมื่อเราเห็นภาพใหญ่ ก็ค่อยไปไล่ดูว่าประเทศไหน เซกชันไหน จากนั้นค่อยมาดูต่อว่าบริษัทไหน ทั้งหมดก็จะทำให้เราเลือกได้แม่นขึ้น แทนที่เราจะมองจาก Bottom Up งบการเงิน หุ้นรายบริษัท หรือเฉพาะหุ้นไทยก็ไม่พอ เพราะมันไม่น่าดึงดูดขนาดนั้น

“หากเราอยู่ในช่วงที่มีเวลา เราอาจจะเลือกลงทุนหุ้นรายตัวด้วยตัวเอง แต่หากไม่มีเวลาเราอาจจะลงมาดูกองทุน เพราะมีผู้จัดการกองทุนคอยดูแลให้ เราทำ DCA การลงทุนแบบสม่ำเสมอ โดยนำเงินจำนวนเท่าๆ กันทุกงวดไปลงทุนในสินทรัพย์ที่เราเลือกลงทุนไว้ในระยะเวลาเท่าๆ กัน หรือเรียกง่ายๆ ว่าการลงทุนแบบถัวเฉลี่ยต้นทุน เพื่อให้ได้ผลตอบแทนที่เป็นค่าเฉลี่ยของตลาดด้วย” โศธิดา กล่าว

กองทุน รวยไม่เท่า หุ้นรายตัว

พร้อมกันนี้ยังมองว่า “กองทุน” รวยไม่เท่า “หุ้นรายตัว” จึงต้องดูกองทุนที่เป็น Passive ที่เล่นตามดัชนีอย่าง SET INDEX, S&P 500 ค่าธรรมเนียมจะต่ำ หรือไม่มีเลย โดยเราจะเล่นเป็น DCA ซึ่งเราไม่ต้องดูว่าจะขึ้น หรือลงตอนไหน ยกเว้นว่ามีสถานการณ์อะไรที่จะส่งผลกระทบอาจจะระงับไว้ก่อน

หรือแม้กระทั่ง ระบบการเงินของประเทศไทย ซึ่งจะมีเรื่องของการลดหย่อนภาษีของกองทุนต่างๆ ก็จะเลือกกองทุนออมระยะยาวที่ทำกำไรให้เราได้ด้วย และลดหย่อนภาษีได้ด้วย โดยอาจจะต้องเก็บนาน อาทิ RMF และ Thai ESG ที่เป็น Passive ให้ค่าธรรมเนียมต่ำๆ เนื่องจากเป็นเมกะเทรนด์อาจจะต้องใช้เวลา

“เมื่อเราดู Wealth ส่วนตัวของเราได้ ก็ไม่ต้องกังวลว่าเราจะส่งต่อลูกไม่ได้ ส่วนการสอนให้ลูกรู้จักค่าของเงินด้วยวัยเพียง 3 ขวบ ก็จะมีการปลูกฝัง “ความคุ้มค่า” โดยที่ไม่ได้สอนให้ลูกซื้อของที่ถูกที่สุด”

ประหยัดดี แต่ไม่ทำให้รวยขึ้น แต่เป็น “การทำเงินให้งอกเงย”

เพราะการประหยัดเงินแม้จะดี แต่ไม่ได้ทำให้รวยขึ้น วิธีการทำให้รวยขึ้น คือใช้เงินอย่างคุ้มค่าและหาวิธีที่จะทำเงินให้ได้มาก และที่สำคัญคือห้ามมีเงินช่องทางเดียวเด็ดขาด เฮลตี้คือ 3-5 ขึ้นไป แต่มั่งคั่งคือ 7 แต่ละช่องทางแม้ว่าจะน้อย แต่ก็ถือเป็น “ร่ม” ที่ช่วยกันแดด กันฝนให้ได้ดี ในวันที่ช่องทางใดช่องทางหน่ึงหายไป โดยเราจะบริหารให้เยอะประมาณ 3 ช่องทางเป็นหลัก

ส่วนการศึกษา โศธิดา ตั้งเป้าไว้ว่าจะให้ที่ดีที่สุดเท่าที่ให้ไหว โดยวางเอาไว้ว่าควรจะเป็นส่วนไม่เกิน 10-15% ของรายได้ เพราะฉะนั้นวิธีที่ดีที่สุดคือ ต้องปั๊มรายได้ให้สูงที่สุดเข้าไว้ เพื่อที่จะให้การศึกษาที่ดีที่สุดกับลูกได้นั่นเอง

วางแผนการเงินตั้งแต่ตอนนี้ เพื่ออนาคตการศึกษาที่ดีของลูก

น้ำแข็ง-อารียา เฟื่องประดิษฐ์กุล ผู้ประกาศข่าวไทยรัฐทีวี ช่อง 32 และคุณแม่สุดสตรอง มองว่า “การศึกษา” ของลูกคือ สิ่งที่สำคัญที่สุด เนื่องด้วยค่าเทอมแต่ละโรงเรียนเพิ่มสูงขึ้นทุกปี จึงได้มีการปรึกษานักวางแผนทางการเงิน เส้นทางการออม เพื่อทุนการศึกษาของลูก โดยมีการวางยาวไปจนถึงปริญญาโท และหลังจากนั้นจะมีการคำนวณค่าใช้จ่าย เนื่องจากมีแนวคิดที่ว่า “เราไม่รู้จะอยู่กับลูกได้นานเท่าไร” อย่างน้อยลูกจะไม่ลำบากอย่างแน่นอน

รวมทั้งได้มีการทำประกันเพื่อการศึกษาบุตร โดยเป็นการออมเพื่อลูกรัก ในวันรับปริญญา ขณะเดียวกันยังมีการแยกสัดส่วนของเงินออมไว้ในหลายๆ ส่วน ทั้งเงินสำหรับออม เพื่อสุขภาพ เงินสำหรับลูก เงินสำหรับเกษียณ และเงินสำหรับการลงทุน

“ขยัน อดทน อดออม” สโลแกนประจำบ้าน

ด้าน วานิศา พานิชวิทย์ หรือ แม่น้ำ คุณแม่ของพี่ว่าน ธนกฤต เล่าว่า สโลแกนที่ใช้กับลูกคือ “ขยัน อดทน และอดออม” โดยช่วงที่คุณแม่ทำงาน ยังต้องดิ้นรน เพราะครอบครัวไม่ได้มาจากลูกคนมีกำลัง จึงพยายามที่จะเปิดบัญชีทั้งบัญชีลูก บัญชีฉุกเฉิน รวมทั้งเก็บไว้ให้ครอบครัว

และเมื่อมีลูกก็เริ่มสอนการประหยัดและอดออม ตั้งแต่เด็กๆ หากลูกอยากได้เงินพิเศษ ก็ต้องทำงานแลกเงิน โดยแลกกับการล้างรถในบ้าน และจะมีปฏิทินไว้ขีดและจ่ายทุกๆ สิ้นเดือนเพื่อแลกกับค่าแรง อีกทั้งถ้าเดือนไหนลูกมีเงินเหลือจะมีการสมทบเงินพิเศษให้ ซึ่งจะให้ลูกเริ่มรู้จักวิธีการออม

ขณะเดียวกันวันหยุดจะให้ลูกไปช่วยเป็นไกด์นำเที่ยว กับคณะทัวร์ของแม่ หรือไปนั่งขายแพ็กเกจโรงแรม แลกกับค่าแรง และค่าคอมมิชชัน สะท้อนให้ลูกมีแนวคิดในการทำงาน ช่วยเหลือ “ไม่ใช่อยากจะได้อะไรก็ได้ เพราะถ้าได้มาง่ายก็จะใช้จ่ายง่าย”

และเมื่อเริ่มโตขึ้น แม่ก็จะดูแลเรื่องเงิน และซื้อกองทุนลดหย่อนภาษี RMF, LTF, SSF และเลือกประกันชีวิตที่ถือเป็นการออมอย่างหนึ่ง เพื่อในอนาคตจะได้มีเงินตรงส่วนนี้ไว้ซัพพอร์ต

รวมทั้งตัวแม่เองได้มีการเพิ่มพูนองค์ความรู้ด้านการเงินอยู่เสมอ ไม่ว่าจะเป็น การเข้าไปนั่งฟังเสวนา หรือการบรรยายเรื่องการออม การลงทุนต่างๆ โดยที่ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย ทั้งจากตลาดหลักทรัพย์ และองค์กรอื่นๆ จากนั้นก็ได้นำความรู้เหล่านี้มาบอกต่อลูกๆ

ต่อให้มีเงินเป็นสิบๆ ล้าน ถ้าไม่รู้จักบริหารสักวันก็หมดไป

เพราะมองว่า “คนเราไม่จำเป็นต้องแก่ไปตามเวลา ต้องมีการพัฒนาตัวเองด้วย ใช้เงินอย่างประหยัด แต่อย่าขี้เหนียว อย่าไปลำบากกับชีวิตมากนัก รู้จักอดออม และอดทน รวมทั้งต้องหาข้อมูลใหม่ๆ เพื่อให้การใช้เงินนั้นคุ้มค่า เพราะต่อให้เรามีเงินเป็นสิบๆ ล้านแต่ถ้าเราไม่สอนให้ลูกรู้จักประหยัด อดออม และอดทน เงินก็จะเก็บไม่อยู่ และหมดไปในที่สุด รวมทั้งรู้จักที่จะสร้างเงินให้งอกเงย อย่างเช่นการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์”

ทั้งหมดนี้สะท้อนให้เห็นว่าทุกๆ ก้าวที่คุณแม่ก้าวไป คือการปูทางสู่อนาคตที่มั่นคง ให้กับคนเป็นลูก “การวางแผนการเงินที่ดีของแม่” ในที่นี้จึงหมายถึง ชีวิตที่ดีของลูก เพราะปฏิเสธไม่ได้ว่าเมื่อลูกโตขึ้น แม่ก็แก่ลงทุกวัน ซึ่งไม่มีใครรู้ว่า เราจะเหลือเวลาอีกเท่าไร ที่จะได้ใช้ชีวิต ยิ้ม และหัวเราะไปด้วยกัน

ดังนั้นการปูรากฐานที่ดีให้กับลูก ก็เปรียบเสมือนกับการก้าวไปสู่การเงินที่งอกเงย ไปพร้อมกับลูกรักที่เติบโตนั่นเอง และในครั้งนี้อาจจะกล่าวได้ว่า มีลูก 1 คน จะไม่จนไป 10 ปี แถมยังแฮปปี้มากกว่าเดิมเสียด้วยซ้ำถ้ารู้จักเก็บออมและลงทุน

แด่ “คุณแม่” ทุกท่าน ที่เสียสละทุกอย่างเพื่อคนเป็น “ลูก”


Author

Content Partnership

Content Partnership