ดอกเบี้ยกู้บ้านลดลง ด้วยการ Retention และ Refinance จุดเด่น-จุดด้อย ที่คุณควรรู้

Personal Finance

Banking & Bond

กองบรรณาธิการ

Author

กองบรรณาธิการ

Tag

ดอกเบี้ยกู้บ้านลดลง ด้วยการ Retention และ Refinance จุดเด่น-จุดด้อย ที่คุณควรรู้

Date Time: 2 ส.ค. 2567 09:00 น.

Video

3 มาตรการใหม่ ตลาดหลักทรัพย์ฯ คุมหุ้นร้อนผิดปกติ | Money Issue

Summary

  • วิธีในการลดดอกเบี้ยบ้านทำได้ 2 วิธี โดยวิธีแรก การ Retention คือการปรับปรุงเงื่อนไขสินเชื่อที่มีอยู่กับธนาคารเดิม ซึ่งมีค่าธรรมเนียมต่ำและอนุมัติรวดเร็ว ในขณะที่ Refinance คือการย้ายสินเชื่อไปยังธนาคารใหม่ที่มีเงื่อนไขดีกว่า แม้จะต้องใช้เวลาอนุมัติและมีค่าธรรมเนียมสูงกว่า การเลือกใช้วิธีใดขึ้นอยู่กับความต้องการและสถานการณ์ทางการเงินของผู้กู้

Latest


หนึ่งในปัญหาหนักใจของผู้ที่กำลังจะผ่อนบ้าน หรือผู้ที่กำลังจะซื้อบ้าน คือ “ดอกเบี้ยบ้าน” โดยส่วนใหญ่ 3 ปีแรก ธนาคารจะให้อัตราดอกเบี้ยแบบคงที่ ซึ่งไม่มีการปรับขึ้นลง และได้ในอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำ หลังจากปีที่ 3 จะมีการปรับเป็นอัตราดอกเบี้ยแบบลอยตัว คืออัตราดอกเบี้ยที่ขึ้นลงตามสภาพเศรษฐกิจ ซึ่งอาจจะทำให้เราเผชิญกับดอกเบี้ยที่สูงขึ้นได้ สร้างภาระการผ่อนจ่ายรายเดือนให้สูงขึ้นเช่นกัน  

แต่มี 2 วิธีที่สามารถช่วยลดภาระดอกเบี้ย และจะทำให้ผ่อนบ้านหมดไวขึ้น นั่นคือ "การรีไฟแนนซ์ (Refinance)" และ "การรีเทนชั่น (Retention)" ทั้ง 2 วิธีนี้คืออะไร ต่างกันอย่างไร จุดเด่น-จุดด้อยของทั้งสองวิธี และเหมาะสมกับใคร บทความนี้มีคำตอบ

Refinance และ Retention คืออะไร?

Refinance คือ การที่เรากู้จากธนาคารใหม่เพื่อไปชำระหนี้เก่า แล้วเราก็ไปผ่อนต่อกับธนาคารใหม่ แต่เราจะได้อัตราดอกเบี้ยที่ลดลง

Retention คือ การขอลดอัตราดอกเบี้ยกับธนาคารเดิม โดยธนาคารจะตรวจสอบประวัติการผ่อนชำระของผู้กู้และความเสี่ยงที่จะผิดนัดชำระหนี้ประกอบด้วย


จุดเด่น-จุดด้อย ของแต่ละวิธี

Refinance

จุดเด่น

  • ตัวเลือกที่หลากหลาย: ผู้กู้สามารถเปรียบเทียบข้อเสนอจากหลายธนาคาร เพื่อหาเงื่อนไขที่ดีที่สุด เช่น ดอกเบี้ยต่ำหรือระยะเวลาผ่อนชำระที่เหมาะสม
  • ขอเพิ่มวงเงินกู้ได้: โดยใช้ส่วนต่างราคาบ้านที่ธนาคารใหม่ประเมินหักกับยอดหนี้เดิม
  • สามารถลดยอดผ่อนต่อเดือนได้: เพราะเป็นการกู้ใหม่จึงตกลงเงื่อนไขใหม่กับธนาคารได้

จุดด้อย

  • ค่าธรรมเนียมสูง: เนื่องจากต้องดำเนินธุรกรรมกับธนาคารใหม่ จึงต้องเสียค่าธรรมเนียมเหมือนการยื่นกู้ใหม่ บางธนาคารไม่เสียค่าธรรมเนียม
  • ควรตรวจสอบข้อมูลแต่ละธนาคารให้ดี โดยมีค่าธรรมเนียมที่ต้องจ่ายเช่น
  • การจัดการสินเชื่อตามสัญญาใหม่ 0-3%
  • ค่าธรรมเนียมในการจำนอง 1%
  • ค่าอากรแสตมป์ 0.05%
  • ค่าประเมินราคาหลักประกัน 0.25-2%
  • ค่าประกันอัคคีภัย
  • รออนุมัตินาน: การรีไฟแนนซ์ต้องใช้เวลาในการจัดเตรียมเอกสารและการประเมินต่างๆ ทำให้ใช้เวลามากกว่าการทำ Retention
  • ต้องเตรียมเอกสารใหม่ทั้งหมด: เหมือนกับการยื่นกู้ใหม่อีกครั้ง

Retention

จุดเด่น

  • ไม่ต้องจัดเตรียมเอกสารใหม่: ผู้กู้ไม่ต้องเสียเวลาจัดเตรียมเอกสารใหม่ เนื่องจากธนาคารเดิมมีข้อมูลและเอกสารของผู้กู้อยู่แล้ว 
  • ทำให้การพิจารณาอนุมัติเร็วขึ้น บางธนาคารใช้เวลาเพียง 7 วันทำการเท่านั้น
  • ค่าธรรมเนียมต่ำ: เนื่องจากมีการดำเนินธุรกรรมกับธนาคารเดิม บางธนาคารอาจคิดค่าธรรมเนียมเพียง 1-2% ของวงเงินกู้ ซึ่งถูกกว่าการทำ Refinance

จุดด้อย

  • ตัวเลือกที่จำกัด: ผู้กู้จะสามารถเลือกได้เฉพาะเงื่อนไขที่ธนาคารเดิมเสนอให้ ซึ่งอาจไม่ดีที่สุดเมื่อเทียบกับธนาคารอื่นๆ
  • ลดดอกเบี้ยได้น้อยกว่าการ refinance
  • ไม่สามารถลดยอดผ่อนต่อเดือนได้: ลดได้เพียงอัตราดอกเบี้ย

แต่ละแบบเหมาะกับใคร?

Refinance

เหมาะสำหรับผู้กู้ที่ต้องการดอกเบี้ยที่ต่ำ ต้องการลดภาระการผ่อนชำระรายเดือน หรือปรับเปลี่ยนเงื่อนไขการชำระเงินให้เหมาะสมกับสภาพคล่องทางการเงินของตนเอง


ขั้นตอนการทำ Refinance

  • เช็กระยะเวลาการไถ่ถอนในสัญญา ส่วนใหญ่จะอยู่ที่ 3 ปี เพื่อป้องกันการโดนปรับ
  • สำรวจและเปรียบเทียบข้อเสนอจากหลายธนาคารเพื่อหาดอกเบี้ยและเงื่อนไขที่ดีที่สุด
  • เตรียมเอกสารที่จำเป็น เช่น เอกสารแสดงรายได้ ประวัติการชำระหนี้ และข้อมูลเกี่ยวกับสินเชื่อเดิม
  • ติดต่อธนาคารใหม่และกรอกใบสมัครรีไฟแนนซ์
  • ชำระค่าธรรมเนียมที่เกี่ยวข้อง

Retention

เหมาะสำหรับผู้กู้ที่ต้องการหลีกเลี่ยงค่าธรรมเนียมที่อาจเกิดขึ้นจากการรีไฟแนนซ์ และไม่ต้องการรอการอนุมัตินาน


ขั้นตอนการทำ Retention

  • เช็กระยะเวลาการไถ่ถอนในสัญญา ส่วนใหญ่จะอยู่ที่ 3 ปี เพื่อป้องกันการโดนปรับ
  • ติดต่อธนาคารปัจจุบันเพื่อขอปรับดอกเบี้ยหรือเงื่อนไขใหม่
  • เตรียมข้อมูลสินเชื่อปัจจุบันและประวัติการชำระเงิน เพื่อเจรจากับธนาคารเกี่ยวกับข้อเสนอใหม่ และเปรียบเทียบกับดอกเบี้ยในตลาด
  • ได้สัญญาเพิ่มแนบท้ายเซ็นกำกับไว้ทั้ง 2 ฝ่าย
  • ชำระค่าธรรมเนียมที่เกี่ยวข้อง

สรุป

การตัดสินใจเลือกระหว่าง Retention และ Refinance ขึ้นอยู่กับความต้องการและสถานการณ์ทางการเงินของตัวเราเอง หากคุณพอใจกับธนาคารปัจจุบันและไม่ต้องการเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม การทำ Retention อาจเป็นทางเลือกที่ดี แต่หากคุณพบว่ามีธนาคารอื่นที่เสนอเงื่อนไขที่ดีกว่า การทำ Refinance อาจช่วยลดภาระการชำระหนี้ได้มากขึ้น.

อ่านข่าวการลงทุน กับ Thairath Money ได้ที่

ติดตามเพจ Facebook : Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
กองบรรณาธิการไทยรัฐออนไลน์