ความยั่งยืน ไม่ใช่แค่เทรนด์เฉพาะกลุ่มอีกต่อไป แต่กลายเป็นบรรทัดฐาน ใหม่ที่ทุกภาคส่วนต้องไปให้ถึง หลังจากปี 2564 ในการประชุม COP26 ประเทศไทยประกาศเป้าหมายว่าจะเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ภายในปี 2050 และปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปี 2065 ได้สร้างแรงกระเพื่อมต่อภาคการเงินให้ปรับเปลี่ยนแนวทางการให้สินเชื่อ จะเห็นได้จากการประกาศเป้าหมาย Net Zero จากบรรดาธนาคารทั้งรัฐและเอกชน ตามมาด้วยการออกผลิตภัณฑ์ทางการเงิน โดยเฉพาะสินเชื่อสีเขียว(Green Loan) เพื่อช่วยเปลี่ยนผ่านลูกค้าธุรกิจไปสู่ความยั่งยืน ตามกรอบ ESG
ล่าสุด เรียกว่าเป็นพัฒนาการที่ดีของธนาคารไทยที่ทยอยออก “บัญชีเงินฝากสีเขียว (Green Deposit)” ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่เข้าถึงง่ายไม่ซับซ้อน สำหรับลูกค้าองค์กร และธุรกิจรายใหญ่ และช่วยผลักดันให้ธุรกิจรายใหญ่มีส่วนร่วมในการรักษาสิ่งแวดล้อม ในขณะเดียวกันก็เป็นการสนับสนุนสินเชื่อสีเขียวให้ธุรกิจรายเล็กเปลี่ยนผ่านไปสู่ความยั่งยืน โดยธนาคารจะนำเงินฝากนั้นไปปล่อยสินเชื่อให้กับธุรกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเท่านั้น
Thairath Money ชวนส่องพัฒนาการ “เงินฝากสีเขียว” ในปี 2567 ธนาคารไหน ทำอะไรบ้าง
เมื่อวันที่ 8 มี.ค 2567 ธนาคารกรุงศรีอยุธยา ได้เปิดตัวผลิตภัณฑ์เงินฝาก เพื่อความยั่งยืน(Sustainable Deposit) เป็นบัญชีเงินฝากประจำสกุลเงินบาท สำหรับลูกค้าธุรกิจที่มีเงินฝากยอดขั้นต่ำที่ 50 ล้านบาท และมีการระบุวัตถุประสงค์ ชัดเจนที่จะสนับสนุนโครงการธุรกิจ เพื่อสังคมและความยั่งยืน (Social and Sustainable Finance) ของธนาคารกรุงศรี เช่น สินเชื่อเพื่อสังคม เพื่อใช้ในโครงการสนับสนุน การสร้างโรงเรียน โรงพยาบาล หรือสินเชื่อสีเขียว เพื่อใช้ในโครงการที่สนับสนุน ด้านพลังงานสะอาด ทั้งนี้กรุงศรี ถือเป็นธนาคารพาณิชย์ไทย แห่งแรกที่ริเริ่มและนำผลิตภัณฑ์ดังกล่าวออกสู่ตลาดการเงินในประเทศไทย
โดยปัจจุบัน มีโตโยต้า ลีสซิ่ง (ประเทศไทย) เป็นบริษัทสัญชาติญี่ปุ่นรายแรกที่ใช้บริการเงินฝากเพื่อความยั่งยืนดังกล่าว และยังเป็นบริษัทสัญชาติญี่ปุ่นรายแรกที่รับการสนับสนุนสินเชื่อสีเขียว (Green Loan) และออกหุ้นกู้เพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อม (Green Bond) โดยผสานความร่วมมือกับธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) ในการนำเสนอออกสู่ตลาด ตั้งแต่ปี 2564
เมื่อวันที่ 21 มี.ค. 2567 ที่ผ่านมา ธนาคารกรุงไทยเปิดตัวผลิตภัณฑ์ “เงินฝากสีเขียว” (Green Deposits) ทั้งสกุลเงินบาท และ สกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ จับมือ ปตท. และ ปตท.สผ.ลงนาม “โครงการบริหารสภาพคล่องเชื่อมโยงเป้าหมายด้าน ESG ครอบคลุมผลิตภัณฑ์เงินฝากสีเขียว”
ภายใต้โครงการดังกล่าว ธนาคารจะนำเงินฝากนำเงินฝากสีเขียวจาก ปตท. และ ปตท.สผ ไปปล่อยสินเชื่อแก่โครงการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เช่น โครงการพลังงานหมุนเวียน (Renewable Energy) โครงการขนส่งด้วยพลังงานสะอาด (Clean Transportation) โครงการอาคารสีเขียว (Green Building) และมีการตั้งเป้าตัวชี้วัดด้าน ESG หาก ปตท. และ ปตท.สผ. ดำเนินงานตามเป้าหมาย ESG ได้สำเร็จ ธนาคารจะสนับสนุนผลตอบแทน หรือคาร์บอนเครดิตเพิ่มเติม
ล่าสุดการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ได้ขยายความร่วมมือกับธนาคารกรุงไทย นำบัญชีการดำเนินงานหลักของ กฟผ. เข้าร่วมโครงการเงินฝากสีเขียว ซึ่งเป็นบัญชีสำหรับทำธุรกรรมทางการเงินต่าง ๆ ทั้งการฝาก ถอน โอน ชำระเงิน รวมถึงการบริหารจัดการความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยน ถือเป็นครั้งแรกของธุรกิจธนาคารพาณิชย์ไทย ที่ได้บริหารจัดการบัญชีดำเนินงาน หลักให้กับองค์กรในรูปแบบเงินฝากสีเขียว
ล่าสุดวันนี้ 21 มิ.ย.2567 ธนาคารยูโอบี ประเทศไทย ได้เปิดตัวผลิตภัณฑ์เงินฝากสีเขียว (Green Term Deposit) ในสกุลเงินบาท สกุลเงินเหรียญสิงคโปร์ และสกุลเงินเหรียญสหรัฐ สำหรับลูกค้าองค์กรและลูกค้าสถาบันรายใหญ่ โดยธนาคารจะนำเงินฝาก ที่ได้รับจากลูกค้าไปปล่อยสินเชื่อสีเขียวแก่กิจกรรมและสินทรัพย์ประเภทต่างๆ ที่เข้าเงื่อนไขตามหลักเกณฑ์ด้าน ESG
นอกจากลูกค้าจะได้รับดอกเบี้ยจากเงินฝากแล้ว ธนาคารจะจัดส่งรายงาน เงินฝากสีเขียวประจำปี ที่รวบรวมข้อมูล และผลกระทบเชิงบวกต่อสิ่งแวดล้อม จากโครงการด้านความยั่งยืนที่ได้รับการอนุมัติของธนาคาร เช่น ข้อมูลการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เทียบเท่ากับจำนวนต้นไม้ที่ปลูก และจำนวนปริมาณการใช้รถยนต์ที่ลดลงในแต่ละปี ซึ่งบริษัทสามารถนำข้อมูล จากรายงานฉบับนี้ไปเป็นส่วนหนึ่งของการจัดทำรายงานด้านความยั่งยืน
ทั้งนี้บริษัท อาร์เซลิก ฮิตาชิ โฮม แอพพลายแอนซ์ (ประเทศไทย) จำกัด (อาร์เซลิก) และบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนเอ็มเอฟซี จำกัด (มหาชน) ถือเป็น 2 บริษัทแรก ที่เริ่มใช้บริการผลิตภัณฑ์บัญชีเงินฝากสีเขียวของธนาคารยูโอบี
ที่มา:
ติดตามข้อมูลด้านเศรษฐกิจและนโยบายรัฐบาล กับ ThairathMoney ได้ที่
https://www.thairath.co.th/money/economics/thailand_econ
ติดตามเพจ Facebook : Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้ https://www.facebook.com/ThairathMoney