มติ กนง. 6 ต่อ 1 ให้คงดอกเบี้ยเอาไว้ที่ 2.5% เหมือนเดิมโดยให้เหตุผลว่าเศรษฐกิจของประเทศฟื้นแล้วมีทิศทางที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง
นั่นคงเป็นเหตุผลที่ทำไมมติจึงออกมาอย่างนี้ เพราะที่ผ่านมามติ กนง.จะออกมา 5 ต่อ 2 ที่ให้คงดอกเบี้ยไว้เท่าเดิม
โดย ธปท.ระบุว่าเศรษฐกิจไทยปี 2567 ทั้งปีจะขยายตัวได้ 2.6% และขยับเพิ่มเป็น 3% ในปี 2568 จากการใช้จ่าย และลงทุนผ่านงบประมาณ ส่วนมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล ผลดีจากโครงการดิจิทัลวอลเล็ตถือเป็นปัจจัยเชิงบวกที่จะเข้ามาช่วยเพิ่มการขยายตัว
“หากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลได้ผลดี ปีนี้จะขยายตัว 3% ก็เป็นไปได้”
ซึ่งสอดรับกับทิศทางของรัฐบาลที่ตั้งเป้าว่าจะดำเนินการเพื่อให้จีดีพีของไทยปี 2567 ขยายตัวถึง 3%
ขึ้นอยู่กับมาตรการของรัฐบาลจะทำได้หรือไม่เท่านั้น
แต่อย่างหนึ่งที่พิสูจน์ชัดเจนก็คือ ธปท.นั้นดำเนินการต่างๆด้วยมาตรการที่เป็นหลักวิชาการโดยยึดโยงกับภาพรวมของประเทศทั้งระบบ
ไม่ใช่มองแต่เพียงจุดใดจุดหนึ่งเหมือนที่รัฐบาลพยายามที่จะสนองนโยบายของตัวเองเป็นหลัก โดยเฉพาะการบีบให้ ธปท. ลดดอกเบี้ย
จนเกิดปัญหาขัดแย้งซึ่งไม่เป็นผลดีต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนและนานาชาติ มาถึงตรงนี้รัฐบาลคงจะเข้าใจแล้ว
ทำไม ธปท.จึงต้องยืนหยัดในจุดที่เป็นหลักการสำคัญ และมั่นคงในความเป็นอิสระ ไม่ให้นักการเมืองเข้ามาล้วงลูกหรือสนองนโยบายเท่านั้น
แต่ทุกอย่างจะต้องยืนอยู่บนพื้นฐานที่เป็นเหตุเป็นผล เพื่อประโยชน์ของประเทศชาติไม่ใช่เพื่อใครคนใดคนหนึ่ง
พูดถึงเรื่องนี้แล้วเผอิญที่ว่านายปรเมธี วิมลศิริ ประธานคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย ใกล้หมดวาระ รัฐบาลต้องหาบุคคลเข้าไปทำหน้าที่แทน
“พิชัย ชุณหวชิร” รัฐมนตรีคลัง จะเป็นผู้รับผิดชอบและดำเนินการซึ่ง “เศรษฐา ทวีสิน” นายกรัฐมนตรี บอกว่าให้รัฐมนตรีเป็นผู้ดำเนินการยังไม่มีการพูดคุยในเรื่องนี้
“ทุกอย่างเป็นไปตามกลไกของการจัดตั้ง”
แต่ถึงที่สุดก็คงจะต้องหารือกัน เพราะเป็นตำแหน่งสำคัญโดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจ โดยนายกรัฐมนตรีระบุว่า คงไม่ใช่ “กิตติรัตน์ ณ ระนอง” เนื่องจากดำรงตำแหน่งประธานที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี
เพราะจะต้องลาออกจากตำแหน่งประธานที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีก่อน 1 ปี จึงจะไปดำรงตำแหน่งประธานบอร์ดแบงก์ชาติได้
พูดง่ายๆคือคุณสมบัติไม่ได้
ถ้าไม่คิดตรงนี้ เชื่อว่า “กิตติรัตน์” มีสิทธิที่จะได้ไปดำรงตำแหน่งนี้แน่ เนื่องจากเคยเป็นรัฐมนตรีคลังมาก่อนย่อมรู้งานเป็นอย่างดี
อีกทั้งระดับประธานที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีแค่ไหนคงไม่ต้องบอก
ว่าไปแล้วก็เป็นโชคดีของแบงก์ชาติเพราะ “กิตติรัตน์” นั้นถือเป็นคู่ขัดแย้งสำคัญคนหนึ่งที่โจมตีแบงก์ชาติ ทั้งเรื่องดอกเบี้ยและดิจิทัลวอลเล็ต
เพราะมันจะทำให้เกิดปัญหามากกว่าแก้ปัญหา
อยากจะบอกนายกรัฐมนตรีไว้อย่างหนึ่งว่า แบงก์ชาตินั้นเป็นองค์กรที่มีความสำคัญถือเป็นสถาบันหลักของประเทศ
จึงต้องควรให้เกียรติและยึดมั่นในความเป็นอิสระ
อย่าเอาการเมืองเข้าไปทำให้เกิดปัญหา ต้องรักษาเอาไว้ให้ดี!
“สายล่อฟ้า”
คลิกอ่านคอลัมน์ “กล้าได้กล้าเสีย” เพิ่มเติม