เปิดผลสำรวจ “ทักษะทางการเงิน” พฤติกรรมใช้-ออมเงินคนไทย 4 เจเนอเรชัน

Personal Finance

Banking & Bond

Content Partnership

Author

Content Partnership

Tag

เปิดผลสำรวจ “ทักษะทางการเงิน” พฤติกรรมใช้-ออมเงินคนไทย 4 เจเนอเรชัน

Date Time: 8 มิ.ย. 2567 06:00 น.
Content Partnership

Summary

  • ในวันที่ 13 มิถุนายนที่จะถึงนี้ “ไทยรัฐ กรุ๊ป” จะจัดงาน Thairath Forum 2024 “Talk of the GENs” เปิดเวทีความคิดหลากหลายมุมมองของคนหลายเจน เพื่อให้เกิดความเข้าใจร่วมกันของคนทุกเจเนอเรชัน

ในวันที่ 13 มิถุนายนที่จะถึงนี้ “ไทยรัฐ กรุ๊ป” จะจัดงาน Thairath Forum 2024 “Talk of the GENs” เปิดเวทีความคิดหลากหลายมุมมองของคนหลายเจน เพื่อให้เกิดความเข้าใจร่วมกันของคนทุกเจเนอเรชัน แม้ต่างวัยแต่ไม่แตกต่าง และเพื่อปูทางให้เข้าถึงพฤติกรรมของคนแต่ละ Gen ได้ง่ายขึ้น

“ทีมเศรษฐกิจ ไทยรัฐ” ได้นำรายงานผลสำรวจทักษะทางการเงินของไทย ล่าสุด ในปี 2565 ซึ่ง ธปท. ได้ร่วมกับสำนักงานสถิติแห่งชาติในการสำรวจระดับทักษะทางการเงินของคนไทยตามกรอบ ของ The Organization for Economic Co-operation and Development (OECD) โดยเป็นการสำรวจทุก 2 ปี ซึ่งในปี 2565 เป็นการสำรวจ ครั้งที่ 9 ครอบคลุมกลุ่มตัวอย่างทั้งสิ้น 12,402 ครัวเรือน ทั้งในและนอกเขตเทศบาลจากทุกจังหวัดทั่วประเทศ เพื่อให้เห็นความรู้และพฤติกรรมทางการเงินของคนแต่ละ Gen ที่แตกต่างกัน

ทั้งนี้ ผลการสำรวจปี 2565 พบว่า คนไทยมีพัฒนาการระดับทักษะทางการเงิน (Financial Literacy: FL) ดีขึ้นต่อเนื่อง โดยมีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 14.28 คะแนน จากคะแนนเต็ม 20 คะแนน หรือคิดเป็น 71.4% สูงขึ้นจากการสำรวจในปี 2563 ที่ 67.4% และอยู่ในระดับที่สูงกว่าค่าเฉลี่ยการสำรวจทักษะทางการเงินของ OECD ในปี 2563 ที่ 60.5%

โดยทักษะทางการเงินของคนไทยมีพัฒนาการที่ดีขึ้นในเกือบทุกหัวข้อ โดย 1. ด้านความรู้ทางการเงิน (Financial Knowledge: FK) : คนไทยมีคะแนนเฉลี่ยอยู่ที่ 4.88 คะแนน จากคะแนนเต็ม 7 คะแนน คิดเป็น 69.7% ปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องจาก ปี 2563 ที่ 62.6% ด้านพฤติกรรมทางการเงิน (Financial Behavior: FB): คนไทยมีคะแนนเฉลี่ยด้านพฤติกรรมทางการเงินอยู่ที่ 6.33 คะแนน จากคะแนนเต็ม 9 คะแนน คิดเป็น 70.3% โดยปรับตัวดีขึ้นจากปี 2563 ที่ 66.4% อย่างไรก็ตาม ด้านทัศนคติทางการเงิน (Financial Attitude: FA) : คนไทยมีคะแนนเฉลี่ยด้านทัศนคติทางการเงินอยู่ที่ 3.07 คะแนน จากเต็ม 4 คะแนน คิดเป็น 76.8% ซึ่งปรับตัวลดลงจากปี 2563 ที่ 77.8% เล็กน้อย

เร่งเพิ่มทักษะการเงินกลุ่ม Baby Boomer

ในขณะที่ในส่วนมิติของช่วงวัย พบว่าทุกช่วงวัยมีพัฒนาการระดับทักษะทางการเงินที่เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับปี 2563 รวมถึงองค์ประกอบด้านความรู้และพฤติกรรมทางการเงิน ขณะที่องค์ประกอบด้านทัศนคติทาง การเงินมีแนวโน้มลดลงในเกือบทุกช่วงวัย โดยเมื่อพิจารณาในแต่ละช่วงวัยพบว่ากลุ่ม Gen Baby Boomer (ผู้ที่เกิดก่อนปี 2509) มีระดับทักษะทางการเงินที่ 67.3% อยู่ในระดับต่ำที่สุดเมื่อเทียบกับช่วงวัยอื่นๆ โดยการสำรวจในด้านความรู้ทางการเงินมีค่าเฉลี่ยที่ 60.9% ซึ่งมีระดับที่ต่ำกว่าภาพรวมคนไทยอย่างมีนัยสำคัญ

ด้านพฤติกรรมทางการเงินมีคะแนนที่ดีขึ้นในเกือบทุกหัวข้อ ยกเว้นการเลือกวิธีการออมที่เหมาะสมและการตั้งเป้าหมายระยะยาว โดยมีค่าเฉลี่ยที่ 68.4% ขณะที่ด้านทัศนคติทางการเงินอยู่ในระดับใกล้เคียงกับภาพรวมของคนไทย ที่ 76.0% คะแนนทัศนคติของ Gen Baby Boomer มีแนวโน้มลดลงตามช่วงอายุที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มหลังวัยเกษียณที่มีระดับคะแนนค่อนข้างต่ำ จึงควรสร้างความตระหนักในเรื่องการวางแผนทางการเงินและการเก็บออมสำหรับอนาคตเพิ่มเติม เพื่อให้สามารถเก็บออมและมีเงินใช้จ่ายได้ตลอดช่วงอายุ

Gen X ต้องเริ่มวางแผนการออมวัยเกษียณ

ขณะที่ Gen X (ผู้ที่เกิดระหว่างปี 2509-2523) พบว่า มีระดับทักษะทางการเงินดีเป็นอันดับที่ 2 เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงวัยอื่น โดยมีค่าเฉลี่ยคะแนนที่ 73.7% ด้านความรู้ทางการเงินมีพัฒนาการที่ดีขึ้น ในข้อความเสี่ยงและผลตอบแทน มูลค่าของเงินตามกาลเวลา การกระจายความเสี่ยงในการลงทุน ส่งผลให้คะแนนเฉลี่ยเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 74.4% ด้านพฤติกรรมทางการเงินมีคะแนนเฉลี่ยอยู่ที่ 71.4% อย่างไรก็ตาม ในคำตอบข้อบริหารจัดการเงินเพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาเงินไม่พอใช้ และการเลือกวิธีการแก้ไขปัญหาเมื่อเงินไม่พอใช้ คะแนนยังอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าช่วงวัยอื่นๆ ขณะที่ด้านทัศนคติทางการเงิน มีคะแนนเฉลี่ยสูงเป็นอันดับที่ 2 ของทุกช่วงวัย ที่ 77.3% โดยมีระดับลดลงจากการสำรวจครั้งก่อนเล็กน้อย โดยอาจยังต้องเร่งพัฒนาในด้านทัศนคติให้ตระหนักถึงความสำคัญในการวางแผนทางการเงินและการออมเพื่ออนาคต พร้อมกระตุ้นให้เกิดพฤติกรรมในการตั้งเป้าหมายระยะยาวและการเลือกวิธีการออมที่เหมาะสมเพิ่มเติมเพื่อให้มีความพร้อมในการเกษียณอายุ

Gen Y ได้คะแนนทักษะการเงินสูงสุด

สำหรับกลุ่ม Gen Y (ผู้ที่เกิดระหว่างปี 2524-2543) มีระดับทักษะทางการเงินสูงที่สุดเมื่อเทียบระหว่างช่วงวัย สอดคล้องกับองค์ประกอบ ทางการเงินทั้ง 3 ด้าน ได้คะแนนเฉลี่ย 75.7% โดยด้านความรู้ทางการเงินจากพัฒนาการที่ดีขึ้นในทุกหัวข้อ ทำให้มีคะแนนเฉลี่ย 78.6% ด้านพฤติกรรมทางการเงิน มีคะแนนเฉลี่ยที่ร้อยละ 72.4% ขณะที่ด้านทัศนคติทางการเงินได้คะแนน 77.5% ซึ่งเป็นช่วงวัยเดียวที่มีระดับทัศนคติทางการเงินดีขึ้น และอยู่ในระดับที่สูงกว่าช่วงวัยอื่น

อย่างไรก็ตาม พบว่า ช่วงวัยนี้เป็นวัยที่คนบางส่วนเพิ่งเริ่มต้นเข้าสู่การทำงานและเริ่มสร้างความมั่นคงให้กับชีวิต แต่พบว่าคนในช่วงวัยนี้อาจยังบริหารจัดการเงินเพื่อให้เพียงพอกับการดำเนินชีวิตได้ไม่ดีนัก จึงควรต้องเร่งปลูกฝังทัศนคติให้เห็นความสำคัญการวางแผนเพื่ออนาคต และกระตุ้นให้เกิดพฤติกรรมทางการเงินที่ดีต่อไป

Gen Z สนใจใช้วันนี้มากกว่าออม

ส่วน Gen Z (เกิดตั้งแต่ 2540 ขึ้นไป) ได้คะแนนระดับทักษะทางการเงินเฉลี่ย 72.7% แม้จะอยู่ในระดับที่ต่ำกว่า Gen Y และ Gen X แต่ช่วงวัยนี้กลับมีพัฒนาการที่สูงกว่าทุกช่วงวัย โดยเป็นผลจากทั้งองค์ประกอบด้านความรู้และพฤติกรรมทางการเงินที่มีระดับดีขึ้น ด้านความรู้ทางการเงินมีคะแนนเฉลี่ยอยู่ที่ 77.4% เช่นเดียวกับด้านพฤติกรรมทางการเงิน ช่วงวัยนี้มีพัฒนาการสูงกว่าช่วงวัยอื่นๆ ค่อนข้างมาก โดยมีคะแนนเฉลี่ยเพิ่มขึ้นจากการสำรวจครั้งก่อนถึง 9.2% มาอยู่ที่ 69.6% แม้จะยังมีคะแนนต่ำกว่า Gen Y และ Gen X แต่ก็ห่างกันไม่มากนัก ด้านทัศนคติทางการเงิน มีคะแนนเฉลี่ย 71.3% ซึ่งอยู่ในระดับต่ำที่สุดเมื่อเทียบกับช่วงวัยอื่นในทุกหัวข้อ รวมถึงมีคะแนนเฉลี่ยรายข้อที่ลดลงจากปี 2563 ค่อนข้างมากโดยเฉพาะหัวข้อ “ใช้ชีวิตเพื่อวันนี้เท่านั้น ไม่ต้องวางแผนเพื่อวันข้างหน้าก็ได้” สะท้อนให้เห็นว่าคนในช่วงวัยนี้ที่ส่วนใหญ่ยังไม่คำนึงถึงการวางแผนการเงิน เพื่ออนาคตมากนัก

“วัยทำงาน” เจอปัญหาภัยการเงินสูงสุด

ขณะที่การสำรวจทักษะทางการเงินดิจิทัล และการตระหนักรู้เรื่องภัยทางการเงิน พบว่าระดับทักษะทางการเงินดิจิทัลของคนไทย คนส่วนใหญ่กว่า 73.3% ทราบว่าการแชร์ข้อมูลส่วนบุคคลบนสื่อโซเชียลมีเดียมีความเสี่ยงที่มิจฉาชีพอาจนำข้อมูลดังกล่าวไปใช้ ทั้งนี้ สัดส่วนผู้มีความรู้ในเรื่องความเสี่ยงจากการแชร์ข้อมูลส่วนบุคคลนี้มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นผกผันกับอายุ โดยมีกลุ่ม Gen Baby Boomer มีเพียง 61.8% เท่านั้นที่ตอบว่าทราบถึงความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น ซึ่งมีสัดส่วนค่อนข้างต่ำเมื่อเทียบกับช่วงวัยอื่นๆ และพบว่ามีคนไทยเพียง 21.0% ที่มีพฤติกรรมการเปลี่ยนรหัสผ่านการเข้าใช้งานระบบออนไลน์เป็นประจำ โดยเฉพาะเมื่อเปรียบเทียบกลุ่ม Gen Baby Boomer ที่มีสัดส่วนผู้มีพฤติกรรมที่ดีน้อยกว่ากลุ่ม Gen Z ถึง 2.75 เท่า

สำหรับหัวข้อที่เป็นจุดอ่อนร่วมของคนทุกช่วงวัยคือทัศนคติต่อการใช้ระบบ ไวไฟ (Wi-Fi) สาธารณะเพื่อซื้อของออนไลน์โดยมีเพียง 34.8% ที่ตระหนักว่าการกระทำดังกล่าวไม่ ปลอดภัย โดยคนแต่ละช่วงวัยได้คะแนนในข้อนี้ใกล้เคียงกับค่าเฉลี่ยของประเทศ ขณะที่ด้านความตระหนักรู้ด้านภัยทางการเงิน เมื่อพิจารณาตามช่วงวัย พบว่ากลุ่มคนที่อยู่ในวัยทำงาน (Gen Y และ X) เป็นกลุ่มที่มีสัดส่วนการพบเหตุการณ์ภัยทางการเงินมากกว่าช่วงวัยอื่น และ Gen Baby Boomer เป็นช่วงวัยประสบเหตุการณ์น้อยที่สุด.


Author

Content Partnership

Content Partnership