นายรักษ์ วรกิจโภคาทร กรรมการผู้จัดการธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (เอ็กซิมแบงก์) เปิดเผยว่า ธนาคารมีแผนออกพันธบัตรสีฟ้า (บลูบอนด์) วงเงิน 3,000 ล้านบาท เพื่อระดมทุนมาปล่อยกู้ให้ผู้ประกอบการที่ทำธุรกิจเป็นมิตรกับท้องทะเลและมหาสมุทร จากที่ผ่านมา ได้ปล่อยสินเชื่อสนับสนุนธุรกิจสีฟ้ามาต่อเนื่อง โดยคาดว่า ปีนี้ ธนาคารจะออกพันธบัตรเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมเพียงครั้งเดียว แต่ยังมีสภาพคล่องเพียงพอใช้ปล่อยกู้ได้ โดยเฉพาะสนับสนุนสินเชื่อเพื่อปรับตัวสู่องค์กรอย่างยั่งยืน (อีเอสจี) ที่มุ่งให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาลของธุรกิจ โดยตั้งเป้าหมายจะขยายสัดส่วนพอร์ตสินเชื่ออีเอสจีจาก 38% เป็น 50% ในปี 70
“ต้องการส่งเสริมให้ธุรกิจไทยปรับตัวรับเทรนด์สิ่งแวดล้อม เพราะทั่วโลกจะสร้างกำแพงมากีดกันทางการค้า การทำธุรกิจเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ หากธุรกิจไม่ปรับตัวจะแข่งลำบาก และอาจมีต้นทุนธุรกิจสูงขึ้น เช่น ข้าวสารปกติขายตันละ 15,000 บาท แต่หากนำคาร์บอนเครดิตมาใช้ อาจราคาสูงถึงตันละ 24,000 บาท ซึ่งจะแข่งขันได้ยากหากไม่ปรับตัว”
สำหรับการใช้มาตรการทางการค้าที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อมทั่วโลก เพิ่มขึ้นเฉลี่ยปีละ 16% โดยเฉพาะตลาดส่งออกหลักของไทย ได้แก่สหรัฐฯ สหภาพยุโรป (อียู) จีน ญี่ปุ่น และอินเดีย ซึ่งมีสัดส่วนการส่งออก 51% ของมูลค่าส่งออกรวม และมีแนวโน้มจะใช้มาตรการเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ดังนั้น ไทยต้องปรับตัวไปสู่อุตสาหกรรมสีเขียว ขณะที่ผลดำเนินงานธนาคารไตรมาสแรก ปี 67 อนุมัติสินเชื่อใหม่ 5,853 ล้านบาท มีสินเชื่อคงค้างและภาระผูกพัน 174,196 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 11,474 ล้านบาท หรือ 7.05% โดยมีสินเชื่อคงค้างและภาระผูกพันที่เป็นอีเอสจี 67,310 ล้านบาท สัดส่วน 38.64% ของยอดทั้งหมด เติบโตถึง 55.19% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน.
อ่าน “คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ” ทั้งหมดที่นี่