ห่วงบัตรเครดิต-รายย่อยเบี้ยวหนี้เพิ่ม ธปท.รับลูก รมว.คลังช่วยเอสเอ็มอี

Personal Finance

Banking & Bond

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

ห่วงบัตรเครดิต-รายย่อยเบี้ยวหนี้เพิ่ม ธปท.รับลูก รมว.คลังช่วยเอสเอ็มอี

Date Time: 22 พ.ค. 2567 08:01 น.

Summary

  • ระบบธนาคารพาณิชย์ไทยไตรมาสแรกของปีนี้ยังมีเสถียรภาพ สินเชื่อไตรมาส 1 กลับมาขยายตัวเพิ่มขึ้น 0.7% จากระยะเดียวกันปีก่อน แต่เริ่มเห็นการเพิ่มขึ้นของหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล)

Latest

ออมสินเปิดแพลตฟอร์มเงินดีดี ปล่อยกู้คนกู้แบงก์ไม่ผ่าน

น.ส.สุวรรณี เจษฎาศักดิ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายกำกับสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ระบบธนาคารพาณิชย์ไทยไตรมาสแรกของปีนี้ยังมีเสถียรภาพ สินเชื่อไตรมาส 1 กลับมาขยายตัวเพิ่มขึ้น 0.7% จากระยะเดียวกันปีก่อน แต่เริ่มเห็นการเพิ่มขึ้นของหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) โดยหนี้เอ็นพีแอลของสินเชื่ออุปโภคและบริโภค และลูกหนี้กลุ่มเปราะบางเป็นลูกหนี้ที่ ธปท.มีความเป็นห่วงมากที่สุด เพราะรายได้ยังไม่กลับมาพอ ขณะเดียวกันในไตรมาสนี้ยังเห็นหนี้เอ็นพีแอลธุรกิจรายใหญ่เพิ่มขึ้นด้วย เนื่องจากธนาคารได้ตัดลูกหนี้บางรายเป็นเอ็นพีแอล หลังเห็นปัญหาด้านผลประกอบการ ขณะที่ยอมรับว่าลูกหนี้เอ็นพีแอลจะค่อยๆทยอยเพิ่มขึ้น

“ตามวงจรปกติในช่วงที่มีเทศกาลจับจ่าย เช่น สงกรานต์ หรือช่วงเปิดเทอม จะมีการขาดส่งหนี้เพิ่มขึ้น ขณะที่การปรับการชำระขั้นต่ำของบัตรเครดิตขึ้นมาจาก 5% เป็น 8% นั้น อาจจะมีส่วนบ้าง แต่ยืนยันว่าเอ็นพีแอลจะไม่ได้เพิ่มขึ้นก้าวกระโดดจนบริหารจัดการไม่ได้ ทั้งนี้ หากพิจารณาตามจำนวนรายของลูกหนี้ พบว่าลูกหนี้บัตรเครดิตในไตรมาสแรกเป็นหนี้เสียเพิ่มขึ้นมากที่สุด แต่หากคิดเป็นมูลค่า เนื่องจากลูกหนี้ธุรกิจมีมูลค่าหนี้ต่อรายสูง เมื่อเป็นหนี้เสียรายหนึ่งเอ็นพีแอลก็เพิ่มขึ้นจำนวนมาก ทำให้ยอดหนี้เอ็นพีแอลธุรกิจขนาดใหญ่เพิ่มมากที่สุดในไตรมาสนี้”

น.ส.สุวรรณี กล่าวต่อว่า นอกเหนือจากหนี้เอ็นพีแอลที่เพิ่มขึ้นแล้ว เรายังเห็นลูกหนี้ที่ขาดส่ง 1 เดือน แต่ไม่เกิน 3 เดือน หรือลูกหนี้ที่มีความเสี่ยงในการชำระหนี้ไม่ได้ (เอสเอ็ม) เพิ่มขึ้นสูงมากด้วย โดยลูกหนี้กลุ่มที่ทยอยเป็นเอ็นพีแอลและเอสเอ็ม หากเป็นสินเชื่อบัตรเครดิตหรือสินเชื่อส่วนบุคคล จะเป็นลูกหนี้ที่มีรายได้รวม 15,000-20,000 บาทต่อเดือน ขณะที่สินเชื่อบ้านจะเป็นบ้านต่ำกว่า 3 ล้านบาท หรือมีรายได้ 30,000 บาทต่อเดือน ทำให้ต้องจับตากลุ่มนี้อย่างใกล้ชิด และอยากให้ลูกหนี้ที่มีปัญหาการชำระหนี้มาติดต่อเพื่อปรับโครงสร้างหนี้กับธนาคารพาณิชย์

ส่วนความเป็นห่วงลูกหนี้ธุรกิจเอสเอ็มอีนั้น ผู้ช่วยผู้ว่าการ ธปท. กล่าวว่า ลูกหนี้เอสเอ็มอีเป็นอีกส่วนที่ ธปท.มีความเป็นห่วง ทั้งการเข้าถึงสินเชื่อได้ยากขึ้น และคุณภาพหนี้ที่อาจจะด้อยลง โดยในการหารือระหว่างผู้ว่าการ ธปท.กับรองนายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง ที่ผ่านมา การเข้าถึงสินเชื่อ โดยเฉพาะเอสเอ็มอีเป็นเรื่องสำคัญ ซึ่งสาเหตุหนึ่งคือความเสี่ยงด้านหลักประกัน โดยจะคุยรายละเอียดกันระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป

น.ส.อัจจนา ล่ำซำ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายตรวจสอบแบบจำลองและวิเคราะห์ความเสี่ยงสถาบันการเงิน ธปท. กล่าวว่า หนี้เอ็นพีแอลไตรมาสแรกปีนี้ปรับเพิ่มมาอยู่ที่ 502,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 9,800 ล้านบาท หรือ 2.74% ของสินเชื่อรวม เพิ่มขึ้นจาก 2.66% ในไตรมาสก่อนหน้า โดยเอ็นพีแอลของสินเชื่ออุปโภคบริโภคขึ้นมาเป็น 2.99% จาก 2.88% ขณะที่เอ็นพีแอลของสินเชื่อธุรกิจเพิ่มขึ้นเป็น 2.64% จาก 2.57% โดยสินเชื่อที่เอ็นพีแอลเพิ่มมากคือสินเชื่อบัตรเครดิตเพิ่มจาก 3.57% เป็น 4.13%

ขณะที่สินเชื่อลูกหนี้เอสเอ็มในไตรมาสแรกขึ้นมาอยู่ที่ 6.13% ของสินเชื่อรวมจาก 5.88% ในไตรมาสก่อน หรือคิดเป็นมูลหนี้ 1.12 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 34,000 ล้านบาท โดยเอสเอ็มสินเชื่ออุปโภคบริโภค เพิ่มขึ้นเป็น 7.04% จาก 6.89% ในไตรมาสก่อน ขณะที่ลูกหนี้ที่มีความเสี่ยงในภาคธุรกิจก็เพิ่มขึ้นเช่นกัน โดยเอสเอ็มเพิ่มขึ้นจาก 5.45% เป็น 5.74% โดยสินเชื่อบัตรเครดิตเพิ่มขึ้นมากที่สุด โดยในไตรมาสนี้เอสเอ็มอยู่ที่ 14.49% ของสินเชื่อรวม.

อ่าน "คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ" ทั้งหมดที่นี่


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ