วันงงๆของคลังกับแบงก์ชาติ

Personal Finance

Banking & Bond

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

วันงงๆของคลังกับแบงก์ชาติ

Date Time: 21 พ.ค. 2567 07:40 น.

Latest

ปลดล็อกเรื่องภาษี!

ความเห็นต่างไม่ใช่ความผิดและเป็นเรื่องปกติ แต่ความเห็นต่างระหว่าง “เศรษฐา ทวีสิน” นายกรัฐมนตรีและอดีต รมว.คลัง กับ “เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ” ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) หรือแบงก์ชาติ เป็นเรื่องปกติที่ถูกโจษจันไปทั่วตลอด 7 เดือนของการเข้าปฏิบัติ หน้าที่ของรัฐบาล

นับตั้งแต่เข้ามาบริหารประเทศ เดือน ก.ย.66 นายเศรษฐานัดผู้ว่าการ ธปท. เข้าหารือครั้งแรก ณ ทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 10 ม.ค.67 ที่ผ่านมา มีการเผยแพร่ภาพการพบปะแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ซึ่งไม่สอดคล้องกัน

เห็นต่างแรก คือการปรับลดดอกเบี้ยนโยบาย โดยรัฐบาล “เศรษฐา” ต้องการให้คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายจาก 2.50 % ลงมา 0.25% ขณะที่ กนง.เห็นว่าอัตรา 2.50% เหมาะสมดีอยู่แล้ว จึงมติให้คงดอกเบี้ยต่อไป

เห็นต่างที่สอง คือ โครงการเติมเงิน 10,000 บาทผ่านดิจิทัลวอลเล็ต ซึ่ง ธปท.ได้ทำหนังสือถึงคณะรัฐมนตรี (ครม.) แสดงความห่วงใยและไม่เห็นด้วย หวั่นกระทบเสถียรภาพการคลังของประเทศ เนื่องจากเป็นการนำเงินงบประมาณมาแจกให้ประชาชน 50 ล้านคน

7 เดือนผ่านไป ความเห็นต่างกันอย่างสุดขั้วใน 2 เรื่องใหญ่ ยังไม่สามารถสะสาง ยิ่ง “แพทองธาร ชิน วัตร” หัวหน้าพรรค เพื่อไทย รวมถึงสมาชิก พรรค ออกมาวิพากษ์การทำงานที่อิสระเกินขอบเขต ไม่ยอมทำความเข้าใจและร่วมมือ กับรัฐบาลของ ธปท. ยิ่งเป็นการเติมเชื้อไฟ แต่สุดท้ายก็ยัง ทำอะไร ธปท.ไม่ได้

ต่อมามีการปรับ ครม.เศรษฐา ได้ขุนคลังคนใหม่นาม “พิชัย ชุณหวชิร” นั่งกุมบังเหียนรองนายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง เมื่อใช้ไม้แข็งแบบนายกรัฐมนตรีไม่ได้ ขุนคลัง “พิชัย” จึงหันมาใช้ไม้นวม หลังเข้ารับตำแหน่งอย่างเป็นทางการที่กระทรวงการคลัง เมื่อวันที่ 14 พ.ค.2567 ขุนคลังประกาศขอนัดผู้ว่าการ ธปท. มาหารือ จะเป็นที่กระทรวงการคลัง หรือให้ไปหาถึงวังบางขุนพรหมก็ได้ ในฐานะที่เคยเป็นคณะกรรมการ (บอร์ด) ธปท.มาก่อน

ต่อมาในวันที่ 16 พ.ค. ทั้ง 2 ฝ่ายจึงได้มีโอกาสพบปะพูดคุย โดยผู้ว่าการ ธปท.เป็นฝ่ายเดินทางมาพบ รมว.คลังที่กระทรวงเอง ในเวลา 09.00-10.00 น.

แต่เมื่อถึงวันเวลานัดหมาย ทั้ง 2 ฝ่ายใช้วิธีสับขาหลอก หลบทัพสื่อมวลชนที่มาเฝ้ารุมล้อม หนีไปขึ้นอีกตึกที่มีทางเชื่อมถึงห้องทำงาน รมว.คลัง และยังขอร้องไม่ให้ผู้ว่าการ ธปท.สัมภาษณ์สื่อมวลชน รวมทั้งให้หลีกเลี่ยงการถูกถ่ายภาพเป็นพยานหลักฐาน

จนเป็นชนวนให้สงสัยว่าผู้ว่าการ ธปท.มาพบจริงหรือไม่ เนื่องจากไม่เห็นแม้แต่กระทั่งเงา เดินวนรอบกระทรวงการคลัง ก็ยังไม่เห็นแม้แต่รถประจำตำแหน่ง หรือแม้กระทั่งรถยนต์ส่วนตัว

จนกระทั่ง รมว.คลังออกมาให้สัมภาษณ์ว่า การหารือร่วมกับผู้ว่าการ ธปท.นานกว่า 2 ชั่วโมง เป็นไปอย่างชื่นมื่น เพราะคุยภาษาเดียวกัน ทำความเข้าใจกันและคุ้นเคยกันเป็นอย่างดี แถมยังมีความเห็นคล้ายๆกันว่า “เมืองไทยต้องปรับโครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับประเทศ”

รมว.พิชัยให้สัมภาษณ์ว่า การหารือครั้งนี้เป็นครั้งแรกเท่านั้น จะต้องหารือกันอีกหลายรอบ และผู้ว่าการ ธปท. ได้รับโจทย์ไปแล้ว จะไปทำการบ้าน เพื่อนำมาหารือกันอีกครั้ง ทั้งการพิจารณาปรับกรอบอัตราเงินเฟ้อใหม่ให้เหมาะสม จากปัจจุบันกำหนดไว้ที่ 1-3% ซึ่งกำหนดไว้นานแล้ว เมื่อสถานการณ์เศรษฐกิจเปลี่ยนไป น่าจะถึงเวลาทบทวน

เช่นเดียวกับอัตราดอกเบี้ย ธปท.ต้องกลับไปทบทวน แม้รัฐบาลจะเป็นห่วงและกังวลว่าอัตราดอกเบี้ยยังอยู่ในระดับสูง แต่ไม่มากเท่ากับปัญหาการเป็นหนี้ของประชาชนและการเข้าไม่ถึงแหล่งเงินทุน ธปท.และสถาบันการเงินของรัฐ ต้องร่วมกันแก้ไขเงื่อนไขการปล่อยสินเชื่อ และยังมีอีกหลายเรื่องที่รัฐบาลและ ธปท.ต้องหารือทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิด เพื่อประโยชน์ประเทศชาติ

และก็เช่นเคย เรื่องราวดีๆ ออกมาจากฝั่ง รมว.คลังเท่านั้น จึงเป็นการฟังความข้างเดียว ขณะที่ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ใช้กลยุทธ์เดิม หนีหน้าสื่อเป็นหลัก!!!

ดวงพร อุดมทิพย์

คลิกอ่านคอลัมน์ "THE ISSUES" เพิ่มเติม


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ