ไทยพาณิชย์เปิด 3 นวัตกรรม AI อนุมัติสินเชื่อ-แนะลงทุนตอกย้ำผู้นำดิจิทัลแบงก์

Personal Finance

Banking & Bond

กองบรรณาธิการ

Author

กองบรรณาธิการ

Tag

ไทยพาณิชย์เปิด 3 นวัตกรรม AI อนุมัติสินเชื่อ-แนะลงทุนตอกย้ำผู้นำดิจิทัลแบงก์

Date Time: 18 พ.ค. 2567 05:05 น.

Summary

  • “ไทยพาณิชย์” ปักหมุดผู้นำดิจิทัลแบงก์ เปิด 3 นวัตกรรม AI ใช้อนุมัติสินเชื่อรายย่อย 100% เปิดตัว AI Advisory Chatbot แชตบอต ถามได้รู้ทุกเรื่องข้อมูลกองทุน และบริการ My Alert แจ้งเตือนการลงทุนแบบเจาะเฉพาะบุคคล ตอบโจทย์ลูกค้ายุคดิจิทัล

Latest

ชัชวาลย์ เจียรวนนท์ ส่ง Lightnet จับมือ WeLab ฟินเทคฮ่องกง ลงสนามชิงใบอนุญาตฯ Virtual Bank

นายกฤษณ์ จันทโนทก ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารไทยพาณิชย์ เปิดเผยว่า ตั้งแต่เข้ามาทำงานที่ไทยพาณิชย์ จนถึงวันนี้ 456 วันที่ผ่านมา ธนาคารไทยพาณิชย์ ได้ดำเนินงานภายใต้กลยุทธ์ Digital Bank with Human Touch มาอย่างต่อเนื่อง โดยมีเป้าหมายการเป็นดิจิทัลแบงก์ที่เป็นอันดับหนึ่ง ด้านการบริหารความมั่งคั่ง ผ่านประสบการณ์การให้บริการที่เชื่อมถึงกันอย่างไร้รอยต่อในทุกช่องทาง ส่งผลให้ธนาคารยังคงมีผลประกอบการที่เป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ในทุกด้าน โดยในไตรมาสแรกของปีนี้ มีกำไรสุทธิจำนวน 13,299 ล้านบาท เติบโต 13.7% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว อัตราส่วนค่าใช้จ่ายต่อรายได้ (C/I) อยู่ที่ 37.7% และมีผลตอบแทนสำหรับผู้ถือหุ้น (ROE) 12.7% สูงที่สุดในอุตสาหกรรมและสร้างรายได้จากช่องทางดิจิทัลขยับสู่ 9.9% ของรายได้รวม

นอกจากนั้น จนถึงขณะนี้ธนาคารไทยพาณิชย์ ยังปล่อยสินเชื่อเพื่อความยั่งยืนได้สูงที่สุดอีกด้วย โดยมียอดคงค้าง 86,000 ล้านบาท และจะสามารถปล่อยสินเชื่อได้ตามเป้าหมาย 3 ปีของธนาคารที่ 150,000 ล้านบาท

เดินหน้าสู่การเป็น AI-First Bank ของไทย

“จากเทรนด์การเงินของโลก จากนี้ไป เรื่องแรก ธนาคารต้องคำนึงถึงลูกค้าเป็นศูนย์กลาง ต้องตอบสนองความต้องการทางการเงินได้อย่างรวดเร็ว แม่นยำแบบเฉพาะบุคคล โดย 83% ของลูกค้าธนาคารทั่วโลกต้องการนวัตกรรมการเงินที่ทันสมัย ขณะที่ 82% ของธนาคารทั่วโลกใช้ข้อมูลเพื่อปรับปรุงประสบการณ์ลูกค้า และป้องกันมิจฉาชีพ (Fraud) ซึ่งธนาคารมีแนวทางชัดเจนที่จะเป็นดิจิทัลแบงก์เต็มรูปแบบ ซึ่งจะต่อยอดไปสู่เทรนด์โลกที่ 2 คือ ความได้เปรียบทางการแข่งขันกับคู่แข่งในตลาดที่กำลังเพิ่มมากขึ้น และเทรนด์ที่ 3 คือ การดูแลชุมชน ทั้งการดูแลคน เพิ่มทักษะดิจิทัลให้พนักงาน และการดูแลคนตัวเล็ก ดูแลชุมชน ดูแลสังคมไปพร้อมกันด้วย”

ในปีนี้ได้ให้ความสำคัญกับการนำเทคโนโลยี AI มาขับเคลื่อนธุรกิจธนาคารในทุกมิติ โดยได้กำหนดการดำเนินงานเชิงกลยุทธ์ภายใต้โมเดล Better Brain นำ AI และ Machine Learning มาพัฒนาใช้งานวางรากฐาน โดยใช้ AI ในการเก็บและวิเคราะห์ข้อมูลของลูกค้า เพื่อให้เป็นธนาคารที่รู้จักรู้ใจลูกค้าเป็นรายบุคคล ทำให้เข้าถึงบริการผ่านแพลตฟอร์มดิจิทัลของธนาคารได้ทุกที่และทุกเวลา รวมทั้งให้บริการที่ดีขึ้นให้กับลูกค้า

เปิดนวัตกรรม AI อนุมัติสินเชื่อ-ตามหนี้เสีย

ธนาคารได้พัฒนา 3 นวัตกรรม AI ที่พร้อมมอบประสบการณ์ใหม่ให้กับลูกค้าธนาคารไทยพาณิชย์เป็นครั้งแรก คือ 1.การนำ AI อนุมัติสินเชื่อรายย่อย 100% ครอบคลุมสินเชื่อเคหะ สินเชื่อเช่าซื้อ และสินเชื่อเพื่อผู้ประกอบการรายย่อย (SSME) ทราบผลอนุมัติภายใน 10 นาที และการใช้เพื่อประเมินความเสี่ยงลูกค้าจากข้อมูลเชิงลึก จะช่วยกำหนดอัตราดอกเบี้ยที่เหมาะสมให้กับลูกค้า ซึ่งจะไม่เพียงช่วยลูกค้า แต่ยังช่วยวิเคราะห์ความเสี่ยงของการเป็นหนี้เสียของลูกหนี้แต่ละราย ระยะเวลาที่ควรโทร.ติดตามหนี้ โดยหลังจากที่เริ่มให้ AI อนุมัติสินเชื่อรายย่อย พบว่า มีลูกค้าจำนวนหนึ่ง โดยเฉพาะผู้ประกอบการอาชีพอิสระที่ไม่เคยเข้าถึงสินเชื่อธนาคาร ได้รับอนุมัติสินเชื่อ ขณะที่การลดหนี้เสียนั้น เชื่อว่าในอนาคตเมื่อ AI ได้มีการเรียนรู้และมีข้อมูลมากขึ้น จะมีโอกาสช่วยลดหนี้เสียได้

ขณะที่นวัตกรรมที่ 2 ด้วยความมุ่งมั่นที่จะเป็นผู้นำอันดับหนึ่งในธุรกิจบริหารความมั่งคั่ง ธนาคารจึงนำ AI เข้ามาช่วยให้คนลงทุนได้ง่ายขึ้นผ่านช่องทางดิจิทัล หลังจากพบว่า การเติบโตทางด้านธุรกรรมบน SCB EASY ขยายตัวขึ้นราว 23% และพบว่าลูกค้าให้ความสนใจซื้อประกันในช่องทางนี้เพิ่มขึ้นถึง 5 เท่า มีจำนวนครั้งของการลงทุนบนช่องทางดิจิทัลสูงกว่าช่องธรรมดา 7 เท่า ธนาคารจึงได้พัฒนาบริการ AI Advisory Chat bot บนช่องทาง SCB Connect เป็นแชตบอต ที่สามารถโต้ตอบและให้ข้อมูลการลงทุน ลูกค้าสามารถสอบถามข้อมูลกองทุนที่สนใจ ขณะที่นวัตกรรมที่ 3 การพัฒนาบริการแจ้งเตือน My Alert นำ AI เป็นผู้ช่วยดูแลพอร์ตการลงทุนรายบุคคลตลอด 24 ชั่วโมง

AI ไม่กระทบ “คนทำงาน-สาขา”

“ผมมองว่า AI เป็นยุทธวิธีที่จะไปสู่ความสำเร็จ แต่ไม่ใช่ทดแทนคน ธนาคารยังจำเป็นต้องมีพนักงาน มีสาขา เพราะถึงแม้ว่าการเข้าถึงบริการผ่านโลกออนไลน์ทำได้ง่าย แต่การมีความสัมพันธ์กับลูกค้า การเข้าใจและเข้าถึงความรู้สึกของลูกค้ายังต้องใช้คน และต่อไปการให้บริการโดยคนจะทำให้ลูกค้าได้รับความสำคัญจากธนาคาร”

“ท่ามกลางเศรษฐกิจไทยที่ยังมีความเสี่ยงสูง ทั้งเศรษฐกิจโลกที่ขยายตัวต่ำ ความเสี่ยงทางภูมิรัฐศาสตร์ และภูมิอากาศสูงขึ้น ครัวเรือนไทยยังมีปัญหาการฟื้นตัว โดยที่ผ่านมาเราเห็นครัวเรือนที่รายได้ต่ำกว่า 20,000 บาทต่อเดือนเหนื่อยมาก และจากนี้มองว่าครัวเรือนรายได้ปานกลางที่มีรายได้ 60,000 บาทต่อเดือนจะเหนื่อยมากขึ้น การที่เราจะให้น้ำหนักไปที่การเน้นการปล่อยสินเชื่อ รายได้จากดอกเบี้ยแบบสุดซอย คงทำได้ยากมากขึ้น จึงอยากจะสร้างความสมดุลรายได้ในส่วนของค่าธรรมเนียมมากขึ้น โดยเชื่อมั่นว่า AI จะสร้างการเปลี่ยนแปลงครั้งใหม่ และจะเป็นหัวใจหลักในการผลักดันรายได้ทางดิจิทัลของธนาคารให้เติบโตตามเป้าเป็น 13-15% ภายในปีนี้ และสู่เป้าหมาย 25% ในปี 2568 สร้างสมดุลของโครงสร้างรายได้ให้เติบโตอย่างยั่งยืน” นายกฤษณ์กล่าว.

อ่าน “คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ” ทั้งหมดที่นี่


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ