วิกฤติหนัก ผู้บริหาร “C-Level” กู้เงินสวัสดิการพุ่ง ปัญหาเงินขาดมือลามขึ้น “ผู้มีรายได้สูง”

Personal Finance

Banking & Bond

กองบรรณาธิการ

Author

กองบรรณาธิการ

Tag

วิกฤติหนัก ผู้บริหาร “C-Level” กู้เงินสวัสดิการพุ่ง ปัญหาเงินขาดมือลามขึ้น “ผู้มีรายได้สูง”

Date Time: 10 พ.ค. 2567 15:59 น.

Video

ล้วงไส้ TEMU อีคอมเมิร์ซจีน บุกไทย ทำไมอาจสร้างวิบากกรรมกว่าที่คิด ? | Digital Frontiers

Summary

  • หลังจากที่ “แรบบิท แคช” แพลตฟอร์มผู้ให้บริการสินเชื่อดิจิทัล (Digital Lending) เปิดเผยข้อมูลว่า พนักงานระดับ C-Level หันมากู้ค่อนข้างเยอะ สะท้อนปัญหาสภาพคล่องของคนไทย

Latest


รายจ่ายมากกว่ารายรับ ค่าครองชีพพุ่งสูง เศรษฐกิจฟื้นตัวช้า ส่งผลให้ระดับรายได้ของครัวเรือนฟื้นตัวได้อย่างจำกัด ขณะที่ต้นทุนทางการเงินเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว จุดชนวนสำคัญที่ทำให้กระทบต่อความสามารถในการชำระหนี้และคุณภาพของหนี้ ซึ่งอาจทำให้หนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีของไทย ณ สิ้นปี 2567 จะอยู่ที่ 91.4% หรือราว 16.9 ล้านล้านบาท

รวมทั้งอุปสรรคจากการไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนในระบบของลูกหนี้บางส่วน ทำให้ต้องพึ่งพาแหล่งเงินกู้นอกระบบ และเผชิญกับปัญหาวังวนหนี้ไม่รู้จบ 

ด้วยเหตุผลดังกล่าว “แรบบิท แคช” แพลตฟอร์มผู้ให้บริการสินเชื่อดิจิทัล (Digital Lending) ภายใต้การกำกับของธนาคารแห่งประเทศไทย ต้องการที่จะให้คนไทยเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ง่าย รวดเร็ว อย่างเท่าเทียม จึงได้เปิดตัว “สินเชื่อสวัสดิการ” เมื่อปีที่ผ่านมา เพื่อเป็นเครื่องมือให้บริษัทต่างๆ ช่วยเหลือทางการเงินให้แก่พนักงาน ที่จำเป็นต้องใช้เงินแบบเร่งด่วน 

C-Level หันมากู้ค่อนข้างเยอะ

รัชนี แสนศิลป์ชัย ประธานกรรมการบริหาร บริษัท แรบบิท แคช จำกัด ระบุว่า จากการปล่อยกู้มา 1 ปี พบว่าผู้ที่มาใช้บริการมีทุกกลุ่ม ตั้งแต่ Staff ไปจนถึง Manager แต่ที่น่าสนใจคือ ระดับ C-Level มาใช้บริการค่อนข้างเยอะ และส่วนใหญ่วงเงินกู้เฉลี่ยอยู่ที่ 30,000 บาท ระยะเวลาอยู่ที่ 12-24 เดือน สะท้อนให้เห็นว่าคนไทยกำลังมีปัญหาเรื่องสภาพคล่องอย่างมาก

ปัจจุบันมีบริษัทที่เข้าร่วมอยู่ประมาณ 250 แห่ง โดยส่วนใหญ่จะเป็นบริษัทที่มีพนักงานตั้งแต่ 50 คนขึ้นไป ทั้งโรงงาน เดลิเวอรี่ และบริษัททั่วไป ทั้งนี้ 20-30% ของพนักงานในบริษัทใช้บริการนี้ ส่วน NPL อยู่ที่ 0.5% ทำให้ในปี 2567 ทางแรบบิท แคช ตั้งเป้าที่จะมีบริษัทเข้าร่วมในระบบประมาณ 500 แห่ง พร้อมกับเตรียมวงเงินสินเชื่อไว้ประมาณ 1,000 ล้านบาท 

ทั้งนี้ สินเชื่อสวัสดิการจะเป็นการให้กู้สำหรับพนักงานประจำ โดยพิจารณาจาก เรตติ้งบริษัท อายุงาน ตำแหน่งงาน ส่วนวงเงินกู้เริ่มต้น 3,000 บาท ไปจนถึง 1 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ย 15% ต่อปี คิดเป็น 1.25% ต่อเดือน แบบลดต้นลดดอก ไม่ต้องส่งเอกสาร ไม่ต้องมีบุคคล หรือทรัพย์สินค้ำประกัน ทั้งผู้กู้และองค์กร ทั้งนี้วงเงินกู้ขึ้นอยู่กับความสามารถและระยะเวลาในการชำระหนี้ของแต่ละบุคคลด้วยเช่นกัน อีกทั้งยังสามารถกำหนดเงื่อนไขเฉพาะของแต่ละองค์กรได้อีกด้วย รวมทั้งจ่ายผ่าน mobile banking ของทุกธนาคารไม่เสียค่าธรรมเนียม และเมื่อชำระหนี้ครบ กู้ใหม่ได้ทันที

ตัดยอดชำระหนี้ผ่านบัญชีเงินเดือน

อย่างเช่น นาย ก. มีฐานเงินเดือน (รวมโอที โบนัส ค่าคอมมิชชั่น) อยู่ที่ 20,000 บาท หักค่าประกันสังคม กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ภาษี จะเหลือเงินอยู่ที่ 15,000 บาท จะให้เงินกู้ได้สูงสุด 20% ที่ นาย ก. จะสามารถนำมาจ่ายชำระหนี้ในเดือนนั้นได้ คิดง่ายๆ 15,000 x 20% เท่ากับ 3,000 บาท ที่ นาย ก. สามารถจ่ายได้ในแต่ละเดือน และเมื่อได้ระยะเวลา 12 เดือนในการผ่อนชำระหนี้ เท่ากับว่าวงเงินกู้ที่ นาย ก. จะได้รับ คือ 36,000 บาท ซึ่งนาย ก. จะกู้เท่าไรก็ได้ในวงเงินนี้ 

แล้วจะรู้ได้อย่างไรว่าบุคคลนั้นมีศักยภาพในการชำระหนี้ รัชนี กล่าวเสริมว่า ในธุรกิจสินเชื่อ ความเสี่ยงที่สุดคือ “หนี้เสีย” ฉะนั้นเงื่อนไขที่บริษัทนั้นๆ จะช่วยลดความเสี่ยงได้คือ หักเงินกู้ผ่านเงินเดือน การอนุมัติวงเงินสินเชื่อจะใช้ AI ในการวิเคราะห์พฤติกรรมการใช้จ่ายของบุคคลนั้นๆ โดยแทบไม่ต้องกรอกข้อมูลด้วยซ้ำ จากนั้นคำนวณความสามารถในการจ่ายชำระหนี้ของพนักงาน ส่วนระยะเวลาในการผ่อนชำระตั้งแต่ 3-36 เดือน

และหากถามว่าในมุมขององค์กรที่ แรบบิท แคช ไปปล่อยกู้จะได้อะไร รัชนี ฉายภาพว่า บริษัทจะได้ศักยภาพของพนักงานกลับคืนมานั่นเอง โดยที่ผ่านมาได้เริ่มทดลองการให้บริการกับพนักงานในเครือของบีทีเอสกรุ๊ป และโรงพยาบาลพระราม 9 ขณะที่ภาพรวมตลาดที่แรบบิท แคช อยู่หากมองในเชิงธุรกิจ จะพบว่าสินเชื่อสวัสดิการพบว่าในตลาดยังไม่ค่อยมีผู้เล่นมากนัก จึงถือเป็นโอกาสดีที่จะบุกตลาดนี้ และแก้ปัญหา “เงินไม่พอใช้” ให้คนไทย เพื่อที่จะได้ไม่หันไปพึ่งพา “หนี้นอกระบบ” นั่นเอง

อ่านข่าวหุ้น และการลงทุน กับ Thairath Money ได้ที่ https://www.thairath.co.th/money/investment

ติดตามเพจ Facebook : Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้ https://www.facebook.com/ThairathMoney


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
กองบรรณาธิการไทยรัฐออนไลน์