พงศธร ลีลาประชากุล รองกรรมการผู้จัดการ นักวิเคราะห์การลงทุนตลาดหุ้นต่างประเทศ ทีม CIO Office บริษัทหลักทรัพย์ เกียรตินาคินภัทร จำกัด (มหาชน) ชี้ให้เห็นว่า ปัจจุบันมุมมองการลงทุน ไม่เหมือนกับอดีตที่ผ่านมา เนื่องจากนับตั้งแต่ปี 1980 ที่เรียกได้ว่าเป็นช่วงดอกเบี้ยขาลงนั้น ได้ส่งผลให้ต้นทุนทางการเงินลดลง บริษัทสามารถขยายธุรกิจได้เร็ว ฐานะทางการเงินของบริษัทในภาพรวมจึงแข็งแกร่งขึ้น และในช่วงสิบปีให้หลังนี้ ดอกเบี้ยลดต่ำไปจนถึงศูนย์ แต่ในปัจจุบัน แนวโน้มอัตราดอกเบี้ยอาจไม่ต่ำเหมือนในอดีตอีกต่อไป
อย่างไรก็ตาม หากมองภาพกว้างในช่วงกว่า 100 ปีที่ผ่านมานั้น “หุ้นสหรัฐฯ” ยังคงเป็นหนึ่งตลาดหุ้นที่ให้ผลตอบแทนที่ดีสุดในโลก เนื่องมาจากหลายสาเหตุ เช่น ความสามารถในการแข่งขันที่สูง การเน้นการลงทุนเพื่อเสริมสร้างความสามารถในการผลิตและพัฒนาประสิทธิภาพ ซึ่งปัจจัยเหล่านี้สะท้อนกลับมาให้เห็นในรูปของความแข็งแกร่งของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหุ้นสหรัฐฯ ที่มีบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่เป็นจำนวนมาก
ด้วยเหตุนี้ ถึงปัจจัยดอกเบี้ยที่อาจจะไม่ได้กลับไปต่ำเหมือนในอดีตช่วงสิบปีมานี้ แต่ในมิติคำแนะนำเชิง Tactical ตลาดหุ้นโลกมีโอกาสปรับตัวขึ้นได้อีก ดังนั้น จึงยังคงน้ำหนักการลงทุนหุ้นในภาพรวมที่ Overweight เพียงแต่เมื่อพิจารณาประกอบกับแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยที่ต่างไปจากเดิม นักลงทุนจึงควรเน้นหุ้นที่มีคุณภาพสูง ซึ่งสามารถพิจารณาจากอัตรากำไร หนี้สิน และอัตราส่วนผลตอบแทนต่อส่วนของผู้ถือหุ้น (ROE)
สำหรับความกังวลประเด็นดอลลาร์สหรัฐ (USD) จะเกิดวิกฤติ จากการดำเนินนโยบายการเงินของสหรัฐฯ และเป็นความเสี่ยงต่อภาพรวมการลงทุนหรือไม่ พงศธร ให้มุมมองว่า มีโอกาสเกิดยาก และค่าเงินอื่นๆ อย่าง หยวน, ยูโร, ปอนด์ ยังไม่สามารถเข้ามาแทนดอลลาร์ได้ในหลายมิติ
วางแผนทางการเงินไม่ใช่เรื่องยาก
สรวงพิเชฏฐ์ หลายชูไทย CFP® ที่ปรึกษาการลงทุนอิสระ บริษัทหลักทรัพย์ เกียรตินาคินภัทร จำกัด (มหาชน) และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แพลนท์คอนซัลแทนท์ จำกัด ให้มุมมองว่า การวางแผนทางการเงิน (Financial Planning) จริงๆ แล้วเป็นเรื่องง่าย หากมีความรู้ความเข้าใจด้านการเงินในภาพรวม เช่น พฤติกรรมการใช้เงินของตนเอง และเป้าหมายในการเก็บออมเงิน
หากต้องการวางแผนการเงินเพื่อไปสู่การเกษียณ สามารถมองให้เป็นเรื่องง่ายได้จากการพิจารณาชั่งน้ำหนักระหว่างระยะเวลาในการ “หาเงิน” ก่อนเกษียณ และ “ใช้เงิน” หลังเกษียณ โดยเริ่มต้นจากการกำหนดเป้าหมายของตนเองว่า ต้องการมีเงินเก็บเท่าไร และจะต้องพิจารณา 3 ปัจจัยสำคัญ ที่มีความสอดคล้องกัน ได้แก่ 1. เงินต้น 2. ระยะเวลา และ 3. ผลตอบแทน เพื่อให้การเก็บเงินนั้นสามารถไปสู่เป้าหมายได้รวดเร็ว
ทั้งนี้ “ประกัน” เป็นหนึ่งเครื่องมือทางการเงินที่สำคัญ เนื่องจากสามารถช่วยป้องกันความเสี่ยง หากเจอเหตุการณ์ฉุกเฉิน และไม่เป็นไปตามแผนที่วางไว้ เช่น การเจ็บป่วย แต่ปัจจุบันคนส่วนใหญ่มักไม่สนใจการทำประกันมากนัก เนื่องจากให้ผลตอบแทนต่ำ
นอกจากนี้ “การลงทุน” เป็นเรื่องสำคัญ เพื่อให้สามารถไปสู่เป้าหมายนั้นได้เร็วขึ้น แต่จะต้องพิจารณาการกระจายการลงทุนไปในหลายๆ สินทรัพย์ (Asset Allocation) เพื่อบริหารผลตอบแทนและความเสี่ยงด้วย