ลดดอกเบี้ย MRR 0.25% ใครได้ประโยชน์

Personal Finance

Banking & Bond

กองบรรณาธิการ

Author

กองบรรณาธิการ

Tag

ลดดอกเบี้ย MRR 0.25% ใครได้ประโยชน์

Date Time: 30 เม.ย. 2567 05:14 น.

Summary

  • สมาคมธนาคารไทย และสมาคมแบงก์รัฐ ได้ออกมาสนองนโยบายด้วยการปรับลดอัตราดอกเบี้ยลูกค้ารายย่อยชั้นดี หรือดอกเบี้ย MRR ลง 0.25% ต่อปี โดยแบงก์กรุงเทพนำร่องลดเป็นรายแรก เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา

Latest

ธปท. ไม่ลดดอกเบี้ยตามสหรัฐฯ ชี้ต้องพิจารณาจาก 3 ปัจจัยหลักในประเทศ

หลังจากที่นายกฯ เศรษฐา ได้เชิญนายแบงก์ใหญ่ 4 แบงก์ ในฐานะตัวแทนสมาคมธนาคารไทย ไปหารือเพื่อขอให้ช่วยปรับลดอัตราดอกเบี้ย ให้สำหรับกลุ่มเปราะบางและเอสเอ็มอี เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา และในที่สุด สมาคมธนาคารไทย และสมาคมแบงก์รัฐ ได้ออกมาสนองนโยบายด้วยการปรับลดอัตราดอกเบี้ยลูกค้ารายย่อยชั้นดี หรือดอกเบี้ย MRR ลง 0.25% ต่อปี โดยแบงก์กรุงเทพนำร่องลดเป็นรายแรก เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา

มีคำถามเข้ามาว่า ดอกเบี้ย MRR ที่แบงก์ลดลงไปนี้ คือดอกเบี้ยอะไร ใช้กับสินเชื่อประเภทใดบ้าง และลูกหนี้ส่วนไหนจะได้รับประโยชน์จากการลดลงในครั้งนี้มากที่สุด

ทั้งนี้ ดอกเบี้ย MRR (Minimum Retail Rate) คือ อัตราดอกเบี้ยลอยตัว (Floating Rate) ที่ธนาคารเรียกเก็บจากลูกค้ารายย่อยชั้นดี ส่วนใหญ่จะใช้คำนวณเป็นอัตราดอกเบี้ยสำหรับลูกหนี้ซื้อบ้าน ที่อยู่อาศัย และสินเชื่อส่วนบุคคล เป็นหลัก

แตกต่างจาก ดอกเบี้ย MLR (Minimum Loan Rate) ซึ่งเป็นดอกเบี้ยหลักของธนาคารพาณิชย์ ซึ่งจะเรียกเก็บจากลูกค้ารายใหญ่ชั้นดี มีประวัติการเงินดี มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน มักใช้กับการกู้ระยะยาวที่มีกำหนดเวลาแน่นอน และโดยทั่วไปดอกเบี้ย MRR จะสูงกว่า ดอกเบี้ย MLR เพราะจะใช้กับสินเชื่อที่มีความเสี่ยงมากกว่า

โดย ณ วันที่ 26 เม.ย.ที่ผ่านมาเว็บไซต์แบงก์ชาติ ระบุว่า ดอกเบี้ย MRR เฉลี่ยของธนาคารพาณิชย์ที่จดทะเบียนในประเทศไทยอยู่ที่ 8.05% ต่อปี โดยมีอัตราต่ำสุดที่ 7.3% ต่อปี และอัตราสูงสุดที่ 10.15% ต่อปี

ดังนั้น ในส่วนของ “สินเชื่อบุคคล” ที่จะได้ประโยชน์ เราก็ต้องดูว่า สินเชื่อที่เรากู้แบงก์นั้น คำนวณดอกเบี้ยจากดอกเบี้ย MRR ใช่หรือไม่ใช่ เพราะการปล่อยสินเชื่อบุคคลมีการใช้ดอกเบี้ยหลายประเภท หลายนิยาม และมีเพดานสูงสุดของดอกเบี้ยอยู่ที่ไม่เกิน 28% ต่อปี หากเราดูแล้ว สินเชื่อของเราคำนวณจากดอกเบี้ย MRR+X เมื่อ ดอกเบี้ย MRR ลดดอกเบี้ยเราก็ได้ลดลงไปด้วย

ขณะที่ดอกเบี้ยบ้านนั้น ส่วนใหญ่หลังจากได้ดอกเบี้ยคงที่ ซึ่งเป็นดอกเบี้ยในอัตราต่ำพิเศษ ประมาณ 3 ปีแรกแล้ว ลูกหนี้จะต้องผ่อนต่อในอัตราดอกเบี้ยลอยตัว ซึ่งจะเป็นดอกเบี้ย MRR-X จะลบเท่าไรก็ขึ้นกับความเสี่ยงของผู้กู้เอง ดังนั้น ลูกหนี้ที่ผ่อนบ้านน่าจะได้ประโยชน์ อย่างไรก็ตาม การลดครั้งนี้ ยังมีติ่งท้ายสำหรับลูกหนี้กลุ่มเปราะบางและเอสเอ็มอี ซึ่งตามนิยาม น่าจะต้องเป็นลูกหนี้ที่มีรายได้ต่ำกว่า 20,000 บาทต่อเดือน และเอสเอ็มอีขนาดเล็ก

ส่วนหากดอกเบี้ย MRR ลด 0.25% จะได้ลดดอกเบี้ยเท่าไรนั้น หากเรากู้เงินมา 1,000,000 บาท ดอกเบี้ยลดลง 0.25% ต่อปี คิดแบบคร่าวๆมากๆพบว่า เราจะได้ลดดอกเบี้ยลง 2,500 บาทต่อปี แต่เท่าที่ประกาศจะเป็นการลดให้เป็นกรณีพิเศษ 6 เดือน เท่ากับจะได้ลดดอกเบี้ยลง 1,250 บาท

ส่วนดอกเบี้ยจะลดเมื่อไรนั้น หากธนาคารเจ้าหนี้ของเราออกประกาศวันไหน หากเป็นลูกหนี้ที่เข้าข่ายคุณสมบัติก็จะได้ลดลงโดยอัตโนมัติทันที แต่หากลูกหนี้คนไหนคิดว่า ตัวเองควรได้ลดดอกเบี้ย หรือไม่แน่ใจว่าได้ลดหรือไม่ สอบถามที่ธนาคารเจ้าหนี้ได้หลังจากที่ธนาคารประกาศลดดอกเบี้ยอย่างเป็นทางการ.

มิสเตอร์พี

อ่าน “คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ” ทั้งหมดที่นี่


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ