กรณีศึกษาแบงก์ล้มในอเมริกา

Personal Finance

Banking & Bond

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

กรณีศึกษาแบงก์ล้มในอเมริกา

Date Time: 30 เม.ย. 2567 05:23 น.

Latest

ความรู้ทางการเงิน สำคัญแค่ไหน? สำหรับ “คนรุ่นใหม่” ในระบบการเงินโลกยุคนี้

สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า หน่วยงานที่กำกับดูแลของรัฐบาลสหรัฐฯ มีคำสั่งปิดและเข้ายึดกิจการของ ธนาคารระดับภูมิภาคในสหรัฐฯ ถือว่าเป็นเหตุการณ์ แบงก์ล้ม เป็นรายแรกในปีนี้ ส่งสัญญาณความท้าทายบรรดาธนาคารระดับภูมิภาคในสหรัฐฯที่จะรับมือกับวิกฤติทางด้านการเงินต่อไป เมื่อปีที่แล้วมีธนาคารต้องปิดกิจการไปแล้วถึง 3 แห่งด้วยกัน สถาบันคุ้มครองเงินฝากสหรัฐฯ เข้าไปทำหน้าที่พิทักษ์ทรัพย์ยืนยันว่า ธนาคารดังกล่าวมีสินทรัพย์ประมาณ 6 พันล้านดอลลาร์ หรือ 2.22 แสนล้านบาท มีเงินฝากรวม 4 พันล้านดอลลาร์ หรือ 1.5 แสนล้านบาท มีหนี้สินที่ 1.3 พันล้านดอลลาร์ หรือ 4.8 หมื่นล้าน และธนาคารต้องใช้เงินในการรับประกันเงินฝากประมาณ 2.5 หมื่นล้านบาท ที่น่าสังเกตว่า เศรษฐกิจอเมริกาตอนนี้ก็ไม่ได้แย่มากนัก

มีเพียงจุดหนึ่งที่น่าสนใจคือ เรื่องของอัตราดอกเบี้ย ที่สูงขึ้นสวนทางกับมูลค่า ตลาดอสังหาริมทรัพย์ ที่ลดลง โดยเฉพาะธุรกิจอาคารสำนักงานที่ยังไม่ฟื้นตัวตั้งแต่เกิดการระบาดของโควิด-19 ทำให้เกิดปัจจัยเสี่ยงต่อบรรดาธนาคารในระดับภูมิภาค ในขณะเดียวกับที่ จีนเองก็เกิดวิกฤติเศรษฐกิจมาจากธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ล่ม เป็นจุดเริ่มต้นของวิกฤติเศรษฐกิจที่หลายประเทศอยู่ในช่วงของการเฝ้าระวัง

ในบ้านเราธุรกิจอสังหาริมทรัพย์กำลังเฟื่องฟู เฉพาะด้านที่มีแรงซื้อจาก ต่างชาติ ส่วน คนไทย กลับไม่มีแรงซื้อ โดยเฉพาะสินเชื่อบ้านและที่ดิน ธนาคารพาณิชย์ไม่กล้าปล่อยสินเชื่อ เพราะเป็นสินเชื่อในระยะยาว และไม่มั่นใจกับสภาพเศรษฐกิจในปัจจุบัน ในส่วนผู้บริโภคจะมีเสถียรภาพขนาดไหน

แบงก์เองก็มีการปรับตัวลดต้นทุน เพื่อรักษาสภาพของรายได้ให้อยู่ในแผนการเงินการคลัง และมีความมั่นคง อยู่ในระดับที่วางใจได้ วิกฤติเศรษฐกิจที่ผ่านมาหลายครั้งทำให้แบงก์ปรับตัวที่จะรับมือกับสถานการณ์ที่ไม่คาดฝัน เพราะการปิดกิจการธนาคาร หรือสถาบันการเงินจะมีผลกระทบระยะยาว ไม่มีโอกาสที่จะกลับมาฟื้นตัวได้อีก

ภาครัฐ ที่บริหารภายใต้งบประมาณ แบบขาดดุล อย่างต่อเนื่อง กับการแบกรับภาระหนี้สาธารณะที่เพิ่มขึ้นทุกปีจากงบประมาณรายจ่ายประจำปี และรายจ่ายประจำ การชำระหนี้เสี่ยงต่อการผิดวินัยทางการเงินการคลัง ยิ่งการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจต่ำกว่า รายจ่ายที่เพิ่มขึ้น ความเสี่ยงด้านการเงินการคลังก็จะมากขึ้นตามไปด้วย

แบงก์ชาติ ออกหนังสือเตือนไปถึง รัฐบาล ในการใช้จ่ายงบประมาณนอกงบประมาณ หรือโครงการพิเศษ เพราะมองเห็นความเสี่ยง ไม่ว่าจะเป็นความเสี่ยงจากการมีงบประมาณไม่พอรองรับภาวะฉุกเฉิน ภาระดอกเบี้ยต่อรายได้สูงกว่า 11% เสี่ยงต่อการลดอันดับความน่าเชื่อถือ เสี่ยงต่อการทำผิดกฎหมาย พ.ร.บ.เงินตรา และ พ.ร.บ.ธ.ก.ส. จะส่งผลกระทบไปถึงแหล่งเงินภาคเอกชน และสภาพคล่องในระบบ

ภาระหนี้สาธารณะที่เพิ่มขึ้นไม่ใช่ปัญหาโดยตรง แต่การเพิ่มภาระหนี้ระยะยาว เช่น โครงการดิจิทัลวอลเล็ต 5 แสนล้าน จ ะทำให้หนี้สาธารณะเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.5 ทำให้ระดับหนี้สาธารณะของไทยเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 64.5 ต่อจีดีพี การก่อหนี้ทุก 1 แสนล้าน จะทำให้หนี้สาธารณะเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.5 แต่สามารถกระตุ้นเศรษฐกิจได้เพียงร้อยละ 0.2 เท่านั้น ปล่อยให้ขาดดุลไปเรื่อยๆ ไม่มีปัญหา แต่มีปัญหาว่าในระยะยาวจะมีเงินไปชำระหนี้หรือไม่

ธ.ก.ส.หนาวๆร้อนๆเลยทีนี้.

หมัดเหล็ก
mudlek@thairath.co.th

คลิกอ่านคอลัมน์ "คาบลูกคาบดอก" เพิ่มเติม


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ