“เงินชราภาพ” ของผู้ประกันตน ใครมีสิทธิได้บ้าง? บำเหน็จ VS บำนาญ เลือกแบบไหนดี! 

Personal Finance

Banking & Bond

กองบรรณาธิการ

Author

กองบรรณาธิการ

Tag

“เงินชราภาพ” ของผู้ประกันตน ใครมีสิทธิได้บ้าง? บำเหน็จ VS บำนาญ เลือกแบบไหนดี! 

Date Time: 16 เม.ย. 2567 10:00 น.

Video

“The Summer Coffee Company” มากกว่า เครื่องดื่ม คือ ความสุข | Brand Story Exclusive EP.3

Summary

  • เปิดรายละเอียด เงินชราภาพ ของผู้ประกันตน ใครมีสิทธิได้บ้าง? บำเหน็จ VS บำนาญ เลือกแบบไหน กับข้อดี-ข้อเสีย ที่ต่างกัน พร้อมเงื่อนไข การยื่นขอรับเงินชราภาพ และเอกสารหลักฐานที่ต้องใช้

Latest


เชื่อว่ามนุษย์เงินเดือนหลายคน เริ่มวางแผนการเกษียณของตนเองกันแล้ว เพื่อให้ชีวิตบั้นปลายอยู่ดี-มีสุข และไม่เป็นภาระของลูกหลาน ซึ่งนอกจากเงินเก็บรายเดือนที่เราเก็บหอมรอมริบกันมาตั้งแต่วัยหนุ่ม-สาวแล้ว คำถามที่ส่วนใหญ่ อยากรู้กันก็คือ เมื่อเราเกษียณแล้ว จะได้เงินคืนจากประกันสังคมเป็นจำนวนเท่าไร ซึ่งนับเป็นสิทธิประโยชน์ที่พึงจะได้รับในยามวัยเกษียณ ซึ่งเรียกโดยรวม ว่า “เงินชราภาพ” นั่นเอง 

ข้อมูลจาก บมจ.ธรรมนิติ บริษัทที่ปรึกษาทางธุรกิจชื่อดัง สรุปรายละเอียด “เงินชราภาพ” ไว้ดังนี้

เงินชราภาพ ใครบ้าง? มีสิทธิได้ 

  • ผู้ประกันตน ตามมาตรา 33 / มาตรา 39 อายุ 55 ปีบริบูรณ์ สิ้นสุดการเป็นผู้ประกันตน หรือเสียชีวิต หรือสิ้นสภาพการเป็นลูกจ้าง 
  • ผู้ประกันตน ตามมาตรา 40 อายุ 60 ปีบริบูรณ์ แจ้งสิ้นสุดการเป็นผู้ประกันตน หรือเสียชีวิต 

ซึ่งกรณีผู้ประกันตนได้เสียชีวิต ตามกฎหมายสามารถให้ บุตร / บุตรบุญธรรมที่ชอบด้วยกฎหมาย / สามี-ภริยา ที่ชอบด้วยกฎหมาย / บิดา-มารดา ที่มีชีวิตอยู่ / บุคคลที่ผู้ประกันตนได้ทำหนังสือระบุชื่อไว้ เป็นผู้รับเงินได้ 

ประเภทของเงินชราภาพ 

แบ่งออกเป็น 2 ประเภท ดังนี้ 

เงินบำเหน็จ : บำเหน็จจ่ายให้ครั้งเดียว 

  • ข้อดี ได้เงินก้อนใหญ่มาเลยทีเดียว เหมาะกับคนที่ต้องการใช้เงินก้อน
  • ข้อเสีย จะได้บำเหน็จน้อยกว่าบำนาญ และมีโอกาสที่จะใช้เงินหมดก่อน หากอายุยืนอาจไม่มีเงินเพียงพอใช้ในบั้นปลายชีวิต

เงินบำนาญ : จ่ายรายเดือนตลอดชีวิต 

  • ข้อดี ได้เงินมากกว่าและมีเงินใช้รายเดือนไปจนเสียชีวิต
  • ข้อเสีย ไม่มีเงินก้อนสำหรับการลงทุน หากมีความต้องการ

โดยมีเงื่อนไข ดังนี้

  • หากผู้ประกันตนที่จ่ายเงินสมทบน้อยกว่า 180 เดือน จะได้รับ “เงินบำเหน็จ”
  • ส่วนผู้ประกันตนที่จ่ายเงินสมทบตั้งแต่ 180 เดือน (15 ปี) ขึ้นไป จะได้รับ “เงินบำนาญ” ที่ประกันสังคมจ่ายให้เป็นรายเดือนตลอดชีวิต

ยื่นขอรับเงินชราภาพอย่างไร? 

เอกสารหลักฐานที่สำคัญ : กรณีผู้ประกันตนยื่นขอรับเงินด้วยตนเอง 

  1. แบบคำขอรับประโยชน์ทดแทน กองทุนประกันสังคม (สปส.2-01) (กรณีมาตรา 33, 39)
  2. แบบคำขอรับประโยชน์ทดแทน กองทุนประกันสังคม (สปส. 2-01 / ม.40) (กรณีมาตรา 40)
  3. สมุดบัญชีเงินฝากธนาคารประเภทออมทรัพย์ หน้าแรกที่มีชื่อและเลขที่บัญชีของผู้ประกันตน (กรณีขอรับเงินทางธนาคาร)
  4. บัตรประจำตัวประชาชน (ฉบับจริง)

เอกสารหลักฐานที่สำคัญ : กรณีทายาทยื่นขอรับแทน 

  1. แบบคำขอรับประโยชน์ทดแทน กองทุนประกันสังคม (สปส.2-01) หรือ สปส. 2-01 / ม.40 (ฉบับจริง 1 ฉบับ)
  2. สมุดบัญชีเงินฝากธนาคารประเภทออมทรัพย์ หน้าแรกที่มีชื่อและเลขที่บัญชีของผู้ประกันตน (กรณีขอรับเงินทางธนาคาร)
  3. ใบมรณบัตร (ฉบับจริงพร้อมสำเนา 1 ฉบับ)
  4. สูติบัตรของบุตร (สำเนา 1 ฉบับ)
  5. บัตรประจำตัวประชาชน พร้อมทะเบียนบ้านของผู้มีสิทธิรับเงิน (สำเนาอย่างละ 1 ฉบับ)

วิธียื่นขอรับเงินชราภาพ 

  • สำนักงานประกันสังคมกรุงเทพมหานคร พื้นที่ 1-12 หรือสำนักงานประกันสังคมจังหวัดและสาขาทั่วประเทศ 
  • ระบบการเบิกจ่ายประโยชน์ทดแทนด้วยตนเองของผู้ประกันตน ผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ เว็บไซต์ www.sso.go.th
  • ลงทะเบียน พร้อมเพย์ กับบัญชีเงินฝากธนาคาร 

สิทธิประโยชน์ทางภาษีของวัยเกษียณ 

อายุ 55 ปี 

  • ยกเว้นดอกเบี้ยเงินฝากประจำ ที่มีระยะเวลาการฝากตั้งแต่ 1 ปีขึ้นไป ไม่เกิน 30,000 บาทต่อปีภาษี
  • ยกเว้นเงิน / ผลประโยชน์ที่ได้รับจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เมื่อออกจากงาน (เป็นสมาชิกไม่น้อยกว่า 5 ปีติดต่อกัน)
  • ยกเว้นบำเหน็จ / บำนาญ กรณีชราภาพ ที่ได้รับจากกองทุนประกันสังคม 

อายุ 60 ปี 

  • ยกเว้นเงิน หรือผลประโยชน์ที่ได้รับ จากกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ เมื่ออายุครบ 60 ปี หรือลาออก เมื่ออายุครบ 50 ปีบริบูรณ์
  • ยกเว้นบำเหน็จดำรงชีพ ตามกฎหมายว่าด้วยบำเหน็จ บำนาญ ข้าราชการ และกฎหมายว่าด้วยกองทุนบำเหน็จ บำนาญ ข้าราชการ 


อายุ 65 ปี 

  • ยกเว้นเงินได้ทุกประเภท ที่มีผู้มีเงินได้ซึ่งเป็นผู้อยู่ในประเทศไทยได้รับ เฉพาะ ส่วนที่ไม่เกิน 1.9 แสนบาทในปีภาษี 

ติดตามข้อมูลด้านเศรษฐกิจและนโยบายรัฐบาล กับ Thairath Money ได้ที่ 

ติดตามเพจ Facebook : Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้  https://www.facebook.com/ThairathMoney


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
กองบรรณาธิการไทยรัฐออนไลน์