นับเป็นอีกหนึ่งซีรีส์น้ำดีของเกาหลีเลยก็ว่าได้ สำหรับ “Queen of Tears (ราชินีแห่งน้ำตา)” เรื่องราวรักข้ามชนนั้นของ CEO หญิง “ฮงแฮอิน” แห่งห้างสรรพสินค้าควีนส์ กับ “แบคฮยอนอู” ทนายหนุ่มจากมหาวิทยาลัยแห่งชาติโซล ลูกหลานชาวไร่ที่มีวัวถึง 30 ตัว
โดยเรื่องดำเนินไปอย่างเรียบง่ายถึงเรื่องราวความรักของคนสองคน ที่มีตัวแปรอื่นมาเกี่ยวข้อง ทั้งครอบครัว และธุรกิจ ซึ่งแกนหลักของเรื่องคือ “ความรัก” ที่นำไปสู่ “การหย่าร้าง” แม้ว่าจะมีรอยร้าว น้ำตา ความเย็นชา และความห่างเหินเข้ามาเกี่ยวข้อง แต่นั่นก็ไม่ได้ทำให้ตัวพระนาง แยกจากกันได้อย่างชัดเจน กลับต้องมาพัวพันเพราะด้วยปัญหาทางธุรกิจของครอบครัว
สำหรับใครที่ดูแล้วแน่นอนว่า คงจะรู้ว่าในเนื้อหามีการสอดแทรกแนวคิดการทำธุรกิจ รวมทั้งคำศัพท์ทางการเงินอยู่จำนวนมาก ในครั้งนี้ #ThairathMoney ได้ทำการหยิบยกมาไว้ที่นี่ (ขอเตือน! เนื้อหาต่อจากนี้มีการสปอย)
1.หุ้นส่วนธุรกิจ
ในตอนที่ฮงแฮอิน แห่งตระกูลควีนส์ต้องการที่จะนำแบรนด์ “เฮอร์คีนา” มาไว้ในห้างสรรพสินค้าของตน ผ่านการเป็นหุ้นส่วนธุรกิจ กับ คุณเฮอร์แมน เจ้าของแบรนด์ ที่มีการให้ความสำคัญกับค่านิยมของบริษัท กับกรอบความคิดเหนืออย่างอื่น
ตรงจุดนี้เองสะท้อนให้เห็นว่าการดึงแบรนด์ที่โด่งดังมาอยู่ในห้าง นับเป็นการสร้างพอร์ตที่น่าสนใจ เพื่อดึงดูดกำลังซื้อของลูกค้า และสร้างความแตกต่างจากคู่แข่งในการทำธุรกิจ
2.กองทุนเฮดจ์ฟันด์
มาถึง ep. ที่ชอนดาฮเย พูดชวนให้น้องชายนางเอก “ฮงซูซอล” รู้จักกับนักลงทุนนอกตลาด อย่าง เดวิดยุน หรือ ยุนอึนซอง ลูกครึ่งเกาหลี-อเมริกัน ที่ร่ำรวยจากธุรกิจน้ำมันในตะวันออกกลาง และมาที่เกาหลีเพื่อที่จะหาที่ลงทุนใหม่ โดยเขาถือเป็นหนึ่งในผู้ที่ประสบความสำเร็จในเรื่องกองทุนเฮดจ์ฟันด์ ระดับตำนาน
หากจะอธิบายให้เข้าใจง่ายๆ กองทุนเฮดจ์ฟันด์ คือ กองทุนเก็งกำไร หรือ สถาบันการเงินที่เน้นการเก็งกำไร โดยเป็นกองทุนประเภทหนึ่งที่สามารถลงทุนได้หลากหลาย ทั้งหุ้น ตราสารหนี้ และ ตราสารอนุพันธ์
3.พาร์เนอร์ทางธุรกิจ
ในตอนที่ชอนดาฮเย ภรรยาของ ฮงซูซอล บอกว่า ยุนอึนซอง เป็นคนสำคัญที่ทำให้ดีลกาแฟออแกนิกประสบความสำเร็จ จึงอยากให้สามีตนเองเป็นพาร์ทเนอร์ทางธุรกิจกับเขานั่นเอง
โดยพาร์ทเนอร์ทางธุรกิจ ในที่นี้หมายถึง พันธมิตรทางธุรกิจ หรือ คู่ค้า ที่จะช่วยส่งเสริมธุรกิจให้เติบโตอย่างมั่นคง โดยมีส่วนสำคัญในการร่วมวางแผนการทำงาน และกำหนดกลยุทธ์ของบริษัท
4.บลายด์ทรัสต์ (Blind Trust)
โดยในซีรี่ย์ที่กลุ่มตัวร้ายได้มีการพูดคุยกันว่า "อัตราผลตอบแทน ของ Blind Trust ล่าสุดอยู่ที่เกือบ 90% พวกเขาเลยสนใจ อยากเข้าร่วมกองทุนหน้าเป็นอย่างมาก”
Blind Trust ในที่นี้ คือ กองทุน ที่นักธุรกิจ หรือ เจ้าของทรัพย์สิน จะทำการการโอนทรัพย์สินทั้งหมดเข้าไปใน ‘กองทุนทรัสต์’ โดยผู้ที่บริหารทรัพย์สินจะเป็นผู้ดูแลผลประโยชน์ และมีดุลยพินิจกับสินทรัพย์นั้นๆ ซึ่งตามหลักแล้วเจ้าของสินทรัพย์จะไม่สามารถมีส่วนเกี่ยวข้องในการตัดสินใจ กับสินทรัพย์นั้นๆ อำนาจจะอยู่ที่ผู้ดูแลทรัพย์สินนั้นเพียงผู้เดียว
5.หุ้นกู้แปลงสภาพ
จากการที่กลุ่มตัวร้ายมีหุ้นที่ซื้อทั้งหมด 14.7% และได้หุ้นควีนส์ มาจากการเล่นแร่แปรธาตุกับกลุ่มผู้บริหารมาได้อีก 9.6% เนื่องจากตัวร้าย คือ ยุนอึนซอง ได้ดึงกลุ่มผู้บริหารให้ไปร่วมลงทุน ที่เย้ายวนด้วยผลตอบแทนสูง และบีบให้วางหุ้นควีนส์เป็นหลักประกัน เมื่อผู้บริหารหมุนเงินไม่ทัน หุ้นน้ันจึงกลายเป็นของตัวร้าย พร้อมกับได้ใช้สิทธิแปลงสภาพหุ้น
ซึ่ง “หุ้นกู้แปลงสภาพ” หมายถึง หุ้นกู้ที่ให้สิทธิแก่ผู้ถือในการแปลงสภาพจากการถือหุ้นกู้ไปเป็นหุ้นสามัญ ในระยะเวลา ราคา และอัตราส่วนที่กำหนดไว้ โดยผู้ถือหุ้นกู้แปลงสภาพจะมีฐานะเป็นเจ้าหนี้ของบริษัทเหมือนผู้ถือหุ้นกู้ทั่วไป ต่อเมื่อได้นำหุ้นกู้นี้ไปแปลงสภาพหรือแลกเปลี่ยนเป็นหุ้นสามัญตามสิทธิ แล้วก็จะมีฐานะร่วมเป็นเจ้าของบริษัทตามจำนวนหุ้นสามัญที่ได้รับ
6.ต่ำกว่าที่คุยไว้
การที่ ฮงซูชอล ต้องการจะเซ็นสัญญากับตัวร้ายในการทำรีสอร์ต ทั้งที่ไม่ได้ประเมินความถูกต้อง โดยหลงเชื่อเพียงเพราะว่า บริษัทที่ปรึกษาที่ตัวร้ายแนะนำ คาดผลกำไรต่อปีที่ 500,000 ล้านวอน แต่ตัวเลขจริงอยู่ที่ 89,000 ล้านวอน น้อยกว่า 20% ซึ่งต่ำกว่าที่คุยกันไว้
โดยอัตราที่ต่ำกว่าที่คุยกันไว้ ก็คือคำกล่าวอ้างที่ไม่ตรงปก หรือ หลักความเป็นจริงนั่นเอง สะท้อนให้เห็นว่าการทำธุรกิจควรที่จะตรวจดูเอกสาร และประเมินความเป็นไปได้ให้รอบคอบ รวมทั้งเงื่อนไขในการทำธุรกิจ และผลตอบแทนบนพื้นฐานความเป็นจริงอย่างเช่นที่ พระเอก หรือ แบคฮยอนอู ทักท้วง
ทั้งหมดนี้ปฏิเสธไม่ได้ว่า “Queen of Tears (ราชินีแห่งน้ำตา)” ได้ให้แง่คิดในการทำธุรกิจ บวกกับคำศัพท์การลงทุนที่มีประโยชน์อย่างมาก ดังนั้นหากไม่อยากตกเป็นเหยื่อโดนฮุบบ้าน ฮุบบริษัท และทุกอย่างไป เฉกเช่น “ตระกูลฮง” ทางที่ดีคือควรทำธุรกิจอยู่บนพื้นฐานของความเป็นจริง เพราะในโลกนี้ไม่ได้มีอะไรที่ได้มาง่ายๆ และ “การลงทุนก็ยังคงมีความเสี่ยง” เหมือนกับที่หลายๆ คนพูดและเคยเจอมา
อ้างอิง krungsri
อ่านเทคนิคการบริหารเงิน การลงทุน ต่อได้ที่
https://www.thairath.co.th/money/personal_finance
ติดตามเพจ Facebook : Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้ https://www.facebook.com/ThairathMoney