ลุ้นลูกหนี้ปรับโครงสร้าง ไม่ต้องกังวลโดน “เครดิตบูโร” ติดธง

Personal Finance

Banking & Bond

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

ลุ้นลูกหนี้ปรับโครงสร้าง ไม่ต้องกังวลโดน “เครดิตบูโร” ติดธง

Date Time: 1 เม.ย. 2567 06:20 น.

Summary

  • เริ่มตั้งแต่ 1 เม.ย.นี้ “เครดิตบูโร” จะกลับมาติดธง “ลูกหนี้ปรับโครงสร้างหนี้” อีกครั้ง หลังเว้นไปช่วงโควิด ธปท.แจงไม่ต้องกังวลจะไม่มีผลต่อประวัติ และการให้กู้แบงก์ ยังถือเป็นลูกหนี้ดี ลุ้นลูกหนี้เรื้อรังเข้ามาปิดจบหนี้โดยเร็ว

Latest

ปลดล็อกเรื่องภาษี!

น.ส.อรมนต์ จันทพันธ์ ผู้อำนวยการฝ่ายคุ้มครองและตรวจสอบบริการทางการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า วันที่ 1 เม.ย.นี้ จะเป็นวันเริ่มต้นมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้เรื้อรังกลุ่มเปราะบาง ซึ่งลูกหนี้สินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับ ประเภทวงเงินหมุนเวียน (ไม่รวมสินเชื่อที่มีทะเบียนรถเป็นประกัน, สินเชื่อส่วนบุคคลดิจิทัล และบัตรเครดิต) ในกลุ่มบัตรกดเงินสดที่ไม่ได้เป็นหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ ซึ่งมีการผ่อนส่งมาตลอด แต่เป็นการผ่อนส่งขั้นต่ำ ซึ่งส่วนใหญ่ตัดดอกเบี้ยทำให้เงินต้นไม่ลดและปิดจบหนี้ไม่ได้ หากเข้าตามเกณฑ์ของ ธปท.จะได้รับข้อความ SMS จากธนาคารหรือสถาบันเจ้าหนี้ เพื่อเสนอให้เข้าสู่กระบวนการปรับโครงสร้างหนี้ และสามารถปิดจบหนี้ได้ โดยลูกหนี้จะต้องปิดวงเงินหมุนเวียนเดิม และปรับเป็นสินเชื่อรายงวดแทน โดยจะลดดอกเบี้ยลงเหลือ 15% ต่อปี

ทั้งนี้ ลูกหนี้เรื้อรังที่ต้องการปรับโครงสร้างหนี้ แต่อาจจะไม่พร้อมที่จะปิดวงเงินหมุนเวียนทั้งหมด อาจจะเลือกเข้ารับการปรับโครงสร้างหนี้ในบางบัตรก่อนก็ได้ เพื่อยังคงสภาพคล่องในระยะต่อไป และทยอยปิดบัตรเพิ่มเติมเมื่อพร้อม นอกจากนั้น หากลูกหนี้บางรายที่พร้อมปรับโครงสร้างหนี้ แต่ยังไม่ได้รับ SMS ในวันที่ 1 เม.ย.สามารถที่จะติดต่อกับธนาคารเจ้าหนี้เพื่อขอปรับโครงสร้างหนี้ได้

นอกจากนั้น ธปท.ยังมีการปรับปรุงการรายงานเครดิตของลูกหนี้ใหม่ ซึ่งจะเริ่มวันที่ 1 เม.ย.นี้เช่นกัน โดยคณะกรรมการคุ้มครองเครดิต (กคต.) จะมีการปรับหลักเกณฑ์ข้อมูลใหม่ เพื่อให้การรายงานข้อมูลเครดิตใหม่สอดคล้องกับหลักเกณฑ์การให้สินเชื่ออย่างมีความรับผิดชอบและเป็นธรรม โดยหลังจาก ธปท.ยกเว้นให้ธนาคารเจ้าหนี้ไม่ต้องรายงานสถานะการปรับโครงสร้างหนี้ของลูกหนี้ในช่วงโควิด ทำให้ไม่มีประวัติการปรับโครงสร้างหนี้ในเครดิตบูโร

แต่หลังจากวันที่ 1 เม.ย.นี้ จะต้องกลับมารายงานเช่นเดิม โดยหากเป็นลูกหนี้ที่ยังไม่ค้างชำระ แต่เริ่มมีปัญหาการชำระหนี้ หรือค้างชำระไม่เกิน 90 วัน และมาปรับโครงสร้างหนี้ (DR) ให้รายงานวันที่เริ่มปรับโครงสร้างหนี้ code 01 ปรับปรุงโครงสร้างหนี้ป้องกัน ขณะที่ลูกหนี้เป็นหนี้เสียที่ปรับโครงสร้างหนี้ (TDR) รายงานวันที่ และใส่ code 02 ส่วนลูกหนี้เรื้อรัง (PD) ให้รายงานวันที่และใส่ code 03 โดยจะไม่มีผลย้อนหลังกับสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้ที่ทำไว้ก่อนวันที่ 1 เม.ย.67

“ขอให้ลูกหนี้อย่าตื่นตกใจ หรือกังวลว่า มีการติดธงแสดงการปรับโครงสร้างหนี้แล้ว จะมีผลต่อประวัติการเงิน และการปล่อยสินเชื่อใหม่ของลูกหนี้ เพราะจริงๆแล้ว ธปท.ได้หารือกับธนาคารพาณิชย์ว่า ลูกหนี้ที่ยังไม่ได้เป็นหนี้เสียแต่มาปรับหนี้ก่อน (DR) หรือลูกหนี้ที่เป็นหนี้เรื้อรัง (PD) นั้น ถือเป็นลูกหนี้ที่มีประวัติการเงินที่ดีและต้องการแก้ไขหนี้ เมื่อรู้ว่าตนเองจะเกิดปัญหาการเงิน ดังนั้น แทนที่จะมองในแง่ไม่ดี ควรจะมองว่าเป็นลูกหนี้ดีและนำเรื่องนี้มาพิจารณาให้สินเชื่อในอนาคตแทน และถึงแม้จะมีการติดธง สถานะยังถือเป็นหนี้ปกติ ไม่ใช่หนี้เสีย”.

อ่าน "คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ" ทั้งหมดที่นี่


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ