รองผู้ว่า ธปท.เผยมุมมองนโยบาย ถอดสัญญาณ “ดอกเบี้ย” ยามเศรษฐกิจไทยชะลอ

Personal Finance

Banking & Bond

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

รองผู้ว่า ธปท.เผยมุมมองนโยบาย ถอดสัญญาณ “ดอกเบี้ย” ยามเศรษฐกิจไทยชะลอ

Date Time: 28 มี.ค. 2567 07:07 น.

Summary

  • “การประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) วันที่ 10 เม.ย.ที่จะถึงนี้ จะเป็นการประชุมอีกครั้งหนึ่งที่ถูกจับตามองอย่างมาก ทั้งจากรัฐบาล นักลงทุน และประชาชน ว่า จะมีการ ปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงหรือไม่ หลังการประชุมครั้งที่ผ่านมา มีมติให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 2.5% อย่างไม่เป็นเอกฉันท์ 5 : 2”

Latest

ปลดล็อกเรื่องภาษี!

โดยตลอดทั้งเดือน มี.ค.ที่ผ่านมา ศูนย์วิเคราะห์วิจัยเศรษฐกิจหลายแห่งทั้งภาครัฐ เอกชน รวมถึงศูนย์วิจัยฯของธนาคารพาณิชย์ต่างออกมาให้มุมมองถึงภาวะเศรษฐกิจไทยที่ชะลอตัวลง รวมทั้งเห็นว่าการใช้เครื่องมือทางการเงิน และการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายจะช่วยชะลอผลกระทบทางเศรษฐกิจดังกล่าวได้

นางอลิศรา มหาสันทนะ รองผู้ว่าการสายเสถียรภาพการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) หนึ่งในคณะกรรมการนโยบายการเงิน ให้สัมภาษณ์ “ไทยรัฐ” ถึงมุมมองต่อทิศทางเศรษฐกิจไทย และน้ำหนัก ในการตัดสินใจนโยบายการเงิน ก่อนเข้าสู่ช่วง Silent period ของการประชุม กนง.ครั้งนี้ โดยจะใช้วิธีการถาม-ตอบเพื่อให้ชัดเจนมากขึ้น

มุมมองเศรษฐกิจปี 67 เปลี่ยนไปจากเดิม?

นางอลิศรากล่าวว่า สำหรับภาพรวมเศรษฐกิจไทยนั้น หากมองย้อนกลับไปในช่วงครึ่งปีที่ผ่านมา เราจะเห็นภาพของการส่งออกที่ชะลอตัวลง ขณะที่ในส่วนของการท่องเที่ยวนั้น แม้ว่าจำนวนนักท่องเที่ยวจะเพิ่มขึ้น แต่ค่าใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวโดยรวมลดลง นอกจากนั้น ยังมีปัญหาความล่าช้าของงบประมาณรายจ่ายภาครัฐ ทำให้การขยายตัวของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ชะลอลงมากกว่าที่ ธปท.คิด

ส่วนภาพเศรษฐกิจที่เห็นตอนนี้ การขยายตัวของเศรษฐกิจไทยยังเป็นการฟื้นตัวต่ำ แต่มีด้านที่ดีขึ้น คือ การท่องเที่ยวที่ทั้งจำนวนนักท่องเที่ยว และค่าใช้จ่ายต่อทริปที่ดีขึ้น เช่นเดียวกับการใช้จ่ายของประชาชนยังคงปรับตัวดีขึ้น แต่ตัวหลักที่ฉุดเศรษฐกิจ คือ การใช้จ่ายภาครัฐที่ยังไม่สามารถเบิกจ่ายงบประมาณได้ ส่งผลต่อนโยบายการคลัง และการลงทุนภาครัฐให้ล่าช้า อีกส่วนคือปัจจัยเชิงวัฏจักร และปัจจัยเชิงโครงสร้าง ส่งผลให้ธุรกิจไทยเสียความสามารถการแข่งขันทางการผลิต และการค้า ทำให้ไม่สามารถผลิตสินค้าที่ตลาดโลกต้องการได้

“ตัวเลขเดือนกว่าๆเกือบ 2 เดือนปีนี้ดีกว่าไตรมาสที่ 4 เพราะเราเห็นการขยายตัวดีขึ้น แต่ถ้าเทียบตอนนี้กับระยะเดียวกันของปีก่อน อาจจะไม่เห็นภาพนั้น เพราะปีที่แล้วฐานสูง ทำให้ประเมินว่า เศรษฐกิจไทยปี 67 ยังคงขยายตัวได้ต่อเนื่อง โดยจะขยายตัวอยู่ที่ 2.5-3% แต่อาจจะค่อนไปทางด้านล่างของประมาณการมากกว่าขอบด้านบน”

ปัจจัยหลัก คือ การใช้จ่ายและการบริโภคภาคเอกชนที่ยังขยายตัวต่อเนื่อง แม้ตัวเลขจะยังไม่สูงมาก การท่องเที่ยว 2 เดือนแรกขยายตัวได้ดี และคาดว่าจะปรับตัวดีขึ้นต่อ ส่วนการใช้จ่ายภาครัฐ หลังจากงบประมาณรายจ่ายปี 67 ผ่านรัฐสภา น่าจะมีการเร่งใช้จ่ายและลงทุนของภาครัฐ ซึ่งจะเป็นตัวกระตุ้นเศรษฐกิจให้เป็นไปตามประมาณการ ส่วนการส่งออกในปีนี้ยังขยายตัวเป็นบวก แต่ปัญหาเชิงโครงสร้างอาจจะทำให้ไม่สามารถแข่งขันกับโลกได้

ปัจจัยที่เป็นจุดเปลี่ยนทิศทางนโยบายการเงิน?

ถ้าย้อนกลับไปตามถ้อยแถลง (statement) กนง. จะเห็นว่า ในช่วงที่ผ่านมาจะเป็นอัตราเงินเฟ้อ และเสถียรภาพการเงิน โดยเราคาดว่าแม้เงินเฟ้อในช่วง 2-3 เดือนยังคงติดลบ แต่จะกลับมาขยายตัวเป็นบวกได้ในเดือน พ.ค.ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากปัจจัยเรื่องของฐานด้วย ขณะที่เสถียรภาพการเงิน เป็นตัวที่ กนง. ต้องดูแล โดยเฉพาะการปรับลดภาระหนี้

“ในขณะนี้ภาวะเงินฝืดน่าจะไม่ใช่ประเด็น เพราะเงินเฟ้อที่ติดลบมาจากปัจจัยชั่วคราว จากราคาอาหารสด และมาตรการภาครัฐที่ช่วยเหลือบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน เช่น ค่าไฟ ซึ่งมองไปข้างหน้าปัจจัยเหล่านี้จะหายไป และเงินเฟ้อน่าจะกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมายในไตรมาสที่ 4 เพราะเศรษฐกิจยังขยายตัวได้ การบริโภคก็ไม่หดตัวลง”

ทั้งนี้ นอกเหนือ 2 ปัจจัยนี้แล้ว ปัจจัยการขยายตัวของเศรษฐกิจเป็นสิ่งที่ กนง.ต้องนำมาพิจารณา โดยหากพบว่า ปัญหาปัจจัยเชิงโครงสร้างซึ่งกระทบกับแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ถ้ากระทบแรงก็มีความเป็นไปได้ และเป็นปัจจัยที่ทำให้การขยายตัวของปีนี้ไม่เป็นไปตามคาด สิ่งที่อยากสะท้อนแนวคิด คือ การพิจารณาอัตราดอกเบี้ยที่เหมาะสม หรือ neutral rate หรืออัตราดอกเบี้ยนโยบายตรงกลาง ที่จะไม่ทำให้เศรษฐกิจซบเซาหรือร้อนแรงเกินไปว่าอยู่ที่ไหน

“ดอกเบี้ยที่เหมาะสมจะต้องดูจากศักยภาพในการเติบโตของเศรษฐกิจในขณะนั้น รวมทั้ง ปัจจัยแวดล้อมและเสถียรภาพการเงิน ซึ่งหากปัจจัยเหล่านี้เปลี่ยนไปจากที่ กนง.ได้ประเมินไว้ กนง.ก็พร้อมปรับเปลี่ยน เช่น ถ้ามีภาพที่สะท้อนให้เห็นว่า ปัจจัยเชิงโครงสร้างกำลังส่งผลกระทบต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจ ก็พร้อม recalibrate หรือปรับเปลี่ยนดอกเบี้ยเพื่อที่จะหา neutral rate ที่แตกต่างกันในช่วงเวลาที่ต่างกันไปของภาวะเศรษฐกิจ”

การเมืองกดดันการตัดสินใจ กนง.หรือไม่?

“ในการประชุมทุกครั้ง กนง.ทุกท่านจะมีการตัดสินใจอย่างอิสระ ไม่ว่าจะเป็นคนใน คนนอก แต่ละท่านมองภาพและให้น้ำหนักปัจจัยทางเศรษฐกิจที่แตกต่างกันไป แต่เป้าหมายหลักของนโยบายการเงินจะเป็นการมองภาพไปข้างหน้า หากมีทิศทางที่เปลี่ยนไปชัดเจน เชื่อว่า กนง.ก็พร้อมปรับเปลี่ยนดอกเบี้ยให้สอดคล้องกับสถานการณ์”

ส่วนความคิดเห็นจากภาคการเมือง หรือ ประชาชน นั้น กนง.มองว่าเป็นมุมมองที่มาจากภาคส่วน เป็นข้อมูลสำคัญที่ใช้ประกอบการพิจารณานโยบายการเงิน ซึ่ง กนง.เองไม่ได้มองแค่ภาพรวมเรามีการเข้าไปหาข้อมูลจากภาคประชาชน ภาคเอกชน เพื่อให้ได้ข้อมูลจริง มาประกอบการดูภาพเศรษฐกิจ ดังนั้น ความคิดเห็นของภาครัฐ นักวิชาการ ก็เป็นข้อมูล แบบ input ที่สำคัญ ซึ่ง กนง.นำประเมินและประมวลภาพเศรษฐกิจในระยะสั้น และระยะยาว

ตามปกติ ธปท.ประเมินภาพเศรษฐกิจใหม่ทุกครั้งที่มีการประชุม กนง. แต่อาจจะไม่ได้ออกมาแจ้งประมาณการเศรษฐกิจใหม่ทุกครั้ง เพราะเรามองไปข้างหน้าค่อนข้างยาว นโยบายดอกเบี้ยเป็นนโยบายที่มีผลกระทบในวงกว้าง จึงไม่สามารถนำเครื่องมือนี้มาแก้ปัญหาเฉพาะจุดบางจุดได้ นอกจากนั้น ยังต้องใช้เวลาระยะหนึ่งถึงจะได้ผล ถ้าการปรับเปลี่ยนดอกเบี้ยไปกระทบเสถียรภาพ ถ้ายังไม่คุ้ม ต้องไปแก้ปัญหาเฉพาะจุดแทน

“อย่างที่ได้พูดไปว่า นโยบายการเงินมีหลากหลายเครื่องมือ ดอกเบี้ยเป็นเครื่องมือที่มีผลกระทบกว้างขวาง หากเป็นช่วงที่เศรษฐกิจโดยรวมยังขยายตัวได้ การปรับเปลี่ยนดอกเบี้ยอาจจะไปกระทบเสถียรภาพ แต่หากมองว่า การใช้ดอกเบี้ยแก้ในภาพรวมไม่ได้ ก็ต้องไปแก้ปัญหาเฉพาะจุด ทั้งการปรับโครงสร้างหนี้เดิม หาแหล่งเงินทุนเพิ่มให้เอสเอ็มอี และปล่อยกู้แบบรับผิดชอบ (RL) โดยดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับสูง คนที่มีภาระหนี้ที่มีรายได้ไม่สูงมาก กลุ่มอาชีพอิสระ มีผลกระทบมาก เพราะรายได้ไม่กลับมาเมื่อเทียบกับกลุ่มอื่นๆ รวมทั้งเอสเอ็มอี”

วันนี้ธนาคารพาณิชย์ระมัดระวังการให้สินเชื่อใหม่มากขึ้น สิ่งที่ทำได้ คือ กระบวน การปรับโครงสร้างหนี้ทำได้รวดเร็วและมีประสิทธิภาพเพื่อให้กลับมาดำเนินธุรกิจต่อไปได้ ส่วนเครื่องมืออื่น ๆ อาจจะต้องดูว่าเรายังมีอะไรที่จะผลักดัน เช่น การค้ำประกันสินเชื่อเอสเอ็มอี ขณะที่สินเชื่อของภาคเอกชนรายย่อยไม่ได้ลดลง แต่ขยายในอัตราที่ต่ำลง ธปท.อาจจะช่วยในเรื่องช่องทางเข้าถึงให้ หรือการใช้ข้อมูลที่เรียกว่า open data เพื่อให้เข้าถึงสินเชื่อได้.

อ่าน "คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ" ทั้งหมดที่นี่


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ