ปัญหาโลกแตก “บ้าน” เป็นหนี้สิน หรือ ทรัพย์สิน กันแน่! ทำไมใครๆ ก็อยากมีบ้าน

Personal Finance

Banking & Bond

กองบรรณาธิการ

Author

กองบรรณาธิการ

Tag

ปัญหาโลกแตก “บ้าน” เป็นหนี้สิน หรือ ทรัพย์สิน กันแน่! ทำไมใครๆ ก็อยากมีบ้าน

Date Time: 17 มี.ค. 2567 10:18 น.

Video

ล้วงไส้ TEMU อีคอมเมิร์ซจีน บุกไทย ทำไมอาจสร้างวิบากกรรมกว่าที่คิด ? | Digital Frontiers

Summary

  • ปัญหาโลกแตก “บ้าน” เป็นหนี้สิน หรือ สินทรัพย์-ทรัพย์สิน กันแน่! ทำไมใครๆ ก็อยากมีบ้าน ข้อควรรู้ก่อนกู้ซื้อบ้าน เริ่มต้นผิด สถานะการเงินไม่พร้อม

Latest


จะมีใครสักกี่คนกันเชียวที่สามารถซื้อ “บ้าน” ได้ด้วยเงินสด เพราะเป็นที่รับรู้กันว่า กว่าคนเราจะมีบ้านได้สักหนึ่งหลัง ต้องวางแผน เตรียมความพร้อมทั้งเรื่องการเงิน การรักษาประวัติเครดิต เพื่อขอกู้สินเชื่อกับธนาคารมาอย่างดี 

บ้างก็ได้รับการอนุมัติอย่างรวดเร็ว แต่อีกหลายคนแค่ยื่นเอกสารธนาคารก็ปัดตกเสียแล้ว อย่างไรก็ตามถึงยากเย็นแสนเข็ญแค่ไหน การมี บ้าน เป็นของตัวเอง ก็ดูเหมือนจะเป็นฝันสูงสุดของใครหลายๆคน ด้วยนิยามทางสังคม บ้าน = ความมั่นคงของชีวิต 

หากแต่สิ่งที่ต้องรับรู้ “การซื้อบ้าน” ไม่อาจทำให้ชีวิตเรามั่นคงได้เลย หากไม่สามารถรับมือกับค่าใช้จ่ายที่จะตามมาได้ เกิดข้อถกเถียงน่าคิด จากคนที่อยู่ระหว่างผ่อนหนี้ยาว 30 ปี กับคนที่กำลังลังเลตัดสินใจซื้อบ้าน ว่าแท้จริงแล้ว บ้าน เป็นหนี้สิน หรือ ทรัพย์สิน กันแน่? บทความนี้ชวนถกกันถึงเรื่องนี้ 

ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ ระบุว่า การซื้อบ้าน หรือการที่เรามีบ้านเป็นของตัวเอง ภายใต้คนส่วนใหญ่ยังมองว่าเป็นสัญลักษณ์ของ “ความมั่นคง” ในชีวิตนั้น แต่ทั้งนี้ในความเป็นจริงแล้ว “บ้าน” อาจไม่ใช่ “สินทรัพย์” (ศัพท์ทางบัญชี) หรือ “ทรัพย์สิน” อย่างที่หลายคนเข้าใจเสมอไป

แต่กลับกันเลยที่อาจเป็น “หนี้สินก้อนใหญ่” ซึ่งทำให้อาจเราตกที่นั่งลำบาก และยากที่จะมีชีวิตที่มั่นคงได้ด้วยซ้ำ 

โดยการจะตัดสินได้ว่า “บ้าน” คือหนี้ หรือสินทรัพย์กันแน่นั้น ต้องเริ่มต้นจากการเข้าใจความหมายของคำว่า “สินทรัพย์” เสียก่อน

“สินทรัพย์” คืออะไร?

สินทรัพย์ คือ สิ่งที่เมื่อเราครอบครอง หรือเป็นเจ้าของแล้ว ทำให้เรา “มีเงินเพิ่มพูนมากขึ้น” โดยตัวอย่างของสินทรัพย์ก็เช่น เงินสด เพราะหากเรานำเงินฝากไว้กับธนาคารก็จะได้ดอกเบี้ย ทำให้เงินเพิ่มพูนมากขึ้น หุ้นที่เราซื้อไว้ เมื่อเวลาผ่านไปกิจการมีกำไรหุ้นก็มีมูลค่าสูงขึ้น เรามีโอกาสได้รับปันผลจากหุ้น จึงทำให้มีเงินเพิ่มมากขึ้น หรือทองคำ ก็เป็นสินทรัพย์เช่นกัน เพราะการซื้อทองคำเก็บไว้ เมื่อทองมีมูลค่าสูงขึ้น เราก็จะมีเงินมากขึ้นกว่าเดิมจากที่เสียไป เป็นต้น

“บ้าน” เป็นสินทรัพย์หรือไม่?

สินทรัพย์นั้นอาจจะเป็นวัตถุสิ่งของก็ได้ ซึ่ง “บ้าน” เองก็สามารถจัดว่าเป็นสินทรัพย์ได้เช่นกัน แต่การที่บ้านจะเป็นสินทรัพย์ได้อย่างแท้จริงนั้นจะต้องอยู่ภายใต้แนวคิดที่ว่า “การครอบครองบ้าน หรือคอนโดของเราก่อให้เกิดรายได้มากกว่ารายจ่าย” 

หมายความว่า ถ้าเราซื้อบ้านเพื่ออยู่อาศัยเอง บ้านจะไม่ได้เป็นสินทรัพย์ แต่จะเป็น “หนี้สิน” เพราะบ้านที่เราซื้อ ทำให้เรามีภาระที่จะต้องจ่าย ได้แก่ ค่าผ่อนบ้านทุกเดือนเป็นเวลาหลายสิบปี รวมถึงค่าบำรุงรักษา และค่าเสื่อมที่ตามมากอีกนับไม่ถ้วน 

ส่วนในกรณีที่จะทำให้บ้านเป็นสินทรัพย์ ก็คือ เราซื้อบ้าน หรือคอนโดเพื่อให้เช่า และเราได้ค่าเช่าเป็นรายได้เข้ามามากกว่า “ค่าผ่อนที่ต้องชำระ” เช่น เราซื้อบ้านมาต้องผ่อนเดือนละ 7,000 บาท แต่ปล่อยให้เช่าได้เดือนละ 10,000 บาท เหลือเงินเป็นกำไร 3,000 บาท ดังนั้น บ้านหลังนี้จึงถือเป็นสินทรัพย์ เพราะ “ทำให้เรามีเงินเพิ่มพูน” มากขึ้น

“บ้าน” ทรัพย์สินชิ้นใหญ่สุดในชีวิต เริ่มต้นผิด ระวังติด “กับดัก” หนี้สิน 

ทั้งนี้ สำหรับคนที่กำลังตัดสินใจจะกู้ซื้อบ้าน นอกจากเก็บออมเงินให้ได้อย่างน้อย 20% ของมูลค่าบ้าน เพื่อเป็นเงินดาวน์เพิ่มโอกาสในการพิจารณาสินเชื่อ เพราะไม่ต้องขอกู้เต็มราคาบ้าน 100% แล้ว 

สิ่งที่ต้องคำนึงคือ การคำนวณภาระหนี้ต่อเดือน หลังผ่อนบ้านแล้ว ต้องไม่ควรเกิน 40% ขณะรายได้ของแต่ละคนซึ่งต่างกัน ราคาบ้าน ราคาคอนโดมิเนียมก็มีหลายระดับ รายได้เริ่มต้นที่เหมาะสมต่อการซื้อบ้านจึงไม่เท่ากัน ดังนั้นหลักการพิจารณาในเรื่องนี้ให้ตัดสินจากระดับภาระหนี้ที่ไม่สูงเกินไปจนมีผลต่อการใช้ชีวิต โดยตามมาตรฐานแล้วไม่ควรเกิน 40% ของรายได้ เนื่องจากหลังการซื้อบ้านแล้วยังมีค่าใช้จ่ายอื่นๆ ตามมา เช่น ค่าน้ำ ค่าไฟฟ้า ค่าส่วนกลาง ซึ่งส่วนใหญ่มักมองข้ามไป และทำให้เกิดปัญหาจนการมีบ้านกลายเป็นหนี้สินปวดหัว ตามมา 

“รายได้ 20,000 บาทต่อเดือน การผ่อนบ้านในระดับ 40% ของรายได้ไม่ควรเกิน 8,000 บาทต่อเดือน เหลือ 12,000 บาทไว้ใช้จ่ายสำหรับการใช้ชีวิตแต่ละเดือน การแบกรับภาระหนี้บ้านในระดับ 70-80% ของรายได้ สะท้อนถึงการซื้อบ้านเกินกำลังทางการเงิน”

ทั้งนี้หากยังไม่พร้อมจริงๆ ก็ควรชะลอการตัดสินใจออกไปก่อน เนื่องจากการตัดสินใจซื้อในวันที่สถานะการเงินไม่พร้อมก็จะกลายเป็นการสร้าง “หนี้สิน” มากกว่าการสร้าง “สินทรัพย์” ให้กับชีวิตนั่นเอง.

อ่านข่าวหุ้น และการลงทุน กับ Thairath Money ได้ที่

ติดตามเพจ Facebook : Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้ https://www.facebook.com/ThairathMoney


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
กองบรรณาธิการไทยรัฐออนไลน์