ฐากร ปิยะพันธ์ ผู้จัดการใหญ่ ธนาคารทหารไทยธนชาต (TTB) กล่าวว่า ทีทีบีมุ่งมั่นพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการ เพื่อส่งมอบชีวิตทางการเงินที่ดีขึ้นให้ลูกค้าอย่างต่อเนื่องในทุกช่วงชีวิต โดยเฉพาะ 4 กลุ่มลูกค้าหลักที่ธนาคารเชี่ยวชาญ ภายใต้แนวคิด Ecosystem Play ได้แก่ กลุ่มคนมีรถ คนมีบ้าน พนักงานเงินเดือน และลูกค้า Wealth โดยมีแอป ttb touch เป็นแพลตฟอร์มหลักในการเชื่อมต่อโซลูชันและสิทธิประโยชน์ต่างๆ จากพันธมิตรชั้นนำของธนาคาร เพื่อส่งมอบประสบการณ์ทางการเงินในระดับบุคคล หรือ Segment-of-One ให้กับลูกค้า ส่งผลให้ในปีที่ผ่านมา ทั้งกลุ่มผลิตภัณฑ์เงินฝาก สินเชื่อ ลงทุน และประกัน มีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง
สำหรับในปี 67 ทีทีบีเดินหน้ากลยุทธ์ LEAD the CHANGE for Financial Well-being of Retail Customers โดยในส่วนของเงินฝากคาดการณ์ว่าจะทรงตัวเหมือนปีที่ผ่านมา โดยอยู่ที่ 980,000 ล้านบาท ด้านบัตรเดบิต All Free 114,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 14% ขณะที่เงินฝากประจำทรงตัวที่ 350,000 ล้านบาท และ ME Saving อยู่ที่ 33,000 ล้านบาท เติบโตจากปีที่ผ่านมา 50%
ทั้งนี้สินเชื่อกลุ่มลูกค้ารายย่อย ธนาคารตั้งเป้าสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย และสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ เติบโต 1-2% ขณะที่สินเชื่อบ้านแลกเงินเติบโตจากเดิม 10% โดยจะเน้นไปที่กลุ่มบ้านระดับบนราคาตั้งแต่ 5-10 ล้านบาทขึ้นไป ซึ่งเป็นตลาดที่มีศักยภาพ ซึ่งจะเน้นการปล่อยสินเชื่อบ้านใหม่ในกลุ่มบ้านเดี่ยวในเมือง และคอนโดตามแนวรถไฟฟ้า พร้อมเพิ่มสัดส่วนรีไฟแนนซ์บ้านในกลุ่มพนักงานเงินเดือน และเน้นโครงการรวบหนี้ เพื่อช่วยผ่อนภาระดอกเบี้ยให้กับลูกค้า
ขณะที่สินเชื่อรถแลกเงิน คาดเติบโต 15-20% ซึ่งสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ในปี 67 จะเน้นสินเชื่อรถใหม่ที่เติบโตตามอุตสาหกรรม เพิ่มสัดส่วนรถยนต์ไฟฟ้า ไม่แข่งราคาแต่เน้นเรื่องการบริหาร โดยตั้งเป้าที่จะเพิ่มสัดส่วนสินเชื่อรถยนต์ไฟฟ้า เป็น 30-35% จากปีที่ผ่านมาเติบโตที่ 13-15%
ด้านบัตรเครดิต และสินเชื่อส่วนบุคคลในปี 67 ตั้งเป้าให้มียอดใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิต เพิ่มขึ้น 20-25% จากยอดคงค้างปีก่อนที่ 37,000 ล้านบาท โดยจะมุ่งเน้นขยายฐานลูกค้าใหม่ ส่วนทางด้านสินเชื่อส่วนบุคคลยอดสินเชื่อปล่อยใหม่ ตั้งเป้าการเติบโตไว้ที่ 10-15% อยู่ที่ 35,000 ล้านบาท ยอดสินเชื่อคงค้างเติบโต 10-15% จากยอด 39,000 ล้านบาท
นอกจากนี้ ธนาคารมีความห่วงใยในปัญหาหนี้สินของคนไทย ด้วยปัญหาเศรษฐกิจเรื้อรัง ที่ทำให้ในปีที่ผ่านมาประเทศไทยมีผู้เป็นหนี้ค้างชำระระหว่าง 1-3 เดือนสูงขึ้น และมีการผิดนัดชำระหนี้มากขึ้น ดังนั้นธนาคารจึงมีเป้าหมายที่จะบริหารจัดการความเสี่ยงของกลุ่มสินเชื่อรายย่อยอย่างต่อเนื่อง
สำหรับสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย ไม่เกิน 2.2% จากที่ผ่านมาอยู่ที่ 2.9% ส่วนตลาดวิ่งไปอยู่ที่ 4% เพราะมีการปรับโครงสร้างไปพร้อมๆ กับเน้นลูกค้ากลุ่มบน รีไฟแนนซ์ มากขึ้น จึงค่อนข้างมีความเสี่ยงต่ำ ด้าน NPL รถยนต์ควบคุมให้อยู่ที่ 1% เพราะจะเน้นรถใหม่ รวมถึงจะมีการปรับโครงสร้างหนี้ให้ลูกค้าโดยปีนี้คาดว่าจะอยู่ที่ 7,000 คัน ส่วนบัตรเครดิตและสินเชื่อรถยนต์อยู่ไม่ระดับที่ค่อนข้างต่ำมาก เนื่องจากกลุ่มลูกค้าส่วนใหญ่เป็นกลุ่มลูกค้าของธนาคาร
ด้านรายได้ค่าธรรมเนียมของกลุ่มลูกค้ารายย่อยในปี 67 ในส่วนของรีเทลมาจากประกันเป็นส่วนใหญ่ และบัตรเครดิต เดบิต ที่มีการใช้จ่ายมากขึ้น บวกกับธุรกรรมผ่านตู้ ATM จึงคาดว่าจะสามารถเติบโต ได้ 5-6% โดยจะมีการเดินหน้าบุกผลิตภัณฑ์ด้านการลงทุนใหม่ๆ เพิ่มมากขึ้น
นอกจากนี้ ในส่วนของ AUM มูลค่าสินทรัพย์เพื่อการลงทุนตั้งเป้าเติบโต 15-20% โดยปัจจุบันอยู่ที่ 190,000 ล้านบาท ซึ่งจะเน้นเจาะลูกค้า 30 ล้านบาทขึ้นไป ขณะที่ แอป ttb touch ตั้งเป้าแอคทีฟยูสเซอร์ไว้ที่ 80% ส่วนลูกค้าใหม่ตั้งเป้าไว้ที่ 1 ล้านราย พร้อมทั้งมีแผนที่จะเริ่มธุรกิจนาโนไฟแนนซ์ ที่จะทำผ่านดิจิทัล 100% โดยจะเริ่มทดสอบในเดือนเมษายนนี้ ซึ่งวางเป้าไว้ไม่กี่ร้อยล้าน เพื่อเป็นการทดลอง แต่หากผลตอบรับดี ก็อาจจะมีการขยายต่อไป
ส่วนที่สุดของ ttb ในปี 2566 ที่ผ่านมา มีอะไรบ้าง?
ติดตามข้อมูลข่าวสารด้านการเงิน และธนาคาร กับ Thairath Money ได้ที่
https://www.thairath.co.th/money/business_marketing
ติดตามเพจ Facebook : Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้ https://www.facebook.com/ThairathMoney