ประธานบอร์ด ttb เปิดกลยุทธ์ Responsible Lending - Transition Finance เพื่อชีวิตที่ดีขึ้นของคนไทย

Personal Finance

Banking & Bond

Content Partnership

Author

Content Partnership

Tag

ประธานบอร์ด ttb เปิดกลยุทธ์ Responsible Lending - Transition Finance เพื่อชีวิตที่ดีขึ้นของคนไทย

Date Time: 12 มี.ค. 2567 18:02 น.
Content Partnership

Summary

  • การขับเคลื่อนธุรกิจภายใต้ชื่อและโครงสร้างใหม่ของ “ทีเอ็มบีธนชาต” หรือ ทีทีบี (ttb) หลังการรวมกิจการอย่างเป็นทางการระหว่างทีเอ็มบีและธนาคารธนชาต เมื่อเดือนพฤษภาคม 2564 เป็นอีกหนึ่งความท้าทายของการดำเนินธุรกิจธนาคารบนฐานลูกค้าที่มากขึ้น

การขับเคลื่อนธุรกิจภายใต้ชื่อและโครงสร้างใหม่ของ “ทีเอ็มบีธนชาต” หรือ ทีทีบี (ttb) หลังการรวมกิจการอย่างเป็นทางการระหว่างทีเอ็มบีและธนาคารธนชาต เมื่อเดือนพฤษภาคม 2564 เป็นอีกหนึ่งความท้าทายของการดำเนินธุรกิจธนาคารบนฐานลูกค้าที่มากขึ้น กับภารกิจมุ่งสู่ The Bank of Financial Well-being “ธนาคารที่เป็นผู้นำด้านการสร้างชีวิตทางการเงินที่ดีขึ้นให้กับคนไทย”

ดร.เอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ ประธานกรรมการ ทีเอ็มบีธนชาต เผยว่าเกือบ 3 ปี ที่มีภารกิจเข้ามาร่วมขับเคลื่อนทีทีบี ซึ่งการรวมกิจการทำให้ธนาคารมีความแข็งแกร่งยิ่งขึ้น และเพิ่มความสามารถในการช่วยเหลือลูกค้าได้รอบด้าน ท่ามกลางสถานการณ์โควิด-19 ความผันผวนของเศรษฐกิจโลก รวมถึงเศรษฐกิจไทยที่ปัจจุบันยังฟื้นตัวไม่เต็มที่และหนี้ครัวเรือนของไทยยังอยู่ในระดับสูง ตลอดจนความท้าทายจากกระแสโลกในเรื่องการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศที่ส่งผลกระทบต่อชีวิตผู้คนและลูกค้าธุรกิจ

ภายใต้พันธกิจหลักในการช่วยให้ลูกค้ามีชีวิตทางการเงินที่ดีขึ้นทั้งกลุ่มลูกค้าบุคคลและลูกค้าธุรกิจ ธนาคารได้ให้ความสำคัญอย่างมากกับ 2 เรื่องหลัก คือ การให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบและเป็นธรรม (Responsible Lending) เพราะเรื่องหนี้เป็นปัญหาใหญ่ของคนไทยที่ต้องการการช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน ในขณะที่ลูกค้าธุรกิจก็ต้องการความช่วยเหลือในการเปลี่ยนผ่านธุรกิจที่ช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม (Transition Finance) เพื่อมุ่งไปสู่เป้าหมาย Net Zero สอดรับตามเป้าหมายของประเทศ

ในเรื่องของ Responsible Lending ดร.เอกนิติ เล่าว่าเนื่องจากสถานการณ์หนี้ครัวเรือนไทยเป็นปัญหาใหญ่ และหมักหมม ซึ่งหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูงจะกระทบต่อการเติบโตของเศรษฐกิจในภาพรวม เพราะเมื่อคนมีภาระต้องชำระหนี้มากขึ้นก็จะทำให้ความสามารถในการบริโภคลดลง และหากระยะต่อไปหนี้ครัวเรือนไม่ได้รับการแก้ไขก็จะเป็นปัจจัยฉุดรั้งให้เศรษฐกิจชะลอตัว โดยทีม ttb analytics ประเมินว่า ปี 2567 หนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีไทยจะอยู่ที่ 91.4% หรือราว 16.9 ล้านล้านบาท ซึ่งนับว่าสูง (จากปัจจุบันอยู่ที่ 90.9%)

แต่สิ่งที่หนักกว่าและน่าห่วง คือคนที่เป็นหนี้และต้องโปะหนี้ไปเรื่อยๆ กู้ที่นั่นมาที่นี่ และถ้าไม่มีระบบสถาบันการเงินรองรับก็จะยิ่งผลักดันให้คนเหล่านี้ไปกู้หนี้นอกระบบที่มีอัตราดอกเบี้ยสูง ส่งผลให้มีภาระหนี้ มากกว่าเงินต้น และยิ่งกระทบชีวิตคนรายได้น้อย เป็นวงจรอุบาทว์

โดยตั้งแต่ต้นปี 2567 ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ออกหลักเกณฑ์การให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบและเป็นธรรม เพื่อสานต่อการแก้หนี้ครัวเรือน ยกระดับการบริหารจัดการด้านสินเชื่อให้มีความรับผิดชอบและเป็นธรรมมากยิ่งขึ้น พร้อมส่งเสริมให้ลูกค้าที่มีความจำเป็นต้องใช้เงิน ก่อหนี้ใหม่อย่างมีคุณภาพและมีวินัยทางการเงินที่ดีขึ้น ซึ่งทีทีบีในฐานะ 1 ใน 6 ธนาคารพาณิชย์ที่มีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจในประเทศ หรือ D-SIBs Bank (Domestic Systemically Important Banks) ได้ดำเนินการเรื่องนี้มาตลอด เพราะสอดคล้องกับเป้าประสงค์ของธนาคารที่ต้องการทำให้ชีวิตทางการเงินของลูกค้าดีขึ้น

นอกจากนี้ ยังมีผลสำเร็จที่เป็นรูปธรรมจากโครงการรวบหนี้ หรือ Debt Consolidation ที่เริ่มดำเนินงานมาตั้งแต่ต้นปี 2564 เพื่อช่วยเหลือลูกค้าให้สามารถรวบหนี้จากหลายแห่งมารวมไว้ด้วยกัน ซึ่งตอบโจทย์ผู้ที่ต้องการลดภาระหนี้ เพิ่มสภาพคล่อง จากอัตราดอกเบี้ยที่ถูกลง

“ในปี 2566 ที่ผ่านมา ทีทีบีสามารถช่วยลูกค้ารวบหนี้ผ่านโครงการนี้ได้กว่า 17,000 ราย หรือคิดเป็นวงเงินสินเชื่อรวมกว่า 6,700 ล้านบาท สามารถช่วยประหยัดค่าดอกเบี้ยของลูกค้ากลุ่มนี้ไปได้มากกว่า 1,200 ล้านบาท นี่คือตัวอย่างของความมุ่งมั่นที่ทีทีบีได้ช่วยทำให้ชีวิตทางการเงินของคนไทยดีขึ้น” ดร.เอกนิติ กล่าว

นอกจากลดภาระหนี้แล้ว สิ่งที่จะช่วยทำให้ชีวิตทางการเงินของคนไทยดีขึ้นได้ คือ การมีความรู้ทางการเงิน (Financial Literacy) ซึ่งทีทีบีได้ลงมือทำไปค่อนข้างมากในโครงการให้ความรู้ทางการเงินกับลูกค้าทั้งลูกค้าบุคคลและธุรกิจ ผ่านโครงการต่างๆ เช่น fintips by ttb แหล่งรวมเคล็ดลับและคำแนะนำ เพื่อการเงินที่ดีบนเว็บไซต์ ttbbank.com หรือ finbiz by ttb แหล่งรวมความรู้และคำแนะนำความรู้ทางการเงินสำหรับลูกค้าธุรกิจและเอสเอ็มอี หรือ fin live & learn by ttb โครงการให้ความรู้ทางการเงิน แก่มนุษย์เงินเดือน รวมถึง fintools by ttb เครื่องมือวางแผนและคำนวณเรื่องเงิน เพื่อชีวิตทางการเงินที่ดีขึ้น

“ทีทีบีต้องการแก้ปัญหาหนี้ให้คนไทยอย่างจริงจัง เริ่มจากภายในองค์กร จึงได้มีการจัดโปรแกรมปลดหนี้เมื่อไตรมาส 2 ปี 2566 นำร่องกับพนักงานทีทีบี จำนวน 1,200 ราย เป็นโครงการสมัครใจ ชวนมาตรวจสุขภาพทางการเงิน วัดระดับหนี้ ค้นหายอดรายจ่ายเฉพาะแต่ละคน โดยแนะนำให้ความรู้ตามลักษณะรายจ่าย ของแต่ละคนที่ไม่เหมือนกัน พบว่าหลายคนมีรายจ่ายที่ไม่จำเป็น และชี้ให้เห็นว่าต้องแก้ปัญหาอย่างไร ซึ่งการทำตรงนี้ทำให้เราเข้าใจก่อนที่จะนำไปใช้งานกับลูกค้า และคาดว่าในไตรมาส 4 ปี 2567 น่าจะเริ่มโปรแกรมปลดหนี้กับพนักงานบริษัทอื่นๆ ที่มีบัญชีเงินเดือนกับทีทีบีด้วย” ประธานกรรมการ ทีทีบี กล่าว

จากการเพิ่มศักยภาพด้านดิจิทัล โดยเปิดตัวแอป ttb touch เวอร์ชันใหม่ ในปี 2565 เพื่อยกระดับการนำเสนอผลิตภัณฑ์และบริการที่ตอบโจทย์ความต้องการที่แตกต่างกันของลูกค้าแต่ละรายได้อย่างมีประสิทธิภาพ ผ่านกลยุทธ์ Ecosystem Play บนกลุ่มลูกค้าที่ธนาคารมีความชำนาญและมีฐานลูกค้าเป็นแต้มต่อ อาทิ กลุ่มพนักงานเงินเดือน กลุ่มคนมีรถ กลุ่มคนมีบ้าน จะทำให้ธนาคารมีข้อมูลการใช้จ่ายของลูกค้าผ่านแอป ttb touch ที่สามารถนำมาช่วยแก้หนี้ได้อย่างตรงจุดมากขึ้น

ไม่ใช่ดูแลแค่คนเป็นหนี้ แต่ทีทีบียังสะท้อนการเป็น The Bank of Financial Well-being ดูแลคนไม่เป็นหนี้ ผ่านผลิตภัณฑ์ทางการเงิน เช่น บัญชี ttb all free ที่แม้ว่าจะไม่มีดอกเบี้ยให้ แต่ผู้ฝากเงินจะได้รับประกันอุบัติเหตุฟรี วงเงินคุ้มครองชีวิต 20 เท่าของจำนวนเงินฝากในบัญชี สูงสุด 3 ล้านบาท เป็นการประกันความเสี่ยงสำหรับผู้มีเงินเก็บออม

Transition Finance ช่วยลูกค้าเปลี่ยนผ่านสู่ธุรกิจคาร์บอนต่ำ

ท่ามกลางผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ทีทีบีตอกย้ำการเป็นธนาคารเพื่อความยั่งยืน โดยประกาศความมุ่งมั่นในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net-zero Commitment) โดยให้สอดรับตามเป้าหมายของประเทศ ซึ่งจะดำเนินการผ่านกลยุทธ์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Strategy) และการให้สินเชื่อเพื่อการเปลี่ยนผ่านสู่ธุรกิจรูปแบบใหม่ที่ช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม

ดร.เอกนิติ เล่าถึงบทบาทสำคัญของภาคธนาคารที่จะช่วยให้บรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ว่า เรื่องเงินทุนมีความสำคัญต่อการกระตุ้นให้ลูกค้าปรับเปลี่ยนธุรกิจให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ดังนั้น ธนาคารต้องช่วยลูกค้าในช่วง Transition และต้องยอมรับว่าเรื่องนี้เป็นเทรนด์สำคัญของโลก มีทั้งการให้คำมั่นในระดับนานาชาติ และมีผลกระทบต่อกติกาการค้าในตลาดโลกที่ลูกค้าภาคธุรกิจต้องมีการรายงานข้อมูลต่างๆ เช่น ระดับการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ วัดเรื่องการใช้ไฟฟ้าจากพลังงานสะอาด ซึ่งหากลูกค้าต้องการอยู่ในห่วงโซ่อุปทานระดับโลกก็จะต้องทำเรื่องเหล่านี้

ความมุ่งมั่นของทีทีบี สะท้อนจากการเป็นธนาคารพาณิชย์ไทยแห่งแรกที่มีการออกหุ้นกู้สีเขียวและหุ้นกู้สีฟ้า เพื่อสนับสนุนให้ลูกค้าเปลี่ยนผ่านสู่ธุรกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม รวมทั้งให้สินเชื่อสีเขียวเพื่อโครงการที่เป็นประโยชน์ต่อสิ่งแวดล้อม หรือ Green Loan และสินเชื่อสีฟ้าเพื่อโครงการอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติทางทะเล หรือ Blue Loan โดยในปี 2566 ได้ให้สินเชื่อสีเขียวและสีฟ้ารวมไปแล้วกว่า 17,829 ล้านบาท

พร้อมกันนี้ ทีทีบียังอยู่ระหว่างศึกษาและนำเสนอให้คณะกรรมการธนาคารพิจารณา การทำ Green Securitization Bond ซึ่งเป็นการออกหุ้นกู้เพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ภายใต้โครงการแปลงสินทรัพย์เป็นหลักทรัพย์ โดยจะเป็นธนาคารพาณิชย์ไทยแห่งแรก ซึ่งเป็นการทำงานร่วมกับสถาบันการเงินระหว่างประเทศ เพื่อสนับสนุนการปล่อยสินเชื่อเช่าซื้อรถ EV และการปล่อยสินเชื่อที่เกี่ยวกับธุรกิจรถ EV เป็นต้น

และทั้งหมดนี้ คือ ภารกิจสำคัญและความมุ่งมั่นของ “ทีทีบี” เพื่อก้าวสู่การเป็นธนาคารเพื่อความยั่งยืนที่ทำให้ชีวิตทางการเงินของคนไทยดีขึ้นทั้งในวันนี้และอนาคต


Author

Content Partnership

Content Partnership