5 ขั้นตอนวางแผนการเงิน ฉบับ “DINKs” คู่รักไม่สนมีลูก หาด้วยกัน ใช้ด้วยกัน จัดสรรอย่างไรดี?

Personal Finance

Banking & Bond

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

Tag

5 ขั้นตอนวางแผนการเงิน ฉบับ “DINKs” คู่รักไม่สนมีลูก หาด้วยกัน ใช้ด้วยกัน จัดสรรอย่างไรดี?

Date Time: 16 มี.ค. 2567 15:00 น.

Video

บุกโรงงาน PANDORA ช่างไทยผลิตจิวเวลรี่ แบรนด์โลกแสนล้าน | On The Rise

Summary

  • ชวนรู้ 5 ขั้นตอนวางแผนการเงินฉบับ Double Income No Kids (DINKs) เทรนด์คู่รักที่มุ่งหน้าทำงานและไม่ได้ตั้งใจที่จะมีลูก มีโอกาสที่จะมีเงินออมหรือเงินเก็บมากกว่า จากรายรับที่มี 2 ทาง ค่าใช้จ่ายถูกหารครึ่ง สามารถออมเงินได้มากกว่ากลุ่มคนที่มีลูกหรือครอบครัว จะจัดสรรอย่างไรดี?

Latest


แน่นอนว่าเมื่อไม่มีลูก แต่มีคู่ รายได้เข้าสองทาง ทำให้ผู้บริโภคกลุ่ม Double Income No Kids (DINKs) หรือเทรนด์ของคนคู่รักที่มุ่งหน้าทำงานและไม่ได้ตั้งใจที่จะมีลูก มีโอกาสที่จะมีเงินออมหรือเงินเก็บมากกว่า จากรายรับที่มี 2 ทาง ค่าใช้จ่ายถูกหารครึ่ง ทำให้สามารถออมเงินได้มากกว่ากลุ่มคนที่มีลูกหรือครอบครัว แต่ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับพฤติกรรมการใช้จ่ายของคู่รักแต่ละคู่บ้างก็รู้จักเก็บ บ้างก็มีการบริหารจัดการที่ดี แต่บางคู่ก็ใช้จ่ายเกินตัว ไม่เหลือเงินไว้ใช้ยามเกษียณ

ในครั้งนี้ #Thairath Money จะพาไปดู 5 ขั้นตอนวางแผนการเงินฉบับ Double Income No Kids (DINKs) จากข้อมูลของ by Krungsri The COACH ถ้าไม่มีลูก หาเงินด้วยกัน ใช้จ่ายกินอยู่ร่วมกัน จะจัดสรรอย่างไรดี?

กระเป๋าเงินเธอ + กระเป๋าเงินฉัน = กระเป๋าเงินของเรา

หลายๆ คู่รักที่ยังแยกกระเป๋าเงินกันอยู่อาจจะลองเปิดอกคุยกันให้ชัวร์ๆ โดยอาจจะเริ่มจากเรื่องของภาระหนี้สิน ต่างคนต่างมีหรือเปล่า ถ้าใครสักคนมีอยู่เราสามารถรับผิดชอบร่วมกันได้ไหม หรือเคลียร์ส่วนตัวให้เรียบร้อยเสียก่อน และลองตกลงร่วมกันว่าแต่ละคนจะมีเงินใช้ส่วนตัวเท่าไร พร้อมนำเงินที่เหลือมารวมเป็นกระเป๋าเงินของเรา 

วางแผนเป้าหมายระยะสั้นเพื่อให้ทำได้ตามเป้าหมาย

อาจจะลองวางแผนเป้าหมายระยะสั้นร่วมกับคู่ของเรา เพื่อการแบ่งเงินสู่ความสุขผ่านเป้าหมายระยะสั้น เช่น การวางแผนท่องเที่ยวต่างประเทศ ไปประเทศไหน ระยะเวลาเท่าไร ใช้เงินเท่าไร โดยแบ่งเงินจากกระเป๋าเงินของเรามาใช้ในส่วนของเป้าหมายระยะสั้น ผ่านการพูดคุย และตกลงกันให้ดี ทำให้เป้าหมายนี้ไม่เป็นเพียงเป้าหมายของคนใดคนหนึ่ง 

วางแผนเป้าหมายระยะยาว

แน่นอนว่าเทรนด์ Double Income No Kids ยามเข้าสู่วัยเกษียณเราอาจมีญาติ หรือหลานที่ดูแลก็ได้ แต่มันคงจะดีกว่าถ้าหากคู่ของเราดูแลกันเองได้ คู่ของเราจึงจำเป็นที่จะต้องคิดถึงชีวิตหลังเกษียณเอาไว้ด้วย จะไปอยู่อาศัยกันที่ไหน ต้องการใช้เงินเดือนละเท่าไร 

ตัวอย่าง คู่ของเราอายุ 25 ปี วางแผนจะเกษียณทั้งคู่ร่วมกันตอนช่วงอายุ 60 ปี คาดว่าตัวเองจะเก็บเงินใช้หลังเกษียณถึงอายุ 85 ปี และทั้งคู่ต้องการมีเงินใช้เดือนละ 50,000 บาท
โดยเราจะลองคำนวณจากสูตร ค่าใช้จ่ายต่อเดือน x 12 เดือน x ระยะเวลาหลังเกษียณ = จำนวนเงินที่ต้องใช้หลังเกษียณ (ยังไม่ได้รวมเรื่องของเงินเฟ้อ) (50,000 x 12 x 25) = 15,000,000 บาท

หากเราสามารถคำนวณจำนวนเงินที่คู่ของเราจำเป็นต้องเก็บได้แล้ว ก็จะทำให้เราสามารถแบ่งเงินออมเฉลี่ยแต่ละเดือนออกมาได้ชัดเจนขึ้นนั่นเอง

กระเป๋าเงินคู่สู่การลงทุนร่วมกัน

แม้ว่า Double Income No Kids จะหาเงินได้มากเท่าไรก็ตาม มันคงจะดีกว่าหากให้เงินได้ทำงานผ่านการลงทุน แต่อย่าลืมว่าเมื่อเรารวมกระเป๋าเงินเป็นของกันและกันแล้ว เราก็ต้องมาระดมความคิดเรื่องการลงทุนไปพร้อมๆ กันด้วย โดยเราอาจจะนำเงินไปลงทุนในกองทุนรวม หรือหุ้น ตามความถนัดและความชอบของคู่เรา แต่อย่าลืมที่จะพิจารณาความเสี่ยงที่เราทั้งคู่รับไหวด้วย

มองหาประกันที่ทำร่วมกัน

ในอนาคตเราไม่รู้ว่าคู่ของเราจะเป็นเช่นไร จะเจ็บป่วย หรือพบโรคร้ายต่างๆ หรือไม่ ทั้งคู่ควรเริ่มมองหาประกันที่สามารถคุ้มครองทั้งค่ารักษาพยาบาล และชดเชยยามขาดรายได้ รวมไปถึงยังมองในส่วนผลประโยชน์ที่มีต่อผู้รับในกรณีถ้าหากเราไม่อยู่บนโลกนี้แล้ว โดยเราอาจจะเริ่มสำรวจตัวเองกันทั้งคู่ก่อนเลือกทำประกัน เช่น คู่ของเราป่วยบ่อย เราอาจจะมองหาประกันสุขภาพที่คุ้มครองทั้งค่ารักษาพยาบาลและชดเชยรายได้ต่อวันไว้ หรือถ้าหากคู่ของเราไม่ค่อยป่วย แต่ต้องการประกันที่สามารถคุ้มครองไว้ให้อุ่นใจ เราอาจจะเลือกประกันชีวิตที่สามารถระบุผู้รับผลประโยชน์ไว้ได้

ท้ายที่สุดแล้วหากเราสามารถวางแผนการเงินให้ดี แม้เราจะไม่มี “ลูก” ก็ไม่เป็นไร แต่เราอย่าลืมนึกถึงอนาคต ที่วันหนึ่งเราต้องเกษียณและอยู่ด้วยกันสองคน เพราะ “ความรักไม่ได้เป็นการก้าวนำหรือก้าวตาม แต่เป็นการก้าวไปพร้อมๆ กัน”

อ้างอิง Krungsri The COACH


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ