ซัด ธปท.ประเมินจีดีพีสูงเกินจริง มือลั่นส่งเอกสารลับกลุ่มไลน์นักข่าวทำเนียบ

Personal Finance

Banking & Bond

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

ซัด ธปท.ประเมินจีดีพีสูงเกินจริง มือลั่นส่งเอกสารลับกลุ่มไลน์นักข่าวทำเนียบ

Date Time: 24 ม.ค. 2567 07:20 น.

Summary

  • โฆษกรัฐบาลมือลั่น ส่งเอกสารแถลงข่าวประทับตรา “ลับ” ของกระทรวงการคลัง เรื่องประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 66-67 เข้าห้องไลน์นักข่าวทำเนียบรัฐบาล พร้อมตั้งข้อสังเกต จีดีพีปี 66 โตเพียง 1.8% เทียบกับที่ ธปท.คาดการณ์ไว้เมื่อต้นปี 66 ว่าจะโตถึง 3.6% ถือเป็นการเติบโตที่ถดถอยลงกว่าปี 65 ที่โต 2.6% ก่อนจะลบทิ้งในเวลา ต่อมา ขณะที่ IMF คาดรวมดิจิทัลวอลเลตจีดีพีไทยปีนี้โตพุ่ง 4.4% ส่วนปี 66 โต 2.5%

Latest

ปลดล็อกเรื่องภาษี!

ผู้สื่อข่าวรายงานจากทำเนียบรัฐบาลว่า ตั้งแต่ช่วงเช้าของวันที่ 23 ม.ค.ที่ผ่านมา นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้ส่งเอกสารข่าวกระทรวงการคลัง ที่ยังมีตราประทับลับ และเตรียมแถลงต่อสื่อมวลชนในวันที่ 24 ม.ค. เรื่องการประมาณ การเศรษฐกิจไทยปี 66 และ ปี 67 เข้ามาในห้องไลน์ผู้สื่อข่าวทำเนียบรัฐบาล พร้อมกับมีข้อสังเกตประกอบว่า “สรุปแล้วจีดีพี ปี 66 เติบโตเพียง 1.8% เทียบกับที่ ธปท.คาดการณ์เอาไว้เมื่อต้นปี 66 ว่า จะเติบโตถึง 3.6% ถือเป็นการเติบโตที่ถดถอยลงกว่าปี 65 ที่เติบโต 2.6%” อย่างไรก็ตาม ในเวลา 11.00 น. หลังจากมีข่าวเผยแพร่ตามสื่อออนไลน์ต่างๆ นายชัยได้แจ้งเพิ่มเติมว่า “รายงานข้างต้นยังเป็นเพียงฉบับร่าง ต้องมีการตรวจทานความถูกต้องทั้งตัวเลขและข้อความอยู่ ดังนั้น ขอได้โปรดอย่าเพิ่งนำออกเผยแพร่ จนกว่าจะได้รับการยืนยันอย่างเป็นทางการจากกระทรวงคลัง” พร้อมกับลบไฟล์ที่ส่งมาออกจากห้องไลน์

สำหรับเนื้อหาในเอกสารข่าวของกระทรวงการคลัง ได้ระบุว่าเศรษฐกิจไทยปี 66 คาดว่าจะขยายตัวที่ 1.8% และเร่งตัวขึ้นเป็น 2.8% ในปี 67 โดยมีปัจจัยสำคัญจากการหดตัวของการผลิตภาคอุตสาหกรรม โดยเฉพาะสินค้าหมวดยานยนต์ คอมพิวเตอร์และอิเล็กทรอนิกส์ ทั้งนี้ มูลค่าการส่งออกสินค้าทั้งปี 66 คาดจะหดตัวที่ -1.5% เป็นผลจากอุปสงค์ที่ชะลอตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าสำคัญ ขณะที่มูลค่าการนำเข้าจะหดตัว -1.9% ส่วนปัจจัยหนุนเศรษฐกิจปี 66 มาจากการท่องเที่ยวขยายตัวและการบริโภคภาคเอกชนเป็นสำคัญ

สำหรับปี 67 กระทรวงการคลังคาดว่าเศรษฐกิจ ไทยจะขยายตัวเร่งขึ้นที่ 2.8% ต่อปี (ช่วงคาดการณ์ที่ 2.3-3.3%) เป็นการขยายตัวที่มาจากทุกเครื่องยนต์ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ได้ปัจจัยสนับสนุนจากการส่งออกสินค้าและบริการที่ขยายตัวสูง ในภาคท่องเที่ยว คาดว่าปี 67 จะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าไทย 33.5 ล้านคน ขยายตัว 19.5% ต่อปี และมีรายได้จากการท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยวต่างชาติ 1.48 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 23.6% ต่อปี ส่งผลดีต่อ ธุรกิจท่องเที่ยว นอกจากนี้ การส่งออกสินค้าจะขยายตัวตามอุปสงค์ในตลาดโลกและเศรษฐกิจประเทศคู่ค้า ทำให้มูลค่าส่งออกสินค้าจะขยายตัว 4.2% ต่อปี และมูลค่าการนำเข้าสินค้าจะขยายตัวที่ 4.0%

ส่วนด้านอุปสงค์ในประเทศคาดว่าจะขยายตัวได้ต่อเนื่อง โดยการบริโภคภาคเอกชนจะขยายตัวได้ 3.3% ต่อปี ตามการเพิ่มขึ้นของรายได้ กิจกรรมทางเศรษฐกิจในประเทศ ขณะที่การลงทุนภาคเอกชนขยายตัวที่ 3.2% และด้านเสถียรภาพภายในประเทศคาดว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะอยู่ที่ 1.0% เร่งขึ้นจากปีก่อนตามอุปสงค์ภายในประเทศที่ขยายตัวดี ขณะที่เสถียรภาพภายนอกประเทศ ดุลบริการมีแนวโน้มกลับมาเกินดุล ตามการเพิ่มขึ้น ของนักท่องเที่ยวต่างชาติ ส่งผลให้ดุลบัญชีเดินสะพัดปี 67 มีแนวโน้มกลับมาเกินดุล 10.0 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือ 1.8% ของจีดีพี

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การคาดการณ์เศรษฐกิจไทยปี 66-67 ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ปี 66 ขยายตัว 2.4% และปี 67 ขยายตัว 3.2% ส่วนสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) คาดการณ์ปี 66 ขยายตัว 2.5% และปี 67 ขยายตัว 2.7-3.7% ขณะที่กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ได้ประเมินภาวะเศรษฐกิจไทยปี 66 โดยมีมุมมองที่สอดคล้องกับทางการไทยต่อแนวโน้มเศรษฐกิจที่ยังฟื้นตัว แม้จะชะลอลงบ้าง จากการดำเนินนโยบายการเงินเข้มงวดของกลุ่มประเทศเศรษฐกิจหลัก การปรับขึ้นของราคาสินค้าโภคภัณฑ์ และการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน โดย IMF คาดว่าเศรษฐกิจไทยปี 66 จะขยายตัวได้ 2.5% และปี 67 จะเร่งขึ้นเป็น 4.4% (กรณีรวมผลมาตรการ Digital Wallet) จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกและการบริโภคภายในประเทศที่เติบโตต่อเนื่อง สำหรับอัตราเงินเฟ้อทั่วไป IMF คาดว่าปี 66 จะอยู่ที่ 1.3% และ 1.7% ในปี 67 อยู่ในกรอบเป้าหมายของ ธปท. IMF ยังเห็นว่านโยบายการเงินปัจจุบันมีความเหมาะสม และควรติดตามความเสี่ยงต่อเสถียรภาพระบบการเงินอย่างใกล้ชิด สอดคล้องกับกรอบการดำเนินนโยบายการเงินของ กนง. ที่มีเป้าหมายเพื่อรักษาเสถียรภาพราคาควบคู่กับดูแลเศรษฐกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืนและเต็มศักยภาพ และระบบการเงินมีเสถียรภาพ

IMF ยังสนับสนุนแผน ธปท.ในการแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนอย่างยั่งยืน ผ่านเกณฑ์การให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบและเป็นธรรมและการดูแลหนี้เรื้อรัง โดย IMF แนะทางการไทยให้ความสำคัญกับการปฏิรูป โครงสร้างเศรษฐกิจ รองรับการเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัลและเศรษฐกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม คู่กับการ ลดทอนผลกระทบจากการแบ่งขั้วทางภูมิเศรษฐศาสตร์ รวมทั้งสนับสนุนการเพิ่มผลิตภาพ โดยเฉพาะการเพิ่ม ทักษะแรงงาน การลงทุน โครงสร้างพื้นฐาน การเพิ่มความสามารถการแข่งขันและปรับเกณฑ์ทางธุรกิจให้เหมาะสม เพื่อให้เศรษฐกิจไทยโตได้ตามศักยภาพ.

อ่าน "คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ" ทั้งหมดที่นี่


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ