ในยุคดอกเบี้ยแพง ทำให้การผ่อนบ้านซึ่งเป็นภาระทางการเงินระยะยาว กลายเป็นภาระก้อนใหญ่ขึ้นไปอีก แม้จะมีตัวช่วยแบ่งเบาภาระดอกเบี้ย อย่างการ “รีไฟแนนซ์บ้าน” ที่หลายๆ คนมักทำ เมื่อครบกำหนดสัญญาการผ่อนชำระบ้านกับธนาคาร ทุก 3-5 ปี ที่หลังจากดอกเบี้ยคงที่ หรือ ดอกเบี้ยโปรโมชั่นครบกำหนดแล้ว ธนาคารส่วนใหญ่จะปรับขึ้นดอกเบี้ยบ้าน เป็นอัตราลอยตัว ทำให้เราต้องผ่อนชำระค่าบ้านต่อเดือนแพงขึ้น
แม้ว่าจะชำระค่าบ้านทุกเดือนเท่าเดิม แต่ส่วนเงินต้นจะลดช้าลง เพราะต้องนำไปโปะส่วนต่างดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้น
การรีไฟแนนซ์บ้านไปยังธนาคารแห่งใหม่ จึงกลายเป็นทางเลือกยอดนิยม สำหรับคนที่กำลังผ่อนบ้าน เพื่อให้การผ่อนชำระค่าบ้านประหยัดมากขึ้น แม้โดยหลักการแล้ว วิธีนี้จะช่วยลดดอกเบี้ย และภาระการผ่อนต่อเดือนให้น้อยลง แต่ก็อาจจะ “ไม่คุ้มค่า” สำหรับบางคน เมื่อเปรียบเทียบกับ “ค่าใช้จ่าย” ที่จะเกิดขึ้นระหว่างการรีไฟแนนซ์
Thairath Money เปิดสูตรรีไฟแนนซ์บ้านให้คุ้มค่าดอกเบี้ย เปรียบเทียบอย่างไร มีค่าใช้จ่ายอะไรที่ต้องนำมาคำนวณบ้าง
ในการยื่นรีไฟแนนซ์บ้าน แบ่งค่าใช้จ่ายได้เป็น 2 ส่วน
วิธีการตรวจสอบว่าการรีไฟแนนซ์นั้นคุ้มค่าหรือไม่ สามารถทำได้โดยการเปรียบเทียบดอกเบี้ยที่ประหยัดได้จากการรีไฟแนนซ์ กับค่าใช้จ่ายระหว่างดำเนินการที่จะเกิดขึ้น ตามขั้นตอนดังนี้
1.ดอกเบี้ยที่ประหยัดได้เมื่อรีไฟแนนซ์
คำนวณได้จากการเปรียบเทียบอัตราดอกเบี้ยของธนาคารเดิมกับธนาคารใหม่ ดังนี้
ดอกเบี้ยที่ประหยัดได้= เงินต้น x อัตราดอกเบี้ยที่ประหยัดได้ x จำนวนปี
เงินต้น คือ จำนวนเงินต้นที่จะไปรีไฟแนนซ์กับธนาคารใหม่
อัตราดอกเบี้ยที่ประหยัดได้ = อัตราดอกเบี้ยของธนาคารเดิม-อัตราดอกเบี้ยธนาคารใหม่
จำนวนปี คือ ระยะเวลาของอัตราดอกเบี้ยต่ำที่ธนาคารใหม่เสนอ
2.ค่าใช้จ่ายในการรีไฟแนนซ์
คำนวณว่าหากเรารีไฟแนนซ์แล้ว จะมีค่าใช้จ่ายระหว่างดำเนินการเท่าไร
โดยแบ่งค่าใช้จ่ายเป็น 3 อย่าง ดังนี้
-ค่าปรับกรณีไถ่ถอนสินเชื่อก่อนกำหนด
ค่าใช้จ่ายที่ต้องจ่ายให้แก่ธนาคารเดิม หากเราไถ่ถอนสินเชื่อที่อยู่อาศัยก่อนระยะเวลาที่กำหนด ซึ่งมักจะเป็นช่วงภายใน 3-5 ปีนับจากวันทำสัญญา
-ค่าประเมินหลักประหลัก
ค่าดำเนินการของทางธนาคารที่จะเข้าไปประเมินราคาบ้านหลังเดิมที่มีอยู่ โดยทางธนาคารจะส่งผู้เชี่ยวชาญมาประเมินบ้านว่ามีมูลค่าเท่าไหร่ การประเมินราคาบ้านจะมีค่าใช้จ่ายตั้งแต่ 1,000 - 3,000 บาทโดยประมาณ
-ค่าจดจำนองหลักประกัน
ค่าธรรมเนียมที่กรมที่ดินเรียกเก็บจากผู้ที่ทำเรื่องขอกู้ซื้อบ้าน โดยคำนวณจากอัตรา 1% ของวงเงินจำนองบ้าน แต่ไม่เกิน 200,000 บาท และค่าอากรแสตมป์ 0.05% ของวงเงินกู้ แต่ไม่เกิน 10,000 บาท
เมื่อคำนวณดอกเบี้ยที่ประหยัดได้จากการรีไฟแนนซ์ และค่าใช้จ่ายที่จะเกิดขึ้นแล้ว ให้นำทั้งสองส่วนนี้มาเปรียบเทียบกัน หาก “ดอกเบี้ยที่ประหยัดได้ "มากกว่า" ค่าใช้จ่ายที่ต้องเสียเมื่อรีไฟแนนซ์” แสดงว่ามีการรีไฟแนนซ์ครั้งนี้มีความคุ้มค่า
ติดตามเพจ Facebook : Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้ - https://www.facebook.com/ThairathMoney