นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.คลัง เปิดเผยว่า ในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ไม่ได้มีการหยิบยกประเด็นคำตอบของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเกี่ยวกับโครงการเติมเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาทมาหารือแต่อย่างใด มีเพียงการเดินพูดคุยเป็นการส่วนตัวระหว่างการเข้าห้องประชุม ครม.เท่านั้น ส่วนกรณีเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา ระบุว่า คำตอบการออก พ.ร.บ.กู้เงิน 500,000 ล้านบาท เพื่อใช้ในโครงการเติมเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท ไม่มีคำว่าเห็นชอบ หรือว่าไฟเขียวนั้น นายจุลพันธ์กล่าวว่า รัฐบาลรับทราบอยู่แล้วว่าสำนักงานกฤษฎีกา ทำหน้าที่ตอบคำถามเรื่องกฎหมายเท่านั้น ไม่ได้ห้ามออก พ.ร.บ.กู้เงินฯ จึงไม่มีหน้าที่อนุมัติ
“คำตอบของกฤษฎีกาเป็นข้อเสนอแนะเรื่องการปฏิบัติตามกฎหมาย ซึ่งรัฐบาลก็รับฟัง และเป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่ต้องทำให้เป็นไปตามกฎหมาย ทำให้เป็นไปตามเงื่อนไข ส่วนเรื่องเศรษฐกิจวิกฤติหรือไม่วิกฤตินั้น รัฐบาลจะเป็นผู้ให้คำตอบ ขณะที่กระบวนการยกร่าง พ.ร.บ.กู้เงินฯในขั้นตอนต่อไป จะต้องนัดประชุมคณะกรรมการโครงการเติมเงินดิจิทัล 10,000 บาท ที่มีนายกรัฐมนตรี และ รมว.คลังเป็นประธาน เมื่อที่ประชุมบอร์ดดิจิทัลวอลเล็ตมีมติและคำสั่งอย่างไร กระทรวงการคลังจะต้องปฏิบัติตาม”
นายจุลพันธ์กล่าวต่อถึงประเด็นอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่สูงขึ้น ตามดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) นั้น ในเร็วๆนี้ จะนัดหารือกับสมาคมสถาบันการเงินของรัฐ เพื่อหารือกรณีดังกล่าวว่าจะมีแนวทางใด ช่วยเหลือลูกหนี้เพิ่มเติมได้อีก ซึ่งที่ผ่านมาสถาบันการเงินของรัฐได้ตรึงอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ไว้นานที่สุดเท่าที่จะทำได้แล้วเพื่อแบ่งเบาภาระผู้กู้ เพราะเห็นปัญหาว่าทิศทางดอกเบี้ยขาขึ้นนั้น ส่งผลกระทบทั้งผู้กู้รายย่อยและเกษตรกร ขณะที่รัฐบาลได้ออกมาตรการพักหนี้ เพื่อช่วยเหลือแล้วผ่านสถาบันการเงินของรัฐ
“แม้สถาบันการเงินของรัฐจะมีกำไร แต่กำไรที่ได้ ต้องนำส่งเป็นรายได้ของแผ่นดินตามสัดส่วน ฉะนั้น จึงไม่กังวลว่าสถาบันการเงินของรัฐจะมีกำไร อีกทั้งสถาบันการเงินของรัฐยังต้องทำตามนโยบายของรัฐบาลด้วย ทั้งพักหนี้เกษตรกร ช่วยเหลือแก้หนี้นอกระบบ เป็นต้น”
นายจุลพันธ์ ยังได้เปิดเผยด้วยว่า กระทรวงคลังได้มีการหารือกับสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เพื่อหาทางออกเกี่ยวกับปัญหาธุรกิจประกัน และสภาพคล่องของกองทุนประกันวินาศภัยแล้ว โดยจะเร่งแก้ไขปัญหาให้แล้วเสร็จในช่วงเวลาที่เหมาะสม และภายในสัปดาห์นี้ กระทรวงการคลังจะหารือกับผู้ประกอบการธุรกิจประกันภัย เพื่อรับฟังปัญหาและหาทางออกร่วมกันอีกครั้งหนึ่ง
ทั้งนี้ ปัญหาธุรกิจประกันภัยเกิดขึ้นมาตั้งแต่วิกฤติโควิด-19 ทำให้บริษัทประกันภัยต้องปิดกิจการไปราว 4-5 บริษัท และเป็นภาระกองทุนประกันวินาศภัยเกือบ 100,000 ล้านบาท หากต้องชำระคืนให้กับผู้เอาประกัน ต้องใช้เวลานานถึง 60 ปี และหากมีบริษัทประกันล้มอีกแห่ง ก็จะส่งผลให้กองทุนประกันวินาศภัย มีภาระที่ต้องชำระคืนเพิ่มขึ้นเป็น 80 ปี ดังนั้นจึงจำเป็นต้องหาแนวทางแก้ปัญหาให้ได้ข้อยุติโดยเร็ว
“จากที่ได้รับฟังเรื่องภาระดังกล่าวของกองทุนประกันวินาศภัยแล้ว เป็นเรื่องหนักใจซึ่ง คปภ.ได้เสนอแนะทางออกในการแก้ปัญหา 2-3 แนวทาง แต่ผมยังไม่ได้ตัดสินใจและยังไม่ได้สรุป เพราะจะต้องพิจารณารายละเอียดอีกครั้งอย่างรอบคอบ แต่ยืนยันว่าภายในเดือน ม.ค.67 นี้จะเห็นความชัดเจนขึ้น”
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บริษัทประกันที่ถูกเพิกถอนใบอนุญาตในช่วงโควิด มี 4 บริษัท ดังนี้ บริษัท อาคเนย์ประกันภัย จำกัด (มหาชน) บริษัท ไทยประกันภัย จำกัด (มหาชน) บริษัท เดอะวัน ประกันภัย จำกัด (มหาชน) บริษัท เอเชียประกันภัย 1950 จำกัด (มหาชน) ส่วนบริษัท สินมั่นคง ประกันภัย จำกัด (มหาชน) อยู่ระหว่างการรับประกันชั่วคราว และต้องหาเงินมาเพิ่มหรือหาพันธมิตร เพื่อแก้ไขการเงิน ให้เพียงพอต่อภาระผูกพันผู้เอาประกัน
วันเดียวกัน นายวิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน กล่าวว่า ธนาคารออมสินได้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลูกค้ารายย่อย (MRR) จาก 6.995% ลดลงเหลือ 6.845% มีผลตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป เพื่อช่วยเหลือบรรเทาภาระทางการเงินของประชาชนในช่วงระยะนี้ไปจนกว่าจะมีการเปลี่ยนแปลง นับเป็นอัตราดอกเบี้ย MRR ที่ต่ำสุดในระบบธนาคาร ถือเป็นการสนับสนุนนโยบายของรัฐ และสอดคล้องตามภารกิจธนาคารเพื่อสังคม.
อ่าน "คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ" ทั้งหมดที่นี่