BKI ไปต่อโกยกำไรทุบสถิติ ชี้ประกันรถอีวีแข่งดุดาหน้าหั่นเบี้ยชิงเค้ก

Personal Finance

Banking & Bond

กองบรรณาธิการ

Author

กองบรรณาธิการ

Tag

BKI ไปต่อโกยกำไรทุบสถิติ ชี้ประกันรถอีวีแข่งดุดาหน้าหั่นเบี้ยชิงเค้ก

Date Time: 4 ม.ค. 2567 07:06 น.

Summary

  • กรุงเทพประกันภัยโชว์ปี 66 ทำกำไรนิวไฮในรอบ 76 ปี นับจากเปิดดำเนินการ ปีนี้ตั้งเป้าเบี้ยรับโต อีก 8 % มีกำไรมากกว่า 3 พันล้าน แต่ห่วงเศรษฐกิจเปราะบาง ตลาดลงทุนผันผวน พร้อมชี้ตลาดประกันภัยรถยนต์อีวี แข่งเดือดแห่หั่นเบี้ยประกันจนต่ำเกินมาตรฐาน สวนทางค่าเคลมพุ่งพรวด

Latest

ชัชวาลย์ เจียรวนนท์ ส่ง Lightnet จับมือ WeLab ฟินเทคฮ่องกง ลงสนามชิงใบอนุญาตฯ Virtual Bank

นายอภิสิทธิ์ อนันตนาถรัตน ประธานคณะผู้บริหารและกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท กรุงเทพประกันภัย จำกัด (มหาชน) หรือ BKI เปิดเผยว่า ในปีนี้เศรษฐกิจทั้งในประเทศ และต่างประเทศยังมีความไม่แน่นอน และมีความเปราะบาง ไม่ว่าจะเป็นทิศทางดอกเบี้ย เงินเฟ้อ และการลงทุนของภาครัฐ โดยคาดว่าเศรษฐกิจของไทยทั้งปีจะขยายตัวได้ 3.7-3.8% จากปีที่ผ่านมาขยายตัว 2.4-2.5%

สำหรับตลาดประกันภัยในปีนี้ ยังมีหลายปัจจัยเข้ามาส่งผลกระทบ ได้แก่ โครงการลงทุนของภาครัฐที่เลื่อนออกไป ส่งผลให้โครงการก่อสร้างของภาครัฐชะลอออกไปด้วย ขณะที่ภาคธุรกิจขนาดกลางและย่อม หรือเอสเอ็มอี ที่ยังไม่ฟื้นตัว อีกทั้งเป็นหนี้เสียของสถาบันการเงินในสัดส่วน 20% ของหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) สินค้าเอสเอ็มอีขายได้ยาก เนื่องจากมีสินค้าราคาถูกเข้ามาตีตลาดเยอะมาก และหนี้ครัวเรือนอยู่ในระดับสูง ส่งผลให้สถาบันการเงินปล่อยสินเชื่อได้ยากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นสินเชื่อบุคคล สินเชื่อบ้าน และสินเชื่อรถยนต์

สำหรับแผนธุรกิจของบริษัทกรุงเทพประกันภัยในปีนี้ ได้ตั้งเป้าหมายมีเบี้ยรับรวมเติบโต 8% หรือประมาณ 2,400 ล้านบาท หรือมีเบี้ยรับรวมขึ้นมาอยู่ที่ 32,500 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมา ที่คาดว่าจะมีเบี้ยรับรวม 30,000 ล้านบาท และมีกำไรมากกว่า 3,000 ล้านบาท ขณะที่ 9 เดือนแรกของปีที่ผ่านมาบริษัทมีเบี้ยรับรวม 21,982 ล้านบาท เติบโต 12.5% จากช่วงเดียวกันของปี 2565 และมีกำไร 2,546 ล้านบาท นับว่ามีกำไรสูงสุดทำสถิติตั้งแต่บริษัทเปิดดำเนินการมา 76 ปี

“ปีนี้ เรามองว่าเศรษฐกิจยังมีความไม่แน่นอน และค่อนข้างเปราะบาง ถ้าธุรกิจของเราโตได้ 8 % ก็ถือเป็นเรื่องที่ดี ในสภาวะที่เศรษฐกิจไทยโตได้ 3.7-3.8%”

ในส่วนของการบริหารพอร์ตการลงทุน ในสภาวะที่ดัชนีตลาดหุ้นปรับตัวลดลง เงินทุนไหลออกต่อเนื่อง บริษัทได้ขายหุ้นที่เข้าไปลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ บางส่วนออกไปเพื่อทำกำไร อีกทั้งปรับพอร์ตย้ายเงินไปลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลทั้งในประเทศ และต่างประเทศ เพื่อสอดรับกับทิศทางดอกเบี้ยที่อยู่ในช่วงขาขึ้น โดยตลอดปี 2566 คาดว่าจะมีผลตอบแทนจากการลงทุน (IRR) อยู่ที่ 2.5-3% ส่วนปีนี้คาดว่าผลตอบแทนจากการลงทุนจะใกล้เคียงจากปีที่ผ่านมา เนื่องจากสภาวะตลาดหุ้นยังมีความผันผวน และมีความไม่แน่นอนจากเศรษฐกิจโลก

“กลยุทธ์การบริหารพอร์ตลงทุนที่สำคัญคือ การขายหุ้นที่มีกำไรออกไป และรอจังหวะที่ดีเพื่อกลับเข้าไปซื้อหุ้นอีกรอบ ซึ่งก่อนหน้านี้ได้โยกเงินฝากประมาณ 3,000 ล้านบาท ไปลงพันธบัตรรัฐบาล เพื่อรับดอกเบี้ยที่ดีกว่าดอกเบี้ยเงินฝาก ทำให้เงินฝากคงเหลือไว้ที่ 6,000 ล้านบาท”

ตลาดประกันภัยรถอีวีแข่งเดือด

นายอภิสิทธิ์ยังได้กล่าวต่อถึงภาพประกันภัยรถยนต์ไฟฟ้า (EV) ในปี 2566 มีการปรับตัวเพิ่มขึ้นถึง 10 เท่าเมื่อเทียบจากปี 2565 เนื่องจากความนิยมของคนไทย และการส่งเสริมจากภาครัฐ ทำให้ยอดปี 2566 มีรถอีวีจดทะเบียน 100,000 คัน จากปี 2565 มียอดจดทะเบียนเพียง 10,000 คัน และเชื่อว่าปีนี้ยอดขายรถยนต์อีวีจะมีการเติบโตต่อเนื่อง จากการเข้ามาเปิดโรงงานผลิตรถยนต์อีวีในประเทศไทย ทำให้แนวโน้มรถยนต์อีวีจะออกสู่ตลาดมากขึ้น

ทั้งนี้ ในส่วนของภาคประกันภัยของไทย มีการแข่งขันด้านราคาเบี้ยประกันภัยรถยนต์อีวีอย่างรุนแรง ส่งผลให้เบี้ยประกันรถยนต์อีวีบางประเภทและบางยี่ห้อปรับตัวต่ำกว่าความเป็นจริง ซึ่งอนาคตอาจส่งผลให้อัตราความเสียหายหรือเคลมสินไหม (Loss Ratio) มีการปรับตัวเพิ่มขึ้น ทำให้เกิดการขาดทุนจากการรับประกันรถประเภทนี้ได้ และบริษัทได้ตัดสินใจกระโดดเข้าไปแข่งขันราคาในตลาดรถอีวี อีกทั้งเมื่อบริษัทรถยนต์อีวีทำแคมเปญแจกฟรีประกันภัยชั้น 1 ในระยะเวลา 2 ปี ซึ่งบริษัทไม่ได้เข้าร่วมรับประกันภัยในแคมเปญดังกล่าว

“มีผู้ประกอบการธุรกิจประกันภัยหลายบริษัทมองเห็นโอกาสเข้ามาทำตลาด เพื่อแย่งชิงส่วนแบ่งการตลาด มีการเสนอเบี้ยประกันรถ BYD ปีละ 20,000 กว่าบาท ใกล้เคียงหรือต่ำกว่ารถยนต์สันดาป แต่ความเสี่ยงของรถยนต์อีวีอยู่ที่แบตเตอรีที่มีมูลค่า 50-60% ของราคารถ หรือคิดเป็น Loss Ratio ถึง 60-70% ขณะที่ราคาขายซากรถเท่ากับศูนย์ต่างกับรถยนต์สันดาปที่สามารถแยกชิ้นส่วนออกมาขายได้ นอกจากนี้ รถยนต์อีวีไม่มีการซ่อมอู่ทั่วไป ต้องซ่อมศูนย์บริการทั้งหมด ซึ่งมีค่าอะไหล่ และค่าแรงที่สูง”

เคลมสินไหมพุ่งส่อแววขาดทุน

นอกจากนี้ ข้อมูลการรับประกันภัยรถยนต์อีวีเทียบกับรถสันดาปในตลาดโลกพบว่า ญี่ปุ่นคิดเบี้ยประกันภัยรถยนต์อีวีอัตราสูงกว่าเบี้ยประกันรถสันดาป 10-20% และในสหรัฐฯคิดค่าเบี้ยสูงกว่า 25% แต่ในประเทศไทยเบี้ยรถอีวีจะต่ำกว่าเบี้ยรถสันดาปแล้ว

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันอัตราความเสียหายหรือเคลมสินไหม (Loss Ratio) ของรถอีวี ทุกบริษัทมองว่าอยู่ได้ เพราะปีแรกๆแค่ระดับ 10-15%  เนื่องจากผู้ใช้รถอีวีใช้เดินทางเฉพาะในเมือง เนื่องจากในต่างจังหวัดมีสถานีอัดประจุไฟฟ้าน้อยมาก พอระยะเวลาผ่านไป 2 ปี สถานีอัดประจุไฟฟ้าขยายตัวเริ่มเปิดให้บริการในต่างจังหวัด อัตราการเคลมสินไหม (Loss Ratio) กระโดดขึ้นมาเป็น 40% และในปี 2566 ได้ปรับขึ้นไปเกือบ 60% แล้ว และอัตราการเคลมขยับไปถึงระดับ 75-80% ผู้รับประกันภัยจะประสบปัญหาขาดทุน เนื่องจากการรับประกันภัยต้องจ่ายค่าคอมมิชชันอีก 18%.

อ่าน "คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ" ทั้งหมดที่นี่


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ