หลังจากที่ กรมสรรพากร ได้มีการกำหนดให้อิเล็กทรอนิกส์แพลตฟอร์มจัดทำบัญชีพิเศษ เพื่อนำส่งข้อมูลรายรับของผู้ประกอบการให้กับกรมสรรพากร โดยจะมีผลบังคับใช้กับข้อมูลสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2567 เป็นต้นไป
โดยกำหนดเงื่อนไขดังนี้ ให้อิเล็กทรอนิกส์แพลตฟอร์มที่จดทะเบียนในไทย และมีหรือเคยมีรายได้ในรอบบัญชีเกิน 1,000 ล้านบาท ต้องทำบัญชีพิเศษ หรือ บัญชีที่แสดงข้อมูลรายรับของอิเล็กทรอนิกส์แพลตฟอร์มที่ได้รับจากผู้ประกอบการ พ่อค้าแม่ค้าออนไลน์ที่ขายสินค้า หรือบริการบนแพลตฟอร์ม โดยต้องนำส่งไปให้กรมสรรพากร ภายใน 150 วัน นับแต่วันสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชี
นอกจากนี้จะต้องมีการเชื่อม และนำส่งข้อมูล ผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ของสรรพากรด้วย สำหรับแพลตฟอร์มที่ให้บริการในไทยมี่จำนวนมาก อาทิ ธุรกิจ e-Commerce, บริการส่งอาหาร และสินค้า อาทิ Shopee, Lazada, LINEMAN, Grab, TikTok เป็นต้น
ดังนั้นหากคุณเป็น “พ่อค้า-แม่ค้า” ที่มีการขายของในแพลตฟอร์มออนไลน์อย่าง Shopee, Lazada LINEMAN, Grab และอื่นๆ นอกจากจะมีรายได้แบบปังๆ แล้วนั้น สิ่งสำคัญอีกหนึ่งอย่างที่เราจะต้องรู้นั่นคือ “การยื่นภาษี” อย่างถูกต้อง ถูกวิธี เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาตามมาทีหลังได้ #ThairathMoney จึงทำการสรุปเรื่อง “ภาษี” กับการ “ขายของออนไลน์” เอาไว้ที่นี่
“รายได้” ที่เกิดจากการขายของออนไลน์ผ่าน Social Media Platform และ Market Place Platform ถือเป็นเงินได้ประเภทที่ 8 [เงินได้ 40(8)] ซึ่งเป็นเงินได้ของบุคคลธรรมดาที่เปิดร้านขายของออนไลน์โดยส่วนใหญ่ เพราะเป็นเงินได้จากการค้าขายที่ต้องนำไปคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหรือภาษีเงินได้นิติบุคคล และภาษีมูลค่าเพิ่ม
คนขายของออนไลน์ไม่ว่าจะเป็นใคร หรืออายุเท่าไร หากขายผ่านแพลตฟอร์มเดลิเวอรีต่างๆ ไม่ว่าจะมีรายได้ กำไร ขาดทุนเท่าไร จ่ายค่าเปอร์เซ็นต์ (ค่าบริการ) หรือถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายไปแล้ว ก็ต้องยื่นภาษีทุกปีถ้ามีรายได้เกิน 60,000 บาท หรือแม้กระทั่งคนที่มีคู่ (สมรส) หรือ ผู้ที่มีรายได้รวมทุกช่องทางเกิน 120,000 บาท มีหน้าที่ต้องยื่นภาษี 2 รอบ
หากมีรายได้จากการขายทั้งปีเกิน 1,800,000 บาท ก็จำเป็นต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม และจดภาษีมูลค่าเพิ่มด้วย (ภ.พ.01) ภายใน 30 วัน นับตั้งแต่วันที่มีรายรับเกิน 1,800,000 บาท ณ สรรพากรเขตพื้นที่ที่สถานประกอบการตั้งอยู่ หรือยื่นผ่านอินเทอร์เน็ต และทุกเดือนต้องคำนวณมูลค่าสินค้าเพื่อนำส่งให้สรรพากรทุกเดือน ยื่นแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่ม (ภ.พ. 30) ภายใน วันที่ 15 ของเดือนถัดไป
ทั้งนี้ภาษีมูลค่าเพิ่มส่งผลโดยตรงต่อการตั้งราคาสินค้าของคนขายของออนไลน์ จึงควรวางแผนไว้ก่อนด้วยการเพิ่มราคาสินค้าเข้าไปอีก 7% ตั้งแต่แรก เพราะลูกค้าอาจจะไม่พอใจได้ถ้าขึ้นราคาสินค้าหลังจากที่ร้านไปจดภาษีมูลค่าเพิ่ม ดังนั้นจะต้องมีการคิดให้รอบคอบก่อนตัดสินใจทำอะไรก็ตาม
และด้วยความที่ปัจจุบันใครๆ ก็หันมาใช้อีเพย์เมนต์ (e-payment) ดังนั้นกรณีผู้ให้บริการแพลตฟอร์มเดลิเวอรีโอนเงินจากผู้ซื้ออาหารให้กับผู้ขาย ทางธนาคารจะมีการส่งข้อมูลให้กับสรรพากรหากเข้าข่าย “ธุรกรรมลักษณะเฉพาะ” หรือ ธุรกรรมการฝากเงิน การรับโอนเงิน (เฉพาะเงินโอนเข้าบัญชี) รวมกันทุกบัญชีใน 1 ปี ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม - 31 ธันวาคม ภายในปีนั้นๆ โดยธุรกรรมลักษณะเฉพาะนี้ไม่ได้กำหนดเฉพาะคนขายของออนไลน์เท่านั้น แต่ใช้กับทุกคน
ถ้าเข้าข่ายข้อใดข้อหนึ่งธนาคารจะส่งข้อมูลให้สรรพากร โดยผู้ที่ถึงเกณฑ์ต้องเสียภาษีตามที่กฎหมายกำหนด ดังนั้นทางที่ดี “พ่อค้า-แม่ค้า” จึงควรเตรียมความพร้อมด้วยการจัดทำบัญชีรายรับ-รายจ่ายอย่างถูกต้อง เก็บเอกสารหลักฐานที่เกี่ยวข้องกับการประกอบธุรกิจ และยื่นแสดงรายการภาษีให้ครบถ้วน เพื่อในวันข้างหน้าการทำธุรกิจจะได้ราบรื่น และไม่ต้องโดนเรียกเก็บภาษีย้อนหลังนั่นเอง.
อ้างอิง กรมสรรพากร, FWD