5 ตัวแปร “การจ่ายภาษี” ตั้งแต่ แต่งงาน ยัน เกษียณอายุ ภาระต่าง-สิทธิลดหย่อนภาษี ก็ต่าง!

Personal Finance

Banking & Bond

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

Tag

5 ตัวแปร “การจ่ายภาษี” ตั้งแต่ แต่งงาน ยัน เกษียณอายุ ภาระต่าง-สิทธิลดหย่อนภาษี ก็ต่าง!

Date Time: 28 ธ.ค. 2566 11:33 น.

Video

คนไทยจ่ายภาษีน้อย มนุษย์เงินเดือนรับจบ ปัญหาอยู่ที่ระบบหรือคนกันแน่ ? | Money Issue

Summary

  • ชวนรู้รายละเอียดเรื่องภาษี กับ 5 ตัวแปรสถานะ ที่ส่งผลโดยตรง ต่อ ภาระการจ่ายภาษีรายปี และสิทธิลดหย่อนภาษี ตั้งแต่ การแต่งงาน มีลูก ซื้อบ้าน และหย่าร้าง ย้ำ แม้จะเกษียณไปแล้ว รายได้แบบเงินเดือนไม่มีแล้วก็ตาม ก็ไม่ได้หมายความว่าจะไม่ต้องยื่นภาษี

Latest


การยื่นภาษี เงินได้บุคคลธรรมดา จะยื่นปีละ 1 ครั้ง ในช่วงต้นปีถัดไป เช่น รายได้ปี 2566 ต้องยื่นภาษีภายในวันที่ 1 ม.ค.-31 มี.ค. 2567

อย่างไรก็ตาม การยื่นภาษี สำหรับมือใหม่ อาจสับสนอยู่บ้าง จากรายละเอียดที่ต้องกรอกเป็นจำนวนมาก ในรูปแบบของการยื่นภาษีออนไลน์ อีกทั้งส่วนที่เกี่ยวข้องกับ การลดหย่อนภาษี 4 กลุ่ม ได้แก่ 

  • กลุ่มภาระส่วนตัวและครอบครัว เช่น ค่าเลี้ยงดูบิดามารดา บุตร
  • กลุ่มการออมและลงทุน
  • กลุ่มบริจาค 
  • กลุ่มกระตุ้นเศรษฐกิจ เช่น เอกสารกู้ยืมเพื่อซื้อที่อยู่อาศัย

ขณะสิ่งที่ควรรู้ก่อนยื่นภาษีในแต่ละครั้ง อย่าลืมว่า สถานะที่เปลี่ยนไป จะทำให้ ภาระการจ่ายภาษีของเราเปลี่ยนไปด้วย 

ข้อมูลจาก EDGE Invest แพลตฟอร์มการลงทุน ของ กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร เผยแพร่ให้ความรู้เกี่ยวกับภาษีไว้ว่า การเปลี่ยนแปลงสถานะในชีวิต ย่อมส่งผลต่อภาระทางภาษีไม่ว่าจะเชิงบวก หรือเชิงลบ ซึ่งหลายๆ คนมักจะนึกถึงเรื่องนี้เป็นเรื่องสุดท้าย 

เนื่องจาก การแต่งงาน, ซื้อบ้าน, มีลูก, หย่า หรือแม้แต่กระทั่งเกษียณอายุ ย่อมมีภาระทางภาษีที่แตกต่างกัน และสามารถเลือกใช้สิทธิลดหย่อนได้แตกต่างด้วยเช่นกัน 

ส่อง 5 เงื่อนไขสถานะ มีผลต่อการจ่ายภาษี 

การซื้อบ้าน

ค่าใช้จ่ายดอกเบี้ยเงินกู้ยืมเพื่อซื้อหรือสร้างบ้าน สามารถนำมาหักเป็นค่าลดหย่อนได้ไม่เกิน 100,000 บาท แต่มีบางประเด็นที่น่าสนใจเกี่ยวกับส่วนนี้ เช่น

การกู้ร่วม - ให้ใช้สิทธิหักลดหย่อนตามจำนวนผู้กู้ร่วม

ยกตัวอย่าง กรณีกู้ร่วมกัน 2 คน ให้คิดหักลดหย่อนและยกเว้นภาษีเงินได้ได้คนละครึ่ง กรณีกู้ร่วมกัน 3 คน ให้คิดหาร 3 คนละเท่าๆ กัน แต่ไม่ว่าจะกี่คน เมื่อรวมกันจะต้องไม่เกิน 100,000 บาท

การกู้ร่วมกันของสามีภรรยา

โดยความเป็นจริงนั้น หากสามีมีเงินได้มากกว่าภรรยา และโดยสัดส่วนค่าผ่อนบ้านทั้งส่วนของเงินต้นและดอกเบี้ยสามีเป็นผู้จ่ายมากกว่า ในกรณีนี้ หากเป็นการแยกยื่น ทั้งสองฝ่ายต่างฝ่ายต่างมีสิทธิหักลดหย่อนดอกเบี้ยเงินกู้ยืมได้ฝ่ายละครึ่งหนึ่ง ของจำนวนที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 100,000 บาท กล่าวคือ ภรรยาก็ยังคงสามารถใช้สิทธิได้ครึ่งหนึ่งอยู่ดี

ยังมีบางประเด็นที่น่าสนใจ เช่น

  • ดอกเบี้ยเงินกู้ยืมมาเพื่อปรับปรุงบ้าน หักลดหย่อนไม่ได้
  • ดอกเบี้ยเงินกู้ยืมเพื่อซื้อที่ดินที่อยู่ติดกับบ้านหลังเดิม หักลดหย่อนไม่ได้
  • ดอกเบี้ยเงินกู้ยืมเพื่อสร้างบ้านบนที่ดินของผู้อื่น สามารถนำมาหักลดหย่อนได้


สถานะ หย่าร้าง ภาระภาษีเปลี่ยน

ในกรณีที่เกิดเหตุหย่าร้าง จะต้องมีการอัปเดตสถานะทางภาษี กลับมาแยกตามรายได้ของแต่ละคน

ผู้ที่เคยยื่นภาษีแบบร่วมกันก่อนหน้านี้ อาจจะต้องทำการแยกยื่น สิทธิประโยชน์ในการลดหย่อนทางภาษีจะเหลือเพียงแค่ของตนเองเท่านั้น (ภายหลังปีที่หย่า)

จะมีกรณีที่มักเป็นประเด็นข้อสงสัยกัน เช่น “การหย่าระหว่างปีภาษี” ทำให้สถานการณ์สมรสไม่ครบปี ค่าลดหย่อนต่างๆ ในปีภาษีนั้นๆ จะเป็นอย่างไร บางประเด็นที่น่าสนใจดังนี้

  • ค่าลดหย่อนบางอย่าง การหย่า หรือการมีสถานภาพการสมรสครบปีภาษีหรือไม่นั้น ไม่สำคัญ สามารถลดหย่อนได้ เช่น การลดหย่อนคู่สมรส, การลดหย่อนบุตร ทั้งฝ่ายพ่อและแม่ ก็ยังสามารถลดหย่อนได้เต็มจำนวนทั้งสองฝ่าย
  • ในขณะที่ ค่าลดหย่อนบางอย่าง สถานภาพการสมรสครบปีนั้น สำคัญ เช่น การหักลดหย่อนเบี้ยประกันชีวิต ยกตัวอย่าง สามีเป็นผู้มีรายได้ มีการซื้อประกันชีวิตให้ภรรยาผู้ไม่มีรายได้ หลังจากหย่ากันแล้ว ในปีภาษีนั้น สามีสามารถจะนำค่าเบี้ยประกันชีวิตของ (อดีต) ภรรยา ที่ไม่มีเงินได้มาหักลดหย่อน ไม่ได้ เนื่องจากความเป็นสามีภรรยาไม่ได้มีตลอดปีภาษี นอกจากให้ไปใช้วิธีแยกยื่น และขอหักลดหย่อนเบี้ยประกันชีวิตกันเอง
  • หลังจากปีที่หย่ากัน เรื่องค่าใช้จ่ายบุตรที่ใช้ลดหย่อน ต้องไปดูว่าใครเป็นฝ่ายที่ดูแลบุตร ซึ่งจะระบุไว้ที่เอกสารใบทะเบียนหย่า

คนแต่งงาน ยื่นภาษี 2 รูปแบบ

คู่รักที่แต่งงานและจดทะเบียนสมรส อาจจะเผชิญการเรียกเก็บภาษีที่สูงขึ้น แต่คุณมีวิธียื่นภาษีได้ 2 แบบ คือ แยกยื่น กับ ยื่นร่วม เพื่อให้ได้ประโยชน์ทางภาษี ดังนี้

  1. หากทั้งสองฝ่ายมีรายได้พอๆ กัน ฐานภาษีเท่าๆ กัน สามารถแยกยื่นภาษี โดยไม่ต้องนำมารวมกัน
  2. หากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีรายได้มากกว่า ให้นำเงินได้ของฝ่ายที่มีรายได้น้อยกว่ามารวมกัน และฝ่ายที่มีรายได้มากกว่าเป็นผู้ยื่นภาษี ทำให้สามารถรวมสิทธิทางภาษีของคนที่มีรายได้น้อยกว่าไปให้ผู้ที่รายได้มากกว่าได้ประโยชน์มากที่สุด


เกษียณอายุ ยังต้องจ่ายภาษีไหม? 

ถึงแม้ว่าหากคุณจะเกษียณไปแล้ว หากมีรายได้ก็ยังคงต้องยื่นภาษี ภงด. 90 อยู่ 

มาดูกันว่า รายได้แต่ละประเภทที่คนเกษียณ น่าจะยังคงมีต่อไป แล้วจะโดนหักภาษีกันอย่างไรกันบ้างตามด้านล่าง

40(1) โดยทั่วไปข้อนี้จะหายไป สำหรับคนเกษียณส่วนใหญ่ แต่อาจจะมีบางกรณีที่ยังมีอยู่ เช่น เงินเดือนบำนาญข้าราชการ ข้าราชการครู ฯลฯ

บางท่านอาจจะยังเป็น กรรมการบริหาร เป็นที่ปรึกษาอิสระอยู่ ยังคงมีรายได้

40(2) ค่าเบี้ยประชุม เงินค่านายหน้า ค่าคอมมิชชัน หรือ 40(3) ค่าลิขสิทธิ์ - หักแบบเหมา 50% แต่ไม่เกิน 100,000 บาท

รายได้จากเงินลงทุน

40(4) ดอกเบี้ยเงินฝาก หุ้นกู้ - หักภาษี ณ ที่จ่าย 15%

40(4) เงินปันผล - หักภาษี ณ ที่จ่าย 10%

ประเภทนี้น่าจะเป็นรายได้หลักของคนเกษียณโดยทั่วไป โดยในส่วนนี้แนะนำให้ อย่าลืมทำเรื่องการเครดิตภาษี เงินปันผล เพื่อจะได้ลดการโดนภาษีซ้อน และการได้ภาษีที่หักไว้เกินคืน

รายได้จากค่าเช่า

40(5) ค่าเช่า – หักแบบเหมา 10-30% (แล้วแต่ประเภทสินทรัพย์)

รายได้อื่นๆ

40(8) เงินค่าขายกองทุนรวมลดหย่อนภาษีต่างๆ เช่น LTF RMF SSF ที่ครบกำหนดแล้ว และเมื่ออายุ 60 ปี จะเริ่มได้รับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ ต้องถือเป็นรายได้ต้องนำมารวมคำนวณเป็นรายได้เช่นกัน – หักแบบเหมา 60%

แต่ยังมีข้อยกเว้นข้อกำหนดที่ทำให้ภาระทางภาษีของคุณลดลงได้ ตามช่วงอายุที่เพิ่มขึ้น เช่น

  • อายุ 55 ปี - ได้สิทธิยกเว้นภาษี ดอกเบี้ยเงินฝากประจำ 30,000 บาท
  • อายุ 65 ปี - จะมีสิทธิยกเว้นเงินได้ 190,000 แรกไปหักออกจากเงินประเภทใดก็ได้ที่ได้รับระหว่างปีภาษีนั้น

เงินคืนประกันบำนาญ หากได้ซื้อประกันชีวิตแบบบำนาญไว้ก่อนเกษียณ เงินจำนวนนี้ก็จะได้รับการยกเว้นภาษีเช่นกัน

“โดยสรุป จะเห็นได้ว่า แม้จะเกษียณไปแล้ว รายได้แบบเงินเดือนไม่มีแล้วก็ตาม ก็ไม่ได้หมายความว่าจะไม่ต้องยื่นภาษี การจัดการการบริหารภาษีนั้น ก็ยังคงเป็นสิ่งที่ควรต้องทำและวางแผนอย่างรอบคอบ” 

เรื่องภาษีของคนมีลูก

บุตรที่ผ่านการรับรอง จะสามารถนำมายื่นลดหย่อนภาษีได้คนละ 30,000 บาท และบุตรคนที่ 2 เป็นต้นไปที่เกิดตั้งแต่ปี พ.ศ. 2561 (หรือหลังจากนั้น) ได้คนละ 60,000 บาท (อ้างอิงประกาศจากกรมสรรพากร)

เงื่อนไขหลักที่ต้องพิจารณา ได้แก่

  1. ต้องเป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมาย คือ ต้องจดทะเบียนสมรส หรือไม่เช่นนั้นต้องจดทะเบียนรับรองบุตรเท่านั้น
  2. บุตรต้องมีอายุไม่เกิน 20 ปี แต่ลดหย่อนได้ถึงอายุ 25 ปี หาก บุตรกำลังเรียนระดับ ปวส. หรือระดับปริญญาตรีขึ้นไป และหากบุตรเป็นผู้ทุพพลภาพ สามารถลดหย่อนได้ไม่จำกัดอายุ


ที่มาข้อมูล : EDGE Invest


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ